
ครม.ไฟเขียวแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งแจกเงินหมื่นเฟส 3-ตั้งกองทุนรวม “Thai ESGX” นายกฯย้ำเน้นการท่องเที่ยวเจาะกลุ่มระดับสูง และภาคเกษตร หวังดันภาพรวมเศรษฐกิจโตตามเป้าที่ 3% ขึ้นไป ด้านพิชัย รมว.คลัง เร่งแผนใช้จ่ายภาครัฐ และให้บีโอไอเร่งการลงทุนเอกชนเร็วขึ้นภายใน 2 ปี รวมทั้งการส่งออก เผยทรัมป์ต้นเหตุทำตลาดหุ้นปั่นป่วนทั่วโลก เอกชนหลายภาคส่วนหนุนแผนกระตุ้น แต่หวังให้เพิ่มการลงทุนของต่างประเทศด้วย “หอการค้าไทย” เชื่อแจกเงินหมื่นกระตุ้นได้ส่วนหนึ่ง รัฐต้องดูแลเงินทุนเอสเอ็มอีมากขึ้น
จากกรณีคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมแผนงานดันภาพรวมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตระดับ 3 มีทั้งมาตรการด้านการเงิน การคลัง และอื่น ๆ รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาตลาดหุ้น โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ระยะที่สาม เพื่อเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมาตรการอื่น ๆ ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.
นายกฯเน้นรุกท่องเที่ยว-เกษตร
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า กระทรวงการคลังประมาณการว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตได้ 3% แต่รัฐบาลเชื่อว่า ด้วยศักยภาพเศรษฐกิจไทย การร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ตัวเลขเศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้มากกว่า 3% ซึ่งการประชุมมีการร่วมกันคิด เสนอโครงการ ทั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และร่วมกันวางโครงสร้างในระยะยาวไปพร้อม ๆ กัน
“เน้นย้ำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเครื่องยนต์สำคัญอย่างการท่องเที่ยว ต้องดำเนินต่อไปตามแผนงาน และแผนงานใหม่มุ่งไปยังกลุ่ม Luxury เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อหัวมากขึ้น อีกเรื่องที่สำคัญคือ กลุ่มการเกษตร ที่ต้องพัฒนากระบวนการเกษตร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การส่งออกสินค้าเกษตร และดูแลราคาสินค้าเกษตรให้เป็นธรรมหรือสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกร และทำให้รายได้ประเทศสูงขึ้นด้วย”
เพิ่มลงทุนภาครัฐ-หนุนเอกชน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมดังกล่าวมีเรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.การขับเคลื่อนหรือกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจให้เกิน 3% โดยใช้แนวทาง คือ 1.เร่งรัดการลงทุนภาครัฐจากปกติ 70% ให้เพิ่มเป็น 80% และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เร่งการลงทุนของภาคเอกชนให้เร็วขึ้นจาก 3 ปี เป็น 2 ปี
2.กระตุ้นการส่งออกปีนี้ให้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยให้ขยายตัวได้ 4% 3.กระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มอีเวนต์ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และ 4.การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เฟส 3 รอบนี้จะเป็นครั้งแรกที่ใช้ระบบดิจิทัลวอลเลต โดยจะจ่ายในปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ของปี 2568 ให้กับกลุ่มที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ที่มีอายุตั้งแต่ 16-20 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มวัยเรียน เพราะจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้
ครม.ไฟเขียวกองทุน Thai ESGX
นายพิชัยกล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนตัวใหม่ คือ “Thai ESG Extra” แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ 1.Thai ESG Extra วงเงินเดิม สำหรับนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เดิม โดยปัจจุบันมีวงเงินคงค้างอยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ที่ยังไม่ได้ขายออกไป
หากมีความประสงค์จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต่อ สามารถโยกหน่วยลงทุนมาอยู่ใน Thai ESG Extra ได้ โดยได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 500,000 บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปี 2568 ได้ 300,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 200,000 บาท จะให้ใช้สิทธิในปีต่อ ๆ ไป ปีละ 50,000 บาท
ลงทุนใหม่ได้ลดหย่อน 3 แสน
2.Thai ESG Extra วงเงินใหม่ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ต้องการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งเงินลงทุนใหม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาทในปี 2568 โดยจะต้องซื้อหน่วยลงทุนภายในระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ปีนี้
“สิ่งที่ทำขึ้นมานี้เพื่อจะให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ โดยนักลงทุนที่ถือ LTF อยู่มองว่ายอดการขายน้อยลง สามารถเลือกได้ว่าจะย้ายกองทุนมาที่ Thai ESG Extra หรือไม่ โดยหากย้ายกองมาก็จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งมองว่าหากเปลี่ยนมาที่ Thai ESG Extra ก็จะช่วยได้เยอะ”
พิชัยชี้ “ทรัมป์” ป่วนหุ้นทั่วโลก
นายพิชัยกล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถานการณ์ในตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนมาก จากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ปรับขึ้นภาษีกับคู่ค้า เม็กซิโก แคนาดา และจีน ล่าสุดในสหรัฐ ตลาดหุ้นก็ลดลงมาก ทั้งดัชนีแนสแดค และดาวโจนส์ ส่วนดัชนีหุ้นปรับตัวลดลง
ขณะที่หุ้นไทยเคยลงมาอยู่ในระดับต่ำประมาณ 1,200 จุด ตอนนั้นทำกองทุนวายุภักษ์สามารถดึงดัชนีขึ้นไปได้ที่ประมาณ 1,400 จุด ก่อนจะปรับลดลงมาที่ระดับ 1,200 จุด
“ในระยะต่อไปเพื่อจะเรียกความเชื่อมั่น ด้วยการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา เพื่อดูแลเรื่องเร่งด่วน และดูแลนักลงทุนรายย่อย คาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพื่อเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป เพื่อให้ พ.ร.ก.เอาผิดทางกฎหมายกับผู้ลงทุนในทางมิชอบได้รับการลงโทษ หากทำผิดและทำให้เกิดความเสียหายกับนักลงทุน”
เอกชนหนุนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้านภาคเอกชน โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวทางดูแลเศรษฐกิจที่ออกมาถือว่าเป็นเรื่องดีที่ควรทำ ทั้งการเร่งประสิทธิภาพการเบิกจ่าย เร่งหาตลาดและกระตุ้นการส่งออก แต่ต้องมาพร้อมการเร่งลงทุนด้วย
โดยต้องผลักดันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้เพิ่มขึ้น ต้องเปิดการเจรจาข้อตกลงทางการค้า (FTA) ส่วนด้านการท่องเที่ยวก็ต้องเร่งแก้ปัญหาความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีน เพราะนักท่องเที่ยวจีนมาไทยไม่ถึงครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนโควิด
“อย่างน้อยก็สบายใจว่าการกระตุ้นรอบนี้ ไม่ได้มุ่งไปดันด้านการบริโภค ซึ่งเท่าที่ดูก็ไม่ได้มีอะไรที่จะไปเร่งการบริโภคจนเกินความสามารถของคนในประเทศ ดังนั้นหากจะกระตุ้นจริง ๆ อยากให้กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะ FDI หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะตัวอื่น ๆ ก็เดินได้ด้วยตัวเองอยู่ แต่การลงทุนโดยเฉพาะภาคก่อสร้างต่ำมาก ปีที่แล้วหดตัวแรง”
ห่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวหนัก
ดร.อมรเทพกล่าวอีกว่า ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.7% โดยครึ่งปีแรกประเมินที่ 3.1% เพราะมีแรงกระตุ้นต่าง ๆ มาเสริม อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt เป็นต้น ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าจะชะลอลง หรือโตแค่ประมาณ 2% ต้น ๆ เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าและปัจจัยอื่น ๆ
สำหรับมาตรการด้านตลาดหุ้น ดร.อมรเทพกล่าวว่า เรื่องหุ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อมั่น คงเดินหน้าไป แต่ปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้ที่สำคัญอยู่ที่ภาคก่อสร้างด้วย ซึ่งการแก้ไขเรื่อง LTV อาจจะช่วยไม่ได้มาก อาจจะไม่ทำให้การปล่อยสินเชื่ออสังหาฯฟื้นตัวได้มากนัก เห็นว่าควรมีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ แต่คงไม่ใช่แค่ยกเลิก LTV หรือลดดอกเบี้ย ต้องทำอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้น ความเชื่อมั่นกลับมา
หอการค้าไทยชูแผน “คูณสอง”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแจกเงินดิจิทัลเฟส 3 งบประมาณราว ๆ 25,000-27,000 ล้านบาท น่าจะทำให้มีผลต่อจีดีพีประมาณ 0.1-0.2% แต่ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
หอการค้าไทยมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังอยู่ในภาวะซึมตัวจากหลายปัจจัย ทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะปัญหากำลังซื้อของประชาชนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องและมุ่งเน้นมาตรการที่เกิดผลเป็นรูปธรรม
เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่เคยดำเนินการมาก่อน ซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน และมีผลเชื่อมโยงไปยังภาคธุรกิจ SMEs หรือในลักษณะโครงการคูณสอง ซึ่งเป็นแนวทางที่หอการค้าเคยเสนอไว้
สถาบันการเงินอุ้มเอสเอ็มอี
นายสนั่นกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจในปีนี้เติบโตได้มากกว่า 3% ว่า สำหรับข้อเสนอต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยโตได้เกิน 3% นั้น หอการค้าฯมองว่าแม้จะลดดอกเบี้ยแล้ว แต่ภาคเอกชนยังต้องการเห็นมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะ SMEs
หอการค้าไทยจึงมีข้อเสนอสำคัญ ที่อยากจะฝากไปยังรัฐบาลและสถาบันการเงินให้พิจารณาดำเนินการ 1.ธนาคารควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับ SMEs อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่ลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่ต้องส่งต่อผลประโยชน์ไปถึงภาคธุรกิจจริง ๆ พร้อมทั้งลดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น
2.ขยายโครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ไม่มีหลักประกัน และ 3.พิจารณาการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ในภาคธุรกิจที่มีศักยภาพสูง เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยี การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสีเขียว
แนะดึงร้านค้าย่อยร่วมดิจิทัล
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนมองเรื่องดิจิทัลเฟส 3 เป็นบวก ได้แก่ 1.ทดลองระบบดิจิทัลวอลเลตที่ถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล 2.ให้สังคมเรียนรู้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะสังคมไร้เงินสด ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นที่มีความพร้อมในการทดลองระบบ จึงเชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า 2 เฟสแรก ที่จ่ายเป็นเงินสดแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ควรเปิดให้ร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศขึ้นทะเบียน มีส่วนร่วมให้มากที่สุด ควรผลักดันให้เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand) มากกว่าสินค้านำเข้า ประสิทธิภาพของระบบดิจิทัลวอลเลตจะต้องไม่รั่วไหลใด ๆ ต้องมีการประเมินผลโครงการให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ ดิจิทัลวอลเลตเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลักดันให้เรามี New Growth Engine ที่มาจากจุดแข็งของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
แนะเร่งลดรายจ่ายคนไทย
นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย กล่าวว่า โครงการแจกเงินในเฟสถัดไป เฟส 4 นั้น ถ้ารัฐบาลมีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินจำกัด ควรโฟกัสนำเงินไปใช้ในโครงการช่วยเหลือเพื่อลดภาระรายจ่ายประจำให้กับครัวเรือนระดับล่างจะเหมาะสมกว่า เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน หรือแม้กระทั่งค่าโดยสาร
เชื่อว่าหากรัฐบาลใช้วิธีช่วยลดภาระรายจ่ายประจำ ช่วยเหลือคนตัวเล็ก เชื่อว่าจะเพิ่มกำลังซื้อในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากขึ้นไปยังระดับบน ตราบใดที่คนรากหญ้ายังไม่มีกำลังซื้อ พวกเศรษฐีที่ทำธุรกิจระดับบนก็คงต้องรวยน้อยลงต่อไปด้วย ครม.ช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง
ครม.ช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 มีนาคม 2568 ได้เห็นชอบลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิม ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนธันวาคม 2567 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพ โดยมาตรการนี้เป็นการลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 16.05 สตางค์ต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 4 เดือน คือ เดือนมกราคม 2568 ถึงเมษายน 2568
ทั้งนี้ คาดว่าผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือประมาณ 21.3 ล้านราย งบประมาณทั้งสิ้น 1,700 ล้านบาท โดยใช้งบฯกลางปี 2568 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ค่าเอฟทีในงวด พ.ค.-ส.ค. 2568 ยังคงมีภาระการชดเชยต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. นอกจากนี้ ค่าเงินบาทผันผวนจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ และการระบายน้ำของเขื่อนลดลงในฤดูแล้ง
แม้จะมีแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแล้ว แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามสภาวะอากาศร้อน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 71,000 ล้านบีทียู ทำให้ กกพ.ยังไม่สามารถประกาศปรับลดค่าเอฟทีลงได้