
คอลัมน์ : Smart SMEs ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ กรุงศรี SME
ในช่วงที่ผ่านมา ESG (Environmental, Social and Governance) หรือแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล กลายเป็นเรื่องที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมี SMEs บางส่วนที่ยังคงมีความเข้าใจไม่ถูกต้องหลายประการเกี่ยวกับ ESG ซึ่งอาจทำให้พลาดโอกาสสำคัญทางธุรกิจ หรือแม้กระทั่งส่งผลต่อความอยู่รอดในระยะยาวได้
ESG เท่ากับ CSR ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ESG เป็นแนวทางที่ฝังอยู่ในกลยุทธ์และกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืน ลดความเสี่ยง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ CSR (Corporate Social Responsibility) เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่องค์กรทำโดยสมัครใจ เช่น การบริจาค หรือโครงการช่วยเหลือชุมชน ซึ่งมักเป็นกิจกรรมระยะสั้นและไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับการบริหารองค์กร
โดย ESG เป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบในระยะยาว มากกว่าการทำเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีในระยะสั้นแบบ CSR และหากองค์กรให้ความสำคัญกับ ESG เพียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ อาจถูกมองว่าเป็น “Greenwashing” หรือการแสดงออกถึงความยั่งยืนเพียงเปลือกนอก โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง อาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง และทำให้ธุรกิจสูญเสียความไว้วางใจจากลูกค้า นักลงทุน และพันธมิตรทางธุรกิจ
ESG เกี่ยวข้องแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมักมีการเข้าใจผิดว่า ESG มุ่งเน้นเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่จริง ๆ แล้ว ESG ครอบคลุมสามด้านหลัก ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) เช่น การจัดการทรัพยากร การลดมลพิษ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้านสังคม (Social) เช่น การปฏิบัติต่อพนักงาน สิทธิมนุษยชน และความรับผิดชอบต่อชุมชน ด้านธรรมาภิบาล (Governance) เช่น โครงสร้างการบริหารองค์กร การต่อต้านคอร์รัปชั่น และจริยธรรมทางธุรกิจ
ซึ่งความเข้าใจผิดที่ว่า ESG เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ทำให้หลายองค์กรมุ่งเน้นเพียงการลดคาร์บอน การใช้พลังงานสะอาด หรือการลดขยะ แต่ละเลยมิติทางสังคมรวมถึงมิติด้านธรรมาภิบาล ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงต่อความยั่งยืนขององค์กร ดังนั้นการเข้าใจและดำเนินการด้าน ESG อย่างรอบด้าน จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความน่าเชื่อถือและการเติบโตที่มั่นคงขององค์กร
ESG ต้นทุนสูงและไม่คุ้มค่า การดำเนิน ESG แม้ว่าอาจมีต้นทุนในระยะสั้น แต่พบว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน นอกจากนี้ ธุรกิจที่ปรับใช้ ESG ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้ เช่น การปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดต้นทุนการจัดการของเสีย หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต
อีกทั้งการมีแนวทาง ESG ที่ดีจะช่วยสร้างความไว้วางใจจากลูกค้าและพันธมิตร ซึ่งส่งผลต่อการขยายตลาดและการรักษาฐานลูกค้าในระยะยาว ทั้งนี้ สำหรับ SMEs การดำเนินการด้าน ESG ในระยะเริ่มต้นอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเสมอไป โดยเริ่มต้นจากการปรับปรุงกระบวนการภายใน เช่น ลดของเสีย พัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงาน และเสริมสร้างความโปร่งใสทางธุรกิจ ล้วนเป็นแนวทางที่สามารถช่วยสร้างความยั่งยืนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจได้ในอนาคต
ESG เป็นเรื่องสำหรับบางอุตสาหกรรมหรือเป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น โดยหลายคนเชื่อว่า ESG มีผลกระทบหรือเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน หรือธุรกิจการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น
แต่ความเป็นจริงคือ ธุรกิจทุกอุตสาหกรรม ทุกระดับสามารถทำเรื่อง ESG ได้ เช่น ธุรกิจร้านอาหารสามารถบริหารจัดการของเสีย ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ธุรกิจค้าปลีกที่มีการเลือกซัพพลายเออร์ที่มีแนวทาง ESG และให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงาน ธุรกิจบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมรวมถึงมีนโยบายที่เป็นธรรมต่อพนักงานและคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม
ESG เป็นแค่กระแส เป็นทางเลือก ไม่ใช่สิ่งจำเป็น
โดยหลายธุรกิจยังมองว่า ESG เป็นเพียงทางเลือก แต่ในความเป็นจริง ESG กำลังกลายเป็นความจำเป็นทางธุรกิจ เนื่องจากแรงกดดันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ลูกค้า พนักงาน หน่วยงานกำกับดูแล และสังคมโดยรวม ที่คาดหวังให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบมากขึ้น
อีกทั้งหากบริษัทใดไม่ทำ ESG ก็อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันจากบริษัทที่ทำธุรกิจด้วย ที่อาจเริ่มบังคับให้คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานมีมาตรฐาน ESG รวมถึงมาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐที่จะทยอยออกมาบังคับใช้
ESG เป็นแนวทางที่ธุรกิจทุกขนาดต้องให้ความสำคัญเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว การเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ESG อาจทำให้ SMEs พลาดโอกาสสำคัญทางธุรกิจ ในขณะที่การปรับใช้ ESG อย่างถูกต้องสามารถช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความไว้วางใจจากลูกค้าและพันธมิตร สร้างธุรกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน