สินเชื่อดีลเลอร์รถ ICE หดหนัก แบงก์ปรับเกม ‘เจาะแบรนด์ฮิต-รุก EV’ เพิ่ม

car dealer สินเชื่อดีลเลอร์รถ ICE หดหนัก แบงก์ปรับเกม ‘เจาะแบรนด์ฮิต-รุก EV’ เพิ่ม

แบงก์ปรับกลยุทธ์ปล่อยกู้ “ดีลเลอร์รถยนต์” หลังยอดสินเชื่อหดตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา “ทิสโก้” ชี้เอฟเฟ็กต์จากรถยนต์อีวีเข้ามาแข่ง ประกอบกับหนี้ครัวเรือนสูง-กำลังซื้ออ่อนแอ-สินเชื่อเช่าซื้อชะลอตามยอดขายรถ ยอมรับดีลเลอร์ปรับตัวไม่ได้ต้องปิดตัว 20-30% ปรับแผนเร่งขยายพันธมิตรอีวี ส่วนรถสันดาปเน้นแบรนด์ฮิต ขณะที่ “กรุงศรี ออโต้” ปรับกลยุทธ์ตามความต้องการตลาด ปล่อยสินเชื่อดีลเลอร์อีวีเพิ่มขึ้น 8% พร้อมช่วยปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้า ฟาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินเช่าซื้อปี’68 หดตัว -7.5% ยอดคงค้างฮวบต่ำกว่า 1 ล้านล้าน

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อเพื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floor Plan) หลังจากอุตสาหกรรมรถยนต์เผชิญปัญหาการแข่งขัน และการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รวมถึงกำลังซื้ออ่อนแอจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้กลุ่มลูกค้าโชว์รูมยอดขายรถยนต์ปรับลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ยอดรถยนต์สันดาป (ICE) ประสบปัญหา มีการคุมสต๊อกสินค้า และได้ขอปรับโครงสร้างหนี้หลายราย

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์
ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์

 

ดังนั้น ธนาคารจึงปรับกลยุทธ์ในกลุ่มรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) มุ่งไปในกลุ่มแบรนด์ฮิตมากขึ้น โดยในกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ที่ปรับลดลง หรือการปิดโรงงาน ธนาคารจะทยอยปรับลดวงเงินลงมาให้เหมาะสมพอดีกับลูกค้า และลูกค้ากลุ่มนี้ก็สามารถที่จะออกจากการเป็นดีลเลอร์ และสามารถชำระหนี้ธนาคารได้ครบถ้วน

สำหรับฐานลูกค้าดีลเลอร์ที่มีอยู่หลายร้อยราย ในปีนี้ธนาคารยังคงขยายไปในลูกค้าดีลเลอร์กลุ่มอีวี และแปรผันไปตามลักษณะเศรษฐกิจและการปรับตัวของลูกค้า ซึ่งธนาคารจะตามไปสนับสนุนลูกค้า โดยเฉลี่ยวงเงินสินเชื่อกลุ่มดีลเลอร์อย่างน้อยจะอยู่ที่ราว 50 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นกรณีการเปิดโชว์รูมยังไม่รวมถึงของที่ดิน อย่างไรก็ดี ธนาคารจะพิจารณาการให้วงเงินสินเชื่อตามยอดขาย และความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก

“ในปีที่ผ่านมา เห็นลูกค้าประมาณ 20-30% ของจำนวนดีลเลอร์ที่ปิดตัวลง แต่บางรายก็ปรับตัวเปลี่ยนจากรถ ICE ไปเป็นรถไฟฟ้าอีวีแทน และหากเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพก็สามารถเปิดวงเงินสินเชื่อเพื่อสินค้าคงคลัง ที่เป็นอีวีเพิ่มเติมได้ ทำให้สินเชื่อเราน่าจะโตอ่อน ๆ ได้”

ADVERTISMENT

นางสาวชญาน์ธิป พันธุ์มณี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการเติบโตของตลาดรถอีวีในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพอร์ตสินเชื่อเพื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของกรุงศรี ออโต้ อย่างมีนัยสำคัญ แต่มองว่าเป็นโอกาสให้บริษัทปรับกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและธุรกิจของพันธมิตรดีลเลอร์

โดยหากดีลเลอร์เริ่มมีสัญญาณค้างชำระ กรุงศรี ออโต้ พร้อมให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ โดยยึดตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ซึ่งให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดรถยนต์ในระยะยาว

ADVERTISMENT

“ในปี 2567 ที่ผ่านมา กรุงศรี ออโต้ ได้เพิ่มการให้บริการสินเชื่อเพื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์แก่พันธมิตรดีลเลอร์รถอีวีราว 8% และพร้อมสนับสนุนพันธมิตรดีลเลอร์รถยนต์ที่ต้องการขยายตลาดสู่รถอีวี ด้วยการนำเสนอวงเงินเพื่อเสริมศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจต่อไป ซึ่งสะท้อนว่า กรุงศรี ออโต้ พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้”

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินอีกรายกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สินเชื่อคงค้างของดีลเลอร์ในภาพรวมมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของรถอีวี และภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อคงค้างเพื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ล่าสุด ณ เดือน พ.ย. 2567 อยู่ที่ราว 1.3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 0.9% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ลดลงจากช่วงก่อนโควิดที่มียอดสินเชื่อคงค้างราว 1.7-1.8 แสนล้านบาท

“ตัวเลขสะท้อนความต้องการสินเชื่อที่น้อยลง เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจเองไม่ได้มีความต้องการในการเบิกใช้วงเงินในภาวะที่ตลาดยังมีความยากลำบาก ขณะที่สถาบันการเงินเองก็พิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้กับดีลเลอร์เป็นราย ๆ ตามความสามารถในการชำระหนี้และยอดขายรถยนต์ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)”

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อในปี 2568 น่าจะหดตัว -7.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) หดตัวต่อเนื่องจากปี 2567 ที่หดตัว -11.4% สอดคล้องกับภาพรวมสินเชื่อทั้งระบบที่จะขยายตัวได้เพียง 0.6% เป็นผลมาจากตลาดรถยนต์ยังไม่สามารถคาดเดาได้ ว่าจะสามารถกลับมาได้แค่ไหน ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง กำลังซื้ออ่อนแอ

รวมถึงเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ยังค่อนข้างช้า รวมถึงมีการชำระหนี้คืน (Repayment) กลับมาของลูกหนี้

“ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อในปี 2568 คาดว่าน่าจะต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท จากปี 2567 ที่อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท ซึ่งยังเป็นภาพหดตัวลงต่อเนื่อง เพราะยอดปล่อยใหม่ช้า จากสถานการณ์ตลาดที่เกิดขึ้น ทั้งยอดขายรถยนต์ที่ลดลง กำลังซื้อ และหนี้ครัวเรือน”