
“หุ้นไทยเรามีหลายบริษัทที่ดี และมีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีจำนวนมาก อยากให้นักลงทุนใจเย็น ๆ ในการศึกษา อย่าเพิ่งตื่นตกใจ แล้วขายออก เพราะถ้าเราไม่ขาย ก็ไม่ขาดทุน เวลาลงทุน เราก็เลือกในหุ้นที่มีพื้นฐานดี อย่าเล่นหุ้นตามข่าวลือ ควรพิจารณาจากงบการเงิน อย่าไปรีบร้อน หุ้นลงได้ ก็ขึ้นได้เช่นกัน อยากให้นักลงทุนใจเย็น หุ้นขึ้นเมื่อไหร่ก็ค่อยขาย” ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีตกต่อเนื่อง จนหลุดแนวรับสำคัญ 1,200 จุด
ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ กล่าวว่า ความผันผวนที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนไม่ใช่มีเพียงแค่ตลาดหุ้นไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็กำลังเผชิญปัญหานี้เช่นกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเมืองโลก
โดยเฉพาะนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งนอกจากปัจจัยต่างประเทศแล้ว ประเทศไทยก็มีปัญหาด้านอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ที่อยู่ในระดับเกือบต่ำที่สุดในอาเซียน รวมถึงตลาดทุนไทยอยู่ในเศรษฐกิจยุคเก่า (Old Economy) เช่น พลังงาน ก่อสร้าง ธนาคาร ซึ่งในอดีตหุ้นเหล่านี้ต่างพุ่งแรง แต่ในปัจจุบันกำไรบริษัทเหล่านี้ลดลง เฉลี่ยน้อยกว่า 2% ต่อปี
“เราไม่มีหุ้นเทคโนโลยี หุ้น New Economy เหมือนต่างประเทศ ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ดัชนีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทั้งหมดนี้ ย้ำว่าตลาดหลักทรัพย์ฯเองไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุน และจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อจะนำบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีอยู่เติบโตขึ้น”
เร่ง Jump+ เดินหน้าเร็วขึ้น
ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งเดินหน้า “โครงการ Jump+” ให้เกิดขึ้นได้เร็ว ซึ่งจะทำให้ บจ.ไทยมีผลประกอบการที่ดีขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ จากปัจจุบันหลายหลักทรัพย์มีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี โดยจะจูงใจ บจ.ให้เข้าร่วมโครงการด้วยการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกำไรที่สามารถทำเพิ่มขึ้น
“เชื่อว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้เร็ว เนื่องจากไม่ต้องแก้กฎหมาย แก้ไขเพียงกฎระเบียบต่าง ๆ เท่านั้น การที่จะรอ 6 เดือน อาจจะไม่ทัน เพราะกว่าจะทำวิเคราะห์ต่าง ๆ ให้เห็นผลก็ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าโครงการนี้ จะทำให้นักลงทุนสถาบัน, นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) น่าจะเห็นถึงความสำคัญบริษัทที่ร่วมโครงการมากขึ้น”
เร่งแก้กฎหมาย ที่เป็นอุปสรรค
ทั้งนี้ มีมาตรการสำคัญที่จะเสนอ คือแก้กฎหมายแบบ Omnibus Law หรือการพิจารณาแก้กฎหมายรอบเดียวหลายฉบับ เพื่อให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น โดยจะแก้กฎหมายทั้งที่เป็นอุปสรรค และเพิ่มเติมข้อกฎหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาไปพร้อมกัน ได้แก่ กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ กฎหมายมหาชน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การให้ต่างชาติซื้อ-เช่าที่ดินระยะยาว เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้ยังศึกษาผ่อนคลายกฎเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock Buyback) ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดเดิมที่กำหนดให้ซื้อหุ้นคืนได้ไม่เกิน 10% ของทุนจดทะเบียน, การกำหนดให้ขายหุ้นที่ซื้อคืนภายใน 3 ปี และต้องรอให้โครงการเดิมจบไปก่อน 6 เดือนจึงจะสามารถซื้อหุ้นคืนได้อีก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ก็ต้องมีการแก้กฎหมาย
“หากสามารถแก้กฎหมายได้จะช่วยให้ บจ.มีความคล่องตัวในการซื้อหุ้นคืนได้ง่ายขึ้น เพิ่มความเชื่อมั่นในอนาคต โดยปัจจุบันกำลังเตรียมเสนอกระทรวงการคลังว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งหากทำได้จริง คาดว่าจะสามารถแก้ไขกฎหมายและเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ภายใน 3-4 เดือน”
ผุดออมหุ้นรับสิทธิลดหย่อนภาษี
“ประธาน ตลท.” กล่าวอีกว่า ยังได้ศึกษาโครงการออมเพื่อซื้อหุ้นไทย อย่าง Thailand Individual Saving Account (TISA) ที่คล้ายคลึงกับโมเดล Nippon Individual Savings Account (NISA) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโครงการนี้จะทำให้นักลงทุนเข้าลงทุนหุ้นรายตัวได้ โดยถือระยะยาว และสามารถนำไปลดหย่อนภาษี ภายใต้เพดานที่กำหนด โดยจะเป็นมาตรการใหม่ที่ช่วยสนับสนุนหุ้นไทยโดยตรง
ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดร่วมกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ กองทุน CMDF และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
“เป็นการเก็บออมหุ้นและยกเว้นอัตราภาษีให้ เราศึกษาใกล้สำเร็จแล้ว ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จ คนไทยทุกคนจะสามารถเก็บสะสมหุ้นได้และเงินจำนวนที่ซื้อจะได้รับการยกเว้นภาษี เป็นการสะสมโดยตรงที่ไม่ต้องผ่านกองทุน ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปคุยกับกระทวงการคลัง โดยทาง CMDF, ตลท., ก.ล.ต. ก็เห็นด้วย ดังนั้น ผมมองว่าไม่น่ามีปัญหา”
ดึง New Economy ลิสต์ SET
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อแก้กฎหมายในการสนับสนุนให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมใหม่ (New Economy) เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้ง่ายขึ้น เช่น ธุรกิจ Healthcare, เทคโนโลยี และดิจิทัล ทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติ พร้อมลดกฎเกณฑ์และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับ Startup ที่จะเข้าจดทะเบียน
โดยอาจจัดตั้งตลาดซื้อขายหุ้นกลุ่มนี้โดยเฉพาะแยกออกไปเช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หรือตลาด LiVex เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Reginal Listing Hub
“จะต้องสร้างมาตรการจูงใจอื่น ๆ เพื่อดึงดูดบริษัทกลุ่ม New S-curve เข้าจดทะเบียน โดยพิจารณาการจัดโครงสร้างหุ้นแบบ Dual-Class Shares เพื่อให้ผู้ก่อตั้งธุรกิจยังคงมีอำนาจควบคุมบริษัทได้ แม้จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนใน SET เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งติดขัดอะไรก็ต้องแก้กฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ผมมองว่ากฎหมายเป็นส่วนหนึ่ง ความเชื่อมั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจ ผมทำอะไรไม่ได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เชื่อว่าหุ้นไทยยังน่าลงทุน มีหลายตัวที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี อยากให้นักลงทุนใจเย็น ๆ ในการศึกษา” ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯกล่าว