ระบบประกันสุขภาพเอกชน ส่ออาการ “ป่วยไอซียู” เคลมพุ่ง ต้องใช้ Copay

ประกันโควิด

สถานการณ์เงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ที่กำลังเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญต่อระบบสุขภาพไทย เนื่องจากอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) และสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหลายเท่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งผู้ให้บริการสุขภาพ บริษัทประกันภัย และประชาชน ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น หากไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนและบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ

ปัญหานี้อาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพที่รุนแรงขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ “อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต” บริษัทประกันภัยระดับโลก ได้เล็งเห็นเรื่องนี้ จึงได้จับมือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีเสวนาระดับประเทศ ร่วมค้นหาแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพไทย

เอเชียเผชิญ “เงินเฟ้อการแพทย์” พุ่ง 8-15%

ชาลีน ลี หัวหน้าทีมด้านสุขภาพเอเชียแปซิฟิก วิลลิส ทาวเวอร์ วัตสัน (WTW) บริษัทตัวแทนประกันภัยระดับโลกและที่ปรึกษาด้านการจัดการความเสี่ยง ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตอย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่พุ่งสูงในระดับ 8-15% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหลายเท่า โดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ การให้บริการที่มากเกินความจำเป็นของโรงพยาบาล และจากการตระหนักเรื่องสุขภาพและความคาดหวังของผู้คน โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ผู้คนตื่นตัวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น บวกกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย จึงตามมาด้วยการเกิดโรคภัยต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้จำนวนครั้งของการเคลมและมูลค่าการเคลมเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งสวนทางกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก

สิงคโปร์สั่ง Copay 5% ทุกกรมธรรม์

ดังนั้นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับระบบประกันสุขภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงมีการนำแนวทางให้ลูกค้าต้องมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) มาบังคับใช้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ รัฐบาลสั่งให้มีการนำระบบ Copayment มาปรับใช้กับสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพทุกกรมธรรม์อย่างน้อยที่ 5% และมีการใช้ระบบให้ลูกค้าต้องรับผิดชอบส่วนแรก (Deductible) ร่วมด้วยที่ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และในอนาคตเล็งจะเพิ่มสัดส่วน Deductible ให้มากขึ้นไปอีก

มาเลเซีย Copay 5% ห้ามขึ้นเบี้ยเกิน 10% ใน 3 ปี

ขณะที่มาเลเซีย เริ่มมีปัญหาค่าเบี้ยประกันสุขภาพพุ่งสูงมาก จนกระทบกับการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของประชาชน ช่วงที่ผ่านมาได้มีการประกาศนโยบายไม่ให้มีการเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพเกิน 10% ต่อปี ภายใน 3 ปีข้างหน้า และให้บริษัทประกันสามารถขายแผน Copayment อย่างน้อยที่ 5% สำหรับกรมธรรม์ที่ออกใหม่ได้ ส่วนกรมธรรม์เดิมที่ไม่มี Copayment ก็ยังสามารถขายได้

ส่วนประเทศไทย เห็นการจะนำระบบ Copayment มาปรับใช้เช่นเดียวกัน แต่ในแง่ของกฎเกณฑ์จะแตกต่างกัน เพราะด้วยสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่เชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการแก้ปัญหา Medical Inflation และช่วยปรับมายเซตของคนในการเข้ารักษาพยาบาลให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ADVERTISMENT

ไทย Copay 30-50% 2 เงื่อนไข

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จริง ๆ ต้องบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบการดูแลสุขภาพประชาชนดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก มีสิทธิพื้นฐานอย่างระบบ 30 บาทรักษาทุกที่ มีระบบประกันสังคมสำหรับผู้ใช้แรงงาน มีระบบประกันสุขภาพข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันกรมบัญชีกลางต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนนี้มูลค่าแสนล้านบาท ถือว่าสูงมาก และมีระบบประกันสุขภาพภาคเอกชน ที่ปัจจุบันมีขนาดเบี้ยรับรวมแตะระดับ 1.3 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามความท้าทายสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นคือ ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่เติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% บางบริษัทประกันเจอผลกระทบตรงนี้ปีละ 12-14% ซึ่งส่งผลให้ค่าสินไหม (เคลมประกัน) สูงขึ้น และกดดันค่าเบี้ยประกันสูงขึ้นตามไปด้วย ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปจะทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยหรือคนที่เริ่มต้นทำงาน จะเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้ยากขึ้น

ADVERTISMENT

“เรื่องนี้ทุกประเทศในอาเซียนเจอปัญหาหมด แต่มีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ตัวอย่างสิงคโปร์ มีวิธีการที่ได้ผลดีมากที่สุด เพราะบังคับให้ทุกกรมธรรม์ต้องมีระบบ Copayment ที่ 5% แต่วิธีการนี้มองว่าคงไม่เหมาะกับประเทศไทย”

คปภ.จึงได้ร่วมกับภาคธุรกิจประกันตัดสินใจพิจารณานำเงื่อนไข Copayment มากำหนดกรณี 1. เจ็บป่วยเล็กน้อยโดยเข้ารักษาผู้ป่วยใน (IPD) มากกว่า 3 ครั้งและเคลมเกิน 200% ของเบี้ย 2. เจ็บป่วยโรคทั่วไปโดยเข้ารักษาผู้ป่วยใน มากกว่า 3 ครั้ง และเคลมเกิน 400% ของเบี้ย (ไม่รวมผ่าตัดใหญ่และโรคร้ายแรง)

ถ้าเข้าข่ายข้อ 1 หรือข้อ 2 ลูกค้าต้องร่วมจ่าย 30% และหากเข้าข่ายทั้งสองข้อต้องร่วมจ่าย 50% ซึ่งจะมีผลเฉพาะรายกรมธรรม์ใหม่ในปีต่ออายุ โดยบริษัทประกันต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ซึ่งจะเริ่มมีผลประกาศใช้เงื่อนไขดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2568

“เราคิดว่าวิธีการนี้จะจัดการค่าสินไหมที่สูงขึ้นเร็วได้แต่คงไม่ถึง 100% แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องการส่งสัญญาณบางอย่างออกไปว่าตอนนี้เคลมสุขภาพโตเร็วขึ้นมาก และถ้าปล่อยให้โตต่อไประบบประกันสุขภาพภาคเอชนน่าจะเกิดปัญหาขึ้นมาได้ ดังนั้นต้องหาทางทำให้เคลมลดลง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

ระบบประกันสุขภาพเอกชน อาการ “ป่วยไอซียู”

นายแพทย์ธรธเนศ อายานะ ที่ปรึกษาคณะแพทย์ที่ปรึกษา สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ตอนนี้ระบบประกันสุขภาพเอกชนอยู่ในสภาวะป่วยในไอซียู การแก้ไขด้วยระบบ Copayment เฉพาะรายกรมธรรม์ใหม่ในปีต่ออายุ ไม่ได้ช่วยในสภาวะที่ต้องให้ออกซิเจนอยู่ในเวลานี้

โดยมองว่าแนวทางนี้อาจจะสายเกินไปในการที่จะทำให้ระบบประกันสุขภาพมีความยั่งยืนได้ เพราะจะเป็นเพียงหนึ่งในวิธีที่จะทำให้ผู้เอาประกันคิดมากขึ้นว่าเวลาเจ็บป่วยว่ามีความจำเป็นที่ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือไม่​ แต่ก็ยังไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนที่สุด เพราะถ้าจะแก้ปัญหาต้องแก้ทั้งระบบ เนื่องจากตอนนี้ยังมีพอร์ตโฟลิโอใหญ่ ๆ ที่ยังใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่ายอีกมากที่ต้องจัดการ

ด้วยคอนเซ็ปต์ของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพภาคเอกชนที่เป็นแบบ Free For Service ทำให้ผู้เอาประกันใช้บริการแบบบุฟเฟต์ ทำให้เกิดการให้บริการทางการแพทย์เกินความจำเป็น และโรงพยาบาลสามารถชาร์จค่าใช้จ่ายได้มาก ซึ่งจะต่างจากระบบประกันสังคมที่จ่ายเป็น Capitation คือให้โรงพยาบาลรับเงินไปบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายให้เพียงพอ ซึ่งแนวทางนี้ทางโรงพยาบาลจะจำกัดสิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อทำให้การเคลมลดลง เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการของภาคเอกชนคงต้องเปลี่ยนไปในอนาคต

สถิติชี้ลูกค้าประกันสุขภาพนอน รพ.ถี่-เคลมพุ่ง

“ตอนนี้เมื่อเกิดการเคลม บริษัทประกันมักจะอยู่โดดเดี่ยว ในขณะที่ผู้เอาประกันไม่สนใจเพราะมีคนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แล้ว ส่วนโรงพยาบาลก็พยายามจะให้บริการต่าง ๆ ที่มากเกิน โดยจากสถิติพบว่า การนอนโรงพยาบาลของลูกค้าที่มีประกันสุขภาพในระบบ Free For Service สูงกว่าประชาชนทั่วไปถึง 4-5 เท่า หรือนอนโรงพยาบาลประมาณ 30 ครั้งต่อปี ในขณะที่คนทั่วไปแค่ 7 ครั้งต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ค่อนข้างสูง” นายแพทย์ธรธเนศ กล่าว

ต่อไปถ้าบริษัทประกันอยู่ไม่ได้ โรงพยาบาลเอกชนก็คงอยู่ยาก เพราะขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนที่มีอยู่ 200-300 แห่ง เกือบ 50% ของรายได้มาจากบริษัทประกัน ดังนั้นทางรอดของโรงพยาบาลก็คงต้องไปขอเข้าระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะเป็นภาระต่อภาครัฐอยู่ดี เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหานี้ทุกส่วนต้องมีส่วนร่วมเพื่อทำให้ตัวระบบอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลระบบสุขภาพของประเทศไทย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมการค้าภายใน และสำนักงาน คปภ.

แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะดำเนินการไปแล้วในเรื่อง “บิลใบเสร็จมาตรฐาน” ในลักษณะการคิดค่าใช้จ่ายอิงตามต้นทุนที่แท้จริงของแต่ละรายการ แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทำให้ไม่สามารถเก็บดาต้าเพื่อทำการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชนที่เหมาะสมได้

ขณะที่บริษัทประกันที่รับความเสี่ยงต้องพยายามจัดการเรื่อง Managed Care (ระบบการให้บริการดูแลสุขภาพที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถจัดการต้นทุนและคุณภาพของความต้องการด้านการดูแลสุขภาพของตนเองได้) ส่วนภาคประชาชนต้องเลิกปล่อยปะละเลยตัวเอง พยายามรักษาสุขภาพให้ดี เพื่อให้เจ็บป่วยน้อยลง และเข้าใช้บริการโรงพยาบาลเท่าที่จำเป็น

ประกันสังคม กางกลไกคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพ

นายณภูมิ สุวรรณภูมิ หัวหน้างานคณิตศาสตร์ประกันภัย สำนักงานประกันสังคม ฉายภาพให้เห็นถึงบทบาทของกองทุนประกันสังคมในการดูแลประชาชน และแนวทางปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นว่า ประกันสังคมเป็น Risk Pooling ขนาดใหญ่ ดูแลผู้ประกันตน 13.7 ล้านคน ด้วยโครงสร้างการบริหารที่รายรับคงที่ เนื่องจากไม่มีการจัดเก็บเงินสมทบเพิ่มในแต่ละปี แต่สิทธิประโยชน์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้สำนักงานประกันสังคม ต้องมีกลไกในการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

โดยปกติสำนักงานประกันสังคมจะมีวิธีการควบคุมรายจ่าย 2 รูปแบบหลัก คือ เหมาจ่าย (Capitation) หรือ จํานวนเงินคงที่จ่ายล่วงหน้าให้กับสถานพยาบาล และนอกเหนือเหมาจ่าย (Fee Schedule) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่จ่ายให้กับผู้ให้บริการสำหรับแต่ละบริการ โดยมีการกำหนดอัตราสูงสุด ส่วนใหญ่ 70% ของค่าใช้จ่าย เป็นค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่าย เนื่องจากเหมาะกับการจ่ายค่ารักษาในโรคทั่วไป เช่น OPD รับยา โรคเรื้อรัง เป็นการป้องกันการให้บริการรักษามากเกินความจำเป็น สามารถควบคุม Medical Inflation ได้

เพราะมีการพิจารณาทบทวนปรับค่าบริการทางการแพทย์ผ่านคณะกรรมการการแพทย์ที่มีตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงโรงพยาบาลรัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามการใช้กลไกการควบคุมดังกล่าวก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย โดยข้อดีคือ คุม Medical Inflation ได้ แต่ก็อาจจะทำให้คุณภาพการให้บริการไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับผู้ประกันตนเท่ากับกรณีที่ไม่ควบคุม ​

พล.ต.ท. นพ.ธนา ธุระเจน ประธานกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม กล่าวเพิ่มว่า สำนักงานประกันสังคม เราสร้างความยั่งยืน จากการยึดผู้ประกันเป็นศูนย์กลาง เราไม่กังวลกับ Medical Inflation ที่เพิ่มขึ้น เพราะเรามีกลไกในการควบคุม สามารถนำเงินที่เหลือไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ อาทิ การลงทุนเทคโนโลยี พัฒนาระบบ Audit ที่แข็งแรง

สำหรับแนวทางในการสร้างระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืน มองว่า นอกจากบริษัทประกันภัยเอกชนจะมอบแรงจูงใจให้กับคนที่ไม่ป่วย ด้วยการเจาะลึกว่าอินไซต์ที่คนกลุ่มนี้อยากได้คืออะไร เพื่อจะได้นำไปสู่การสร้างพฤติกรรมในระยะยาว ต้องนำเสนอสมการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยใหม่ที่ต้องส่งมอบคุณค่าชีวิตที่ยั่งยืนให้ทุกคนในระบบ โดยความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาพูดคุยและร่วมมือกัน

“ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้ เพราะถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากป่วย หรือถ้าป่วยก็อยากหายเร็ว ดังนั้นความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องส่งเสริมการป้องกันโรคและบูรณาการการร่วมมือทุกฝ่าย”

อลิอันซ์ ชี้ต้องร่วมมือสร้างความยั่งยืนระบบสุขภาพไทย

มร.โทมัส วิลสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวว่า นิยามของระบบประกันสุขภาพที่ยั่งยืน จะต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ อย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่ใน 2-3 ปีอันใกล้ แต่กำลังพูดถึงในอนาคต 15-20 ปีข้างหน้า แต่ด้วยสถานการณ์ Medical Inflation ที่เป็นอยู่ขณะนี้จะทำให้ค่าสินไหมของประกันสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนคนทั่วไปเข้าถึงประกันสุขภาพได้ยากขึ้น ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่จะยิ่งทำให้อัตราการรักษาโรคเพิ่มขึ้น

โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ Medical Inflation พุ่งสูง เพราะการเคลมที่มากเกินไป โดยจากข้อมูลพบว่า เด็กไทยอายุ 0-10 ปี มีการอัตราการแอดมิตเข้าโรงพยาบาลที่มีจำนวนมาก และพักรักษาในโรงพยาบาลจำนวนวันที่มากกว่าประเทศอื่นมาก

นอกจากนั้นจากข้อมูลมีการเคลมสูงขึ้นของโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เช่น office syndrome ทั้งที่จริง ๆ แล้ว การเอาประกันควรสงวนไว้สำหรับโรคสำคัญ ๆ เช่น โรคหัวใจ, โรคมะเร็ง เป็นต้น “ตอนนี้กลับถูกนำมาใช้ในจุดที่ไม่สำคัญ ซึ่งอาจมีการป้องกันได้และสมมติว่า หากเราไม่มีการแก้ไขใด ๆ ก็จะยิ่งทำให้ระบบสุขภาพในภาพรวมแย่ลง ยกตัวอย่าง ประกันกลุ่มลูกค้าเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ในปัจจุบัน ทุกบริษัทมีการเสนอเฉพาะแผนที่มีความรับผิดส่วนแรก Deductible ร่วมด้วยทั้งหมดแล้ว

“ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ภายใน 15 ปี ผมคิดว่าคนทั่วไปจะเข้าถึงประกันสุขภาพของบริษัทเอกชนได้ลดลง และต้องกลับไปพึ่งพาหลักประกันสุขภาพของรัฐหมด ทำให้ภาครัฐก็ต้องมาแบกรับภาระตรงนี้ แต่อย่างน้อยโชคดี ที่เราตื่นตัวกันตั้งแต่วันนี้ และกำลังร่วมกันหาวิธีรับมือ เพื่อนำไปสู่การร่วมมือกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า โรงพยาบาล บริษัทประกัน รวมถึงภาครัฐ เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่มีความยั่งยืนในประเทศไทย” มร.โทมัส วิลสัน กล่าว

SMU ชูโมเดลสิงคโปร์

ดร.เว่ยหยาง ชอง รองอธิการบดีฝ่ายงานวิจัยเชิงกลยุทธ์มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งประเทศสิงคโปร์ (Singapore Management University) กล่าวว่า แนวปฏิบัติที่ช่วยให้ระบบสุขภาพมีความคุ้มค่าและเข้าถึงได้มากขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศสิงคโปร์เกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบสุขภาพแบบ Value-Based Care ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน

นอกจากเรื่องของการนำแนวทาง Copayment เข้ามาใช้ การนำระบบ AI และ Robotic มาใช้ในระบบ Healthcare พร้อมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่มอบเงินสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้โรงพยาบาลหาวิธีในการบริหารจัดการ และส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยด้วยการป้องกันการเกิดโรคเพราะช่วยประหยัดต้นทุน บุคลากรและเวลา ซึ่งหากโรงพยาบาลไหนสามารถบริหารจัดการได้ดี มีเงินเหลือ ก็สามารถเก็บไว้ได้ไม่ต้องคืนรัฐบาล

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมองไปถึงการเก็บรวบรวมพฤติกรรมและพันธุกรรมของประชาชน เพื่อนำมาวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรค ให้การรักษา และป้องกันการเกิดโรคในประชาชนแต่ละคนได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้นด้วย