
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง ตามมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่มความยั่งยืน (ESG) และเพิ่มเสถียรภาพตลาดทุนไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับเงินลงทุนใหม่ในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai ESGX) และการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund : LTF) ไป Thai ESGX ในช่วงเวลาที่กำหนด 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย. 2568) ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด
โดยให้สำนักงาน ก.ล.ต.ออกหลักเกณฑ์รองรับกองทุนรวมดังกล่าวต่อไป ซึ่งเลขาธิการ ก.ล.ต.คาดว่าจะสามารถเปิดให้ บลจ.ยื่นขออนุมัติจัดตั้ง Thai ESGX ได้ภายในเดือน เม.ย. 2568
ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักกองทุน Thai ESGX ที่มากขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์-เงื่อนไขลดหย่อนภาษีของ “กองทุน Thai ESGX” ดังนี้
Thai ESGX คืออะไร ?
คือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thailand ESG Extra Fund : Thai ESGX) เป็นกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรองรับการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF และเงินลงทุนใหม่ สำหรับการลงทุนในช่วงเวลาที่กำหนด 2 เดือน
ทั้งนี้ Thai ESGX ต้องลงทุนในทรัพย์สินที่ออกโดยผู้ออกหรือกิจการในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติด้านความยั่งยืนตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV โดยจะต้องลงทุนในหุ้นกลุ่มความยั่งยืน โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV ประเภทสินทรัพย์ที่ Thai ESGX ต้องลงทุนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV ประกอบด้วย
-
- หุ้นกลุ่มความยั่งยืนใน SET หรือ mai ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV
- ตราสารหนี้ในกลุ่มความยั่งยืน
- โทเค็นดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน
มีเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษี อย่างไร ?
สิทธิประโยชน์ทางภาษีแบ่งออกเป็น 2 วงเงินใหม่ โดยไม่รวมกับกองทุนและประกันเพื่อรองรับการเกษียณการทำงานอื่น ๆ ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
Thai ESGX (วงเงินลดหย่อนที่ 1) สำหรับเงินใหม่ที่บุคคลธรรมดาลงทุนในกองทุน Thai ESGX เฉพาะปี 2568 สูงสุด 300,000 บาท
- วงเงินลดหย่อน : ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท (เฉพาะปี 2568)
- ระยะเวลาลงทุน : เปิดระยะให้ลงทุนภายใน 2 เดือน (คาดว่าเริ่มเปิดขายหน่วยได้ทุกวันทำการของเดือน พ.ค.-มิ.ย. 68)
- การถือครอง : ไม่น้อยกว่า 5 ปี (วันชนวัน นับแต่วันที่ลงทุน)
Thai ESGX (วงเงินลดหย่อนที่ 2) สำหรับผู้ลงทุนที่สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม ที่ถือทั้งหมดใน LTF ทุกกองทุนในทุก บลจ. มาเป็นหน่วยลงทุนของ Thai ESGX เพื่อรับเงินสิทธิลดหย่อนสำหรับ LTF เดิม สูงสุด 500,000 บาท
- -วงเงินลดหย่อน : สูงสุด 500,000 บาท รวมทยอยลดหย่อน 5 ปี ตั้งแต่ปีภาษี 2568-2572
✓ ปีแรก (2568) : สูงสุด 300,000 บาท
✓ ปีที่ 2-5 (2569-2572) : สูงสุด ปีละ 50,000 บาท - หน่วยลงทุนที่มีสิทธิ : หน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วย LTF ถือครอง ณ วันที่ ครม.มีมติอนุมัติมาตรการข้างต้น (ไม่รวม Class หน่วยภาษีอื่นภายใต้กองทุนเดียวกัน เช่น Class SSF)
หมายเหตุ : ผู้ถือหน่วย LTF ที่ประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อน ต้องสับเปลี่ยนจาก LTF ทุกกองทุน ในทุก บลจ. มา Thai ESGX ในช่วงระยะเวลาการสับเปลี่ยนที่กำหนด หากสับเปลี่ยนมาไม่ครบจะไม่มีสิทธิใช้วงเงินลดหย่อนที่ 2 ได้
- การถือครอง : Thai ESGX ที่สับเปลี่ยนจาก LTF รวมทั้งหมด ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี (วันชนวัน นับจากวันที่ส่งคำสั่งสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม มายังกองทุน Thai ESGX)
หมายเหตุ : การขายหน่วยลงทุนก่อนครบระยะเวลา 5 ปี จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้นและมีเบี้ยปรับตามที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์กำหนด นอกจากนี้ หากมีกำไรจากการขายหน่วยจะต้องนำกำไรนั้นมาคำนวณภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ทางภาษีด้วย
- ระยะเวลาในการสับเปลี่ยน : ภายใน 2 เดือน (คาดว่าเป็นช่วงเดียวกันกับการเปิดขายหน่วย Thai ESGX (วงเงินลดหย่อนที่ 1) คือ เริ่มเปิดให้สับเปลี่ยนหน่วย LTF มาเป็น Thai ESGX ได้ทุกวันทำการของเดือน พ.ค.-มิ.ย. 68)
ทั้งนี้ การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด
ใครได้ประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนใน Thai ESGX ?
• วงเงินลดหย่อนที่ 1 สำหรับเงินใหม่ที่บุคคลธรรมดาลงทุนในกองทุน Thai ESGX ในช่วงเวลาที่เปิดขายหน่วยไม่เกิน 2 เดือน (คาดว่า พ.ค.-มิ.ย. 2568) ลดหย่อนสูงสุด 300,000 บาท
– ผู้ลงทุนทุกคนที่เป็นผู้เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งรวมถึงผู้ถือหน่วย LTF ที่อยากลงทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากการได้รับสิทธิจากวงเงินลดหย่อนที่ 2 ด้วย
• วงเงินลดหย่อนที่ 2 สำหรับการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม มากองทุน Thai ESGX เพื่อรับเงินลดหย่อนสำหรับ LTF เดิม ลดหย่อนสูงสุด 500,000 บาท
– ผู้ถือหน่วยกองทุนรวม LTF ที่มีชื่อเป็นผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ ที่ได้สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ทั้งหมดในทุกกองทุน ทุก บลจ. ของผู้ถือหน่วยลงทุนรายนั้น ๆ มาเป็นหน่วยลงทุน Thai ESGX
กรณีผู้ถือหน่วยกองทุนรวม LTF ประสงค์จะย้ายไปกองทุนรวม Thai ESGX หากมีเงินลงทุนมากกว่า 500,000 บาท จะมีผลอย่างไร ?
หากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนวงเงินที่ 2 จะต้องสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ทั้งหมดในทุกกองทุน ทุก บลจ. ของผู้ถือหน่วยลงทุนรายนั้น ๆ มาเป็นหน่วยลงทุน Thai ESGX โดยหน่วยลงทุนที่สับเปลี่ยนมาแล้วรวมทั้งหมด ต้องถือครองตามเงื่อนไข ไม่น้อยกว่า 5 ปีด้วย (วันชนวัน นับจากวันที่ส่งคำสั่งสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม มากองทุน Thai ESGX)
Thai ESGX วงเงินลดหย่อนที่ 1 (300,000 บาท) ให้สิทธิเฉพาะปี 2568 ?
ใช่ Thai ESGX วงเงินลดหย่อนที่ 1 ให้สิทธิลดหย่อนเฉพาะในปี 2568
– วงเงินลดหย่อนจากการลงทุนในช่วงระยะเวลา 2 เดือน ที่กำหนดในปี 2568 จะเป็นวงเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีแยกจากการลงทุนในกองทุน Thai ESG ปกติ
ทั้งนี้ Thai ESGX จะสามารถเปิดขายได้อีกครั้งตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป โดย Thai ESG และ Thai ESGX จะใช้วงเงินลดหย่อนเดียวกัน
สรุปแล้วในปีภาษี 2568 ผู้ลงทุนมีวงเงินที่สามารถลดหย่อนสำหรับการลงทุนในกอง ESG อย่างไรบ้าง
ในปี 2568 มีกองทุนรวมกลุ่ม Thai ESG ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 3 วงเงิน รวมสูงสุดไม่เกิน 900,000 บาท ดังนี้
1) เงินลงทุนใหม่สำหรับผู้ลงทุนทุกรายที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของ Thai ESG ในปัจจุบัน โดยลดหย่อนไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
2) เงินลงทุนใหม่สำหรับผู้ลงทุนทุกรายที่ลงทุนใน Thai ESGX ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่เปิดขายในปี 2568 โดยลดหย่อนไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
3) สำหรับผู้ถือหน่วย LTF ที่สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนจาก LTF ทุกกองทุนไป Thai ESGX โดยมี
วงเงินลดหย่อน ดังนี้
✓ ปีแรก (2568) : สูงสุด 300,000 บาท
✓ ปีที่ 2-5 (2569-2572) : สูงสุดปีละ 50,000 บาท