พิชัย ถกบอร์ดค่ารักษาพยาบาล ออก 8 มาตรการ สกัดการใช้งบประมาณพุ่ง

พิชัย ชุณหวชิระ ถกบอร์ดค่ารักษาพยาบาล

พิชัย ถก บอร์ดพิจารณาค่ารักษาพยาบาล นัดแรก คลอด 8 มาตรการเป็นกรอบทำงาน หวังลดค่าใช้จ่ายระบบสุขภาพ 4 ระบบ หลังใช้งบพุ่ง 3.6 แสนล้านบาท ชี้ไทยนำเข้ายาปีละ 2 แสนล้าน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย เปิดเผยว่า การหารือในครั้งนี้เพื่อหาแนวทางดูแลงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐ โดยมี 4 ระบบได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบการดูแลพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

โดยพบว่ามีค่าใช้จ่ายไม่เพียง และมีการใช้งบประมาณเพิ่มสูงรวดเร็ว จึงต้องมีการทบทวนค่าใช้จ่ายในระบบให้มีเพิ่มคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้มีการคุยกันถึงเรื่องเร่งด่วนก่อน เนื่องจากจีดีพีของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตที่ต่ำ โดยในปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2% และปีนี้อยู่ที่ 2% กว่า ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่า 4% ต่อปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพแน่นอน โดยยังยืนยันว่าไม่ได้มีการลดสิทธิการรักษาเดิม

“เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยกับประเทศในกลุ่ม OECD พบว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวและเปอร์เซ็นต์ของจีดีพียังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเหล่านั้น ซึ่งอาจสะท้อนถึงคุณภาพการบริการที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้” นายพิชัย กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อมูลของระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยทั้ง 4 ระบบ โดยได้กำหนดกรอบการทำงาน 8 ด้าน และให้ทำเร่งด่วน 2 ด้านคือ 1. เรื่องงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในภาพรวมของประเทศ จะมีแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมอย่างไร และ 2. เรื่องการนำเข้ายามาใช้ในระบบในแต่ละปี ซึ่งพบว่าไทยมีการนำเข้ายาถึงปีละ 2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ประกอบด้วย  คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ซึ่งผลการประชุมจะมีการเสนอให้ นายกรัฐมนตรี และที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ต่อไป

ADVERTISMENT

ขณะที่ ภาพรวมงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในประเทศไทยปัจจุบันในปี 2567 พบว่า รัฐบาลใช้งบประมาณไป 3.4 แสนล้านบาทไปกับ 4 ระบบบริการสุขภาพ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนการเติบโตของงบประมาณในส่วนนี้ พบว่าเติบโต 11% ต่อปี ซึ่งเติบโตมากกว่าจีดีพีประเทศประมาณ 2 – 2.5% ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้กังวล และต้องยอมรับว่าอาจต้องมีการพิจารณาในเรื่องการใช้งบประมาณด้านการรักษาพยาบาล

“ค่ารักษาของกลุ่มข้าราชการเฉลี่ยสูงถึง 1.8 หมื่นบาทต่อคน รองลงมาเป็นสิทธิค่ารักษาของ อปท.สูงกว่า 1.2 หมื่นบาทต่อคน สิทธิประกันสังคม 4.9 พันบาทต่อคน และสิทธิบัตรทอง 3.8 พันบาทต่อคน” นพ.จเด็จ กล่าว

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ผลการประชุมยืนยันยังคงให้สิทธิเท่าเดิม แต่จะมีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานขึ้น ตลอดจนใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ  และยังไม่มีการคุยถึงการรวมสิทธิรักษาพยาบาลทั้ง 4 ระบบเข้าด้วยกัน แต่ที่ประชุมได้กำหนดกรอบการทำงาน 8 ด้าน ดังนี้

1. สปสช. เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยบริการอื่นๆ นอกสังกัด สธ. รับผิดชอบทบทวนหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ควบคุมการใช้จ่ายของทุกสิทธิให้เหมาะสมภายใต้วงเงินที่ได้รับจัดสรร ไม่ให้เกิดภาระต่อเงินคงคลังของประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิการรักษา ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางพิจารณาค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะสิทธิสวัสดิการข้าราชการที่ควรจะมีแนวโน้มลดลง

2. สปสช. พิจารณานำงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินงาน หรือรายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสมมาสมทบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นลำดับแรก และหากเงินรายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสมไม่เพียงพอ ก็ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายงานเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ตามขั้นตอนต่อไป และให้ขยายมาตรการนี้ไปยังเงินนอกงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐต่อไป

3. สธ. ในฐานะที่เป็นหน่วยผู้ให้บริการ ร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขอื่นนอกสังกัด สธ. ต้องมีมาตรการ หลักเกณฑ์ ในการสั่งจ่ายาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกสิทธิการรักษาพยาบาล และควรพิจารณาการใช้ยาสามัญ (Generic Drugs) เป็นลำดับแรกแทนยาต้นตำรับ (Original Drugs) เนื่องจากยาต้นตำรับมีราคาที่ค่อนข้างสูง

4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำร่องเรื่อง การพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้ทั้งประเทศใช้ระบบเดียวกัน ส่งผลให้มีข้อมูลที่ตรงกัน ทุกหน่วยบริการสามารถเข้าถึงข้อมูลการเบิกจ่ายยา ข้อมูลสุขภาพของประชาชน และเชื่อมโยงข้อมูลด้วยกันได้

5. สปสช. ในฐานะที่รับผิดชอบการสร้างเสริมสุขภาพ่าและป้องกันโรค (P&P) ให้กับประชาชนไทยทุกคน ควรเร่งดำเนินการเชิงรุก ตลอดจนพิจารณาทบทวนการใช้ DRGs ให้สอดคล้องกับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่แท้จริง และพิจารณานำแนวทางการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) มาปรับใช้ในการจัดทำงบประมาณมากขึ้นในปีถัดไป

6. กรมบัญชีกลาง สำนักงานข้าราชการพลเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการในระบบ และที่บรรจุใหม่

7. สธ. หน่วยบริการสาธารณสุขอื่นนอกสังกัด สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรฐานราคากลางของยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์อวัยวะเทียม เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทังประเทศ และพิจารณาการจัดซื้อยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์อวัยวะเทียมจากองค์การเภสัชกรรม และการจัดซื้อในปริมาณที่มาก จะทำให้ต่อรองราคาเพื่อให้เกิดความประหยัดและคุ้มค่าได้ รวมถึงดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศ และการถ่ายอดเทคโนโลยีการผลิต

8. กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณามาตรการทางภาษี เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น การเก็บภาษีสินค้าที่ทำลายสุขภาพเพิ่ม และ สร้างแรงจูงใจทางอ้อมให้กับประชาชนที่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ รับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ