
“ปิติ” ซีอีโอทีทีบียันไม่สนใจสมัครชิงผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ หลังมีชื่อติดโผแคนดิเดต ยันทำงานในองค์กรทีทีบีก็สามารถช่วยสร้างประโยชน์และช่วยลูกค้าได้ พร้อมร่วมมือกับทุกรัฐบาลช่วยประเทศ
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี กล่าวถึงจากกระแสข่าวที่มีชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดตเข้าชิงตำแหน่ง “ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่นั้นว่า ไม่ทราบว่ามีชื่อติดโผแคนดิเดตชิงผู้ว่าฯ ธปท.ได้อย่างไร แต่อาจเป็นเพราะกระแสสังคมไทยในตอนนี้ต้องการอัศวิน ซึ่งกำลังมองหาคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ ด้วยมีความหวังว่าจะดีขึ้นกว่าเดิม
“ไม่สนใจสมัคร ไม่มีใครทาบทาม เลยไม่เป็นแคนดิเดต”
ซึ่งอาจเปรียบว่า หากเศรษฐกิจไทยเป็นเหมือนการแข่งรถ Formula 1 หรือ F1 ที่คนขับต้องเก่ง รถต้องดี เครื่องยนต์ต้องดี และมีอีก 2 ปัจจัยที่หากทำดีที่สุดก็อาจจะชนะในสนามแข่งขัน แต่ถ้าทำห่วยอาจจะแพ้ นั่นคือหนึ่งต้องเลือกยางให้ถูกและเปลี่ยนให้เร็ว และสองคือ การเบรกให้ถูกจังหวะ หากรถจะเข้าทางเข้าโค้ง แต่เบรกช้าไปรถก็แหกโค้ง แต่ถ้าเบรกเร็วไปคนอื่นก็แซงหน้า
“แบงก์ชาติเป็นเหมือนการเลือกยางกับเบรกในสนามแข่งรถ หากเบรกก่อนจะถึงโค้งคนอื่นก็แซงหมด เปรียบเสมือนนโยบายดอกเบี้ยที่ผิดจังหวะ ส่วนการเลือกยางหากฝนจะตกแต่เลือกใช้ยางแห้ง แล้วดันอยากวิ่งเร็ว เมื่อฝนตกมาก็แหกโค้งอีก”
ดังนั้น หน้าที่ของ ธปท.อาจจะทำได้เพียงการเลือกเบรกให้ถูกจังหวะกับการเลือกยางให้เข้ากับสภาพอากาศ แต่รถ F1 ทั้งคันก็เหมือนเศรษฐกิจทั้งประเทศ รถจะวิ่งไปต่อได้ก็ต้องมีเครื่องยนต์ มีพวงมาลัยบังคับซ้ายขวา และมีคนขับที่ต้องไปด้วยกันทั้งองคาพยพ พร้อมด้วยการเบรกถูกจังหวะ เลือกยางได้ถูกเวลา ถึงจะชนะ
ซึ่งปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่เรื่องการเบรกให้ถูกจังหวะหรือเลือกยางให้ถูกสภาพอากาศ แต่ปัญหาของเศรษฐกิจไทยคือ เรื่องเครื่องยนต์กับพวงมาลัยที่เป็นหน้าที่ของภาคการคลัง เพราะเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าควรจะเอาเงินไปใส่ตรงไหน จะเร่งอย่างไร ขณะนี้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่เครื่องยนต์วิ่งไม่ออก หมุนพวงมาลัยไม่ถูกทาง เร่งเครื่องไม่ไหว แต่ก็เข้าใจได้ว่าอาจจะเร่งยากอยู่ เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้งส่งออกและท่องเที่ยวก็แผ่ว เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่ไม่มีแรง
“ไม่มีใครมาทาบทาม แต่อาจจะเป็นชื่อที่อยู่ในจินตนาการหมู่ ก็ขอขอบคุณที่นึก แต่เชื่อว่าอยู่ตรงนี้กับทีทีบีก็ช่วยสร้างประโยชน์ได้ระดับหนึ่ง และช่วยเหลือคนได้มากกว่า อยู่ตรงนี้กับคนในองค์กรทีทีบีก็เหมือนเป็นรถทั้งคัน ที่แม้จะเป็นรถในสนามโกคาร์ตไม่ใช่ F1 ซึ่งในบทบาทนี้ก็พร้อมร่วมมือกับรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็พร้อมที่จะชวนนายแบงก์ไปช่วยด้วยกัน”
อย่างไรก็ดี เหมือนถามถึงภาพของ “ธนาคาร” ที่มักจะถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในสายตาคน ปิติกล่าวว่าธนาคารถูกมองเป็นผู้ร้ายมาตลอด แต่หากทุกคนเรียกร้องสิทธิว่าธนาคารจะต้องให้เงินกู้ และธนาคารมีหน้าที่ให้เงินกู้ แต่ในทางกลับกันคนไม่ได้มองว่าต้องมีหน้าที่จ่ายภาษีถูกต้อง ต้องทำงบฯ ให้ถูกต้อง จนธนาคารไม่สามารถให้กู้ได้
ซึ่งมุมมองที่ว่าธนาคารกำไรสูงแต่ไม่ให้กู้รายย่อย แต่หากมองแค่ทีทีบีที่ 70% เป็นพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ก็สะท้อนว่าธนาคารยังให้สินเชื่อแก่รายย่อยมากกว่ารายใหญ่ และยังมีอีกหลายธนาคารในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่ปล่อยสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งมีไม่กี่แห่งที่มีการให้สินเชื่อรายใหญ่มากกว่ารายย่อย เพราะยังไม่ถนัด แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ให้สินเชื่อแก่รายย่อย
“เมื่อให้กู้ไม่ได้ก็จะไปทวงให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือรัฐบาลแก้ไขให้ธนาคารปล่อยกู้ สุดท้ายธนาคารก็จะถูกตราหน้าให้เป็นแม่มด แต่เป็นแม่มดที่ถูกปิดปากห้ามตอบโต้ในความไม่สมดุลเช่นนี้ต่อไป”