ส่องเทรนด์ออมเงินแต่ละประเทศ ใช้วิธีไหน ออมเงินตึง-ผ่อนอย่างไร ?

ส่องเทรนด์การออมเงินของแต่ละประเทศ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ใช้วิธีไหนเก็บเงินกันบ้าง ?

หลังจากมีมาตรการสนับสนุนการออมอย่าง “หวยเกษียณ” มาตอบโจทย์ประชาชนคนไทยที่ชอบเสี่ยงดวงแต่ก็ยังสามารถออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคตได้ เป็นทางเลือกนอกจากประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต และประกันสังคมที่อาจไม่ใช่ทางเลือกของคนบางกลุ่ม

นอกจากมาตรการหรือการประกันดังกล่าวจะช่วยให้เก็บเงินได้อย่างเคร่งครัดเนื่องจากต้องจ่ายเบี้ยประกันในทุก ๆ งวด หลายคนก็เลือกวิธีการออมเงินด้วยตัวเองในชีวิตประจำวัน เพื่อจัดระเบียบชีวิตแบบง่าย ๆ ก่อนที่จะนำไปต่อยอดด้านการลงทุนต่าง ๆ

ประชาชาติธุรกิจ พาไปส่งเทรนด์การออมของแต่ละประเทศ ว่าแบ่งการใช้เงินอย่างไร โหดแค่ไหน และมีวิธีไหนที่เราเอาไปปรับใช้ได้บ้าง ?

ญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นมีเทรนด์การเก็บออมที่ชื่อ Kakeibo (คะเคโบะ) แปลว่า สมุดบัญชีครัวเรือน จากหนังสือเรื่อง Kakeibo: The Japanese Art of Budgeting & Saving Money ของฟูมิโกะ ชิบะ ในปี 2561 ที่บอกเล่าที่มาของแนวคิดนี้ว่ามาจากฮานิ โมโตโกะ (Hani Motoko) นักข่าวหญิงคนแรกของญี่ปุ่นที่ต้องการหาทางช่วยเหล่าแม่บ้านในการจัดการงบประมาณรายรับ-จ่ายของครอบครัว

ย้อนกลับไปในยุคนั้น (ปี 1904) ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกบ้าน เงินออมที่เป็นของตัวเองจึงสามารถเก็บได้จากเงินของสามีที่เหลือจากการใช้จ่ายในบ้าน เริ่มต้นจากการจดรายรับ-รายจ่ายทั้งแบบรายวันและรายสัปดาห์ แบ่งออกเป็นหมวดต่าง ๆ และทำมันอย่างสม่ำเสมอ

ADVERTISMENT

รายจ่ายทั่วไป : สิ่งที่ขาดไม่ได้ เช่น ค่าเช่า อาหาร และค่าเดินทาง

สิ่งที่อยากได้ : สิ่งที่คุณชอบซื้อแต่ไม่จำเป็น เช่น กินข้าวนอกบ้าน เสื้อผ้าใหม่ และงานอดิเรก

ADVERTISMENT

งานอดิเรก : การใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น หนังสือ เข้าชมพิพิธภัณฑ์ และคอนเสิร์ต

กิจกรรมฉุกเฉิน : สิ่งที่ไม่ได้จ่ายเงินเป็นประจำ เช่น ค่าซ่อมแซม ของขวัญที่ไม่คาดคิด หรือเหตุฉุกเฉิน

หลักสำคัญของวิธีการออมนี้คือ การตั้งคำถามกับตัวเองทุกครั้งที่จะจับจ่าย โดยที่เราต้องมีคำตอบว่า ทำไมถึงเลือกซื้อของสิ่งนี้ด้วยเหตุผลที่หนักแน่น ซึ่งหากเราไม่มีคำตอบที่มากพอ แสดงว่าของสิ่งนั้นไม่ได้มีความจำเป็นต่อเราขนาดนั้น ตัวอย่างคำถามที่จะช่วยเราเซฟเงินในกระเป๋า ได้แก่

  • มีรายรับเท่าไหร่
  • มีรายจ่ายเดือนนี้ทั้งหมดเท่าไหร่
  • มีเงินพอเหลือเก็บหรือไม่
  • เงินเก็บในปัจจุบันเพียงพอต่อยามฉุกเฉินไหม
  • เดือนถัดไปควรวางแผนบริหารเงินอย่างไร

จีน

จีนเคยมีเทรนด์การออมที่เป็นกระแสทั่วโซเชียลมีเดียว่า “Revenge Spending” จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว โดยเด็กรุ่นใหม่จะตั้งเป้ารายจ่ายต่อเดือนแบบต่ำสุดขีด แล้วนำเงินทั้งหมดไปออม

ยกตัวอย่างคนจีนวัย 26 ใช้ชื่อบัญชีในโซเชียลว่า ‘Little Zhai Zhai’ อธิบายว่า เขาจำกัดรายจ่ายตนเองให้ไม่เกิน 41.28 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,444 บาทต่อเดือน ตกเป็นค่าอาหารเพียง 1.38 ดอลลาร์ หรือประมาณ 48 บาทต่อวันเท่านั้น

Shaun Rein ผู้จัดการของ China Market Research เผยว่า วัยรุ่นจีนกำลังใช้ชีวิตอยู่บนแนวคิดการออมเงินอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งแตกต่างจากวัยรุ่นสมัยปี 2010 ที่ต้องการใช้เงินมากกว่าที่หาได้ และยอมกู้เงินเพื่อมาซื้อของใช้แพง ๆ อย่างกระเป๋า Gucci และ iPhone

สิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีนโยบายภาครัฐด้านการออมเพื่อการเกษียณที่มีความครอบคลุมมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund – CPF) ที่เป็นระบบประกันสังคมที่บริหารจัดการโดย Central Provident Fund Board ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงานสิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์ถือว่าเป็นประเทศแห่งการเก็บออมประเทศหนึ่ง ด้วยนโยบายรัฐที่สนับสนุนด้านการออมเพื่อการเกษียณของประชาชน โดยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (CPF) เป็นเสาหลักสำคัญของระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมของสิงคโปร์ โดยในบัญชีกองทุนฯสำหรับทุกคนจะแบ่งออกเป็น 3 บัญชี  ได้แก่

  • สำหรับที่พักอาศัย การลงทุน และการศึกษา
  • สำหรับการเกษียณอายุ และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเกษียณอายุ
  • เพื่อการรักษาพยาบาล และเพื่อประกันสุขภาพ

เมื่อผู้ประกันตนอายุ 55 ปี สองบัญชีแรกจะยุบรวมเป็นบัญชีเพื่อการเกษียณอายุเพื่อบัญชีเดียว โดยกำหนดอัตราเงินสมทบ และสะสมเข้ากองทุนอยู่ในระดับสูง อัตราที่นายจ้างต้องสมทบทุนคือ 17% ขณะที่ลูกจ้างจะถูกหักเงินจากบัญชีเพื่อสะสม 20% นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกันขั้นต่ำอัตราสำหรับเงินออมเหล่านี้ที่อัตราดอกเบี้ยประมาณ 2.5-5.0% ตามประเภทบัญชี

และเมื่ออายุครบ 65 ปี สมาชิกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนด จะถูกจัดเข้าโครงการ The CPF Lifelong Income for the Elderly (CPF LIFE) โดยจะได้รับเงินรายเดือนตลอดชีวิตตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป

ข้อมูลจาก chase , CNBC , CPF