
จัดฉากฆ่าเอาเงินประกัน 14 ล้าน คปภ.-15 บริษัทประกัน เอาผิดตามกฎหมายฉ้อฉลประกันภัย โทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยฯ ข้อหายื่นคำร้องเป็นเท็จเพื่อขอรับค่าสินไหม โทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวในงานแถลงข่าวแนวทางการกำกับดูแลกรณี “การจัดฉากฉ้อฉลฆาตกรรมเอาเงินประกันภัย มูลค่ารวมกว่า 14.1 ล้านบาท” ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดเหตุขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เวลาประมาณ 21.00 น. โดยในคดีนี้มีรถกระบะเกี่ยวข้อง 3 คัน ซึ่งพบว่ารถทั้ง 3 คัน ได้มีการทยอยทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่คันละฉบับ รวมเป็น 22 ฉบับ และมีการทำประกันรถภาคสมัครใจอีกจำนวน 6 ฉบับ รวมกรมธรรม์ทั้งหมด 28 ฉบับ จากทั้งหมด 15 บริษัทประกันภัย โดยพบว่ามีการทำประกันภัยในช่วง 6-18 วัน ก่อนเกิดเหตุถึง 19 ฉบับ
“จะเห็นว่ามีการทำประกันรถไว้มากผิดปกติ และรถบางคันมีกรมธรรม์มากถึง 16 ฉบับ โดยความคุ้มครองของรถทั้ง 3 คัน ประกอบด้วย ความคุ้มครองตามประกัน พ.ร.บ.กรมธรรม์ละ 500,000 บาท รวม 22 ฉบับ วงเงินเอาประกัน 11 ล้านบาท ความคุ้มครองตามประกันรถภาคสมัครใจ กรมธรรม์ละ 500,000 บาท รวม 6 ฉบับ วงเงินเอาประกัน 3 ล้านบาท และความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย อุบัติเหตุส่วนบุุคคล กรมธรรม์ละ 100,000 บาท รวมวงเงินเอาประกันภัยทั้งหมด 14.1 ล้านบาท” นายกสมาคมกล่าว
โดยหลังจากวันเกิดเหตุ 4 วัน หรือประมาณวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 นายสกล สอนแก้ว (ผู้รับมอบอำนาจ) ไปติดต่อยื่นเบิกค่าสินไหมทดแทนกับ บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย โดยบริษัททำการนัดหมายเพื่อชี้แจงในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568
หลังจากนั้นอีกประมาณ 7 วัน มีการไปใช้สิทธิในหลายบริษัทประกันภัยและในหลายพื้นที่ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.00 น. นายวรรณพงษ์ ศิริกิต (ผู้รับมอบอำนาจ) ไปติดต่อยื่นเบิกค่าสินไหมทดแทนกับ บมจ.ทิพยประกันภัย สาขามุกดาหาร และเวลา 17.00 น. นายสกล สอนแก้ว ไปติดต่อยื่นเบิกค่าสินไหมทดแทนกับ บมจ.เทเวศประกันภัย สาขามุกดาหาร และมีการไปใช้สิทธิยื่นเบิกค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด
อย่างไรก็ดีในระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2568 บริษัทกลางฯ ได้ประสานงานตรวจสอบข้อมูลการเอาประกันภัยและการยื่นคำร้องจากบริษัทประกันทั้ง 15 บริษัท และมีการประสานงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คณะกรรมการกฎหมาย และคณะกรรมการยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อประชุมร่วมกันเพื่อสรุปแนวทางการดำเนินการ เนื่องจากพบประเด็นน่าสงสัยตามที่ได้กล่าวไปแล้ว และประสานงานสาขาสกลนครเพื่อนัดหมายเข้าพบผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สกลนคร ก่อนที่จะนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิด
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเข้าข่ายการฉ้อฉลประกันภัย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 สำนักงาน คปภ.ได้เชิญผู้แทนบริษัทประกันภัย 15 บริษัท เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนะนำให้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อสถานีตำรวจภูธร จ.สกลนคร ในข้อหา “ฉ้อฉลประกันภัย” ซึ่งทางบริษัทประกัน 15 บริษัท ได้ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
โดยตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย มาตรา 108/4 ระบุว่าผู้ใดเรียกร้องผลประโยชน์กรมธรรม์โดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง/ผู้ใดกระทำการให้การช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกต่อผู้อื่นกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยฯ มาตรา 45 ผู้ใดยื่นคำร้องเป็นเท็จเพื่อขอรับค่าสินไหมทดแทน จะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ในเหตุการณ์ครั้งนี้บริษัทประกันภัยไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเนื่องจาก 1.เหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นเจตนาก่อให้เกิดความเสียหาย และ 2.เข้าข่ายฉ้อฉลประกันภัย ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ บริษัทประกันไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน และสามารถแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่ต้องคืนค่าเบี้ยประกันภัย
ทั้งนี้ภารกิจของสำนักงาน คปภ. ที่ผ่านมา ได้มีการ MOU ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หากมีกรณีฉ้อฉลประกันภัยจะส่งสำนวนไปให้ดำเนินคดี โดยการตรวจจับการฉ้อฉลในปัจจุบัน คปภ. ก็ได้ยกระดับในการนำปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้งานเพื่อให้การดำเนินการมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
โดยจำนวนคดีที่เกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ขณะนี้มีการส่งสำนวนไปให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะกล่าวโทษกว่า 40 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 50 ล้านบาท และเตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษอีก 21 คดี
“สำนักงาน คปภ. จริงจังในการตรวจจับการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อไม่ให้เกิดการเคลมที่ผิดกฎหมาย และไม่อยากให้กระทบต่อการขึ้นเบี้ยลูกค้าและความเชื่อมั่นของธุรกิจประกันภัย”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการตรวจจับการฉ้อฉลของ คปภ. ตั้งระบบ AI ในการตรวจจับมุ่งเป้าไปที่วงเงินเอาประกันสูง ๆ เบี้ยประกันสูง ๆ เป็นหลัก เพื่อให้คัดกรองข้อมูลได้อย่างแม่นยำ ไม่เช่นนั้นฐานข้อมูลที่เข้ามาจะเป็นล้าน ๆ รายการ แต่จากกรณีประกัน พ.ร.บ. ที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะการฉ้อฉล เล่นในวงเงินเอาประกันต่ำ ๆ เบี้ยประกันน้อย ๆ แต่อย่างไรก็ตามด้วยระบบฐานข้อมูลกลางด้านประกันวินาศภัย (Insurance Bureau System) และการหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย เกี่ยวกับ พ.ร.บ.เรียลไทม์ ที่จะทำให้ คปภ.เห็นและสามารถ Detect ได้ทันทีว่ารถคันนี้มีประกัน พ.ร.บ. เพิ่มขึ้นกี่ฉบับ
“นี่คือจุดที่จะค่อย ๆ เปลี่ยน เราจะไม่หยุดนิ่ง เพราะแฟ็กเตอร์ในการจับจะต้องเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์” เลขาธิการ คปภ. กล่าว