
แบงก์ชาติ จับมือ 5 หน่วยงาน ยกระดับสกัดบัญชีม้านิติ หลังแบงก์เข้มเปิดบัญชีบุคคล-ระงับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หนุนมิจฉาชีพหันเปิดตั้งบัญชีนิติบุคคลหลอกหลวง ด้าน “บช.สอท.-ปปง.-CIB-AOC-DBD” เร่งแชร์ข้อมูลบุคคลมีความเสี่ยงสูง หรือ HR-03 ตรวจจับตั้งบริษัท ชี้พบว่า 1 พันรายเสี่ยงบัญชีม้า
นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ดำเนินการปราบปรามบัญชีม้าระยะหนึ่ง ทำให้บัญชีม้าจากบุคคลไปสู่บัญชีนิติบุคคล ส่งผลให้ ธปท. ต้องขยายผลและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตรวจพบบัญชีม้านิติบุคคลจำนวนหนึ่ง และมองไประยะข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ธปท.จึงต้องดำเนินการมาตรการและความร่วมมือล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากบัญชีม้านิติบุคคล โดยถอดแบบการติดตามและดูแลจากมาตรการบัญชีม้าบุคคล
โดยเบื้องต้นบัญชีนิติบุคคลเป็นม้าตามรายชื่อข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในส่วนของภาคธนาคารที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ กันเงินเข้า-ออก การเปิดบัญชีใหม่ และการสมัครบริการอื่นเพิ่มเติม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะดำเนินการเพิ่มเติม คือ ผู้เกี่ยวข้องนิติบุคคล เช่น กรรมการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลตาม ปปง. กรณีที่มีบัญชีอยู่แล้ว จะทยอยดำเนินการกันเงินออกช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และเปิดบัญชีใหม่ และสมัครบริการอื่นเพิ่มเติม สำหรับนิติบุคคลที่มีรายชื่อเป็นบัญชีม้าดำ-ม้าเทาจากรายชื่อ ปปง.และศูนย์ Central Fraud Registry (CFR) มาเปิดบัญชีใหม่ จะเห็นว่าธนาคารบางธนาคารได้ดำเนินการกันการเปิดบัญชีใหม่และสมัครบริการอื่นเพิ่มแล้ว
“ธปท.มุ่งหวังความร่วมมือในการยกระดับการจัดการบัญชีม้านิติบุคคลครั้งนี้จะป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำบัญชีนิติบุคคลไปใช้กระทำความผิดรวมถึงการกำหนดมาตรการจัดการการถ่ายโอนเงินผ่านช่องทางสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อแก้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินให้ได้ครบวงจร โดยที่ผ่านมาข้อมูล ณ สิ้นเดือนมกราคม 68 ทั้งระบบได้มีการระงับบัญชีม้า 3 สีไปแล้ว 1.4 แสนคน หรือ 1.92 ล้านบัญชี โดยเป็นการระงับม้าดำแล้ว 7 หมื่นคน หรือ 7 แสนบัญชี”
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน มีคดีอาญชกรรมทางออนไลน์ราว 8 แสนบัญชี มูลค่าความเสียหาย 7-8 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยมูลค่าความเสียหายหมื่นล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากหลังมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ภัยไซเบอร์) และธนาคารมีการยกระดับการป้องกัน ทำให้บัญชีม้าหายากขึ้น ส่งผลให้มิจฉาชีพหลบเลี่ยงโดยการหันไปเปิดบัญชีนิติบุคคล หรือบุคคลที่มีรายชื่อเสี่ยงสูงต่อการฟอกเงิน (HR-03) มากขึ้น โดย บช.สอท.จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลบัญชี HR-03 ไปยังศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) และส่งต่อข้อมูลไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) เพื่อตรวจสอบต่อไป
พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผู้บังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กล่าวว่า การป้องกันของ CIB คือ การแยกข้อมูลการเป็นบัญชีม้านิติบุคคล และบัญชีนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจจริง โดยมีการส่งข้อมูลรายชื่อผู้ที่เข้าข่าย้องสงสัยไปยัง DBD ในการดูแลการจัดตั้งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
ทั้งนี้ รูปแบบการจัดตั้งนิติบุคคลที่เป็นบัญชีม้า คือ กรรมการและผู้บริหารจะเป็นชุดเดียวกัน และมีรายชื่อซ้ำกันในหลายบริษัท โดยไม่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจหรือกิจกรรม และการจัดตั้งไม่เป็นไปตามขั้นตอน เช่น ไม่มีการเรียกประชุม พื้นที่การจัดตั้งบริษัทซ้ำกัน และทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท ตั้งไม่เกิน 1 ปี โดยมีอัตราจ้างการเปิดบัญชี 1-1.5 แสนบาทต่อปี
“ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีการตรวจค้นบริษัทที่รับทำบัญชีกว่า 23 จุด กระจายทั่วประเทศ พบว่ามีบริษัทรับจ้างทำบัญชี 190 บริษัท มีมูลค่าความเสียหาย 800 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียน 5,000 ล้านบาท โดยมีการดำเนินคดีแล้ว และมีการส่งรายชื่อและเอาข้อมูลมาแยกแยะบัญชีม้าและบัญชีปกติ”
นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า บทบาทของ ปปง.ได้มีการกำหนดเกณฑ์บัญชีม้า เพื่อบริหารความเสี่ยง โดยมีการกำหนดนิยามบัญชีม้านิติบุคคล (HR-03) และจะมีการแยกเป็น HR-03-1 และ HR 03-2 ซึ่งเป็นบุคคลหรือบัญชีที่มีความเสี่ยงสูง
โดยจะมีการรายงานมายัง ปปง.และ ปปง.จะมีการส่งรายชื่อไปยังสถาบันการเงินในการกำหนดรายชื่อห้ามทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันมีรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ราว 7 แสนรายชื่อ โดยมีการจำกัดการทำธุรกรรมบนอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว 7 แสนบัญชี
นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (ศูนย์ AOC) มีหน้าที่หลักในการให้บริการสายด่วนหมายเลข 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง แบบ One Stop Service ให้กับผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ และนำรายชื่อส่งไปยังศูนย์ CFR เพื่อให้สถาบันการเงินระงับการทำธุรกรรมบัญชี
อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะทำเพิ่มเติม คือ หมายเลขโทรศัพท์ที่มีการโทร.หาผู้เสียหายหลังจากนี้จะมีการให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตรวจสอบซิมมือถือว่าอยู่สถานที่ หรือพื้นที่ตั้งส่วนไหน จะจำกัดการเคลื่อนไหวของมิจฉาชีพให้ทำได้ยากขึ้น
“การเปิดบัญชียากมากขึ้น หรือการโอนเงินไปยังบัญชีอื่นยากขึ้น ทำให้มิจฉาชีพไปเปิดบัญชีนิติบุคคล ซึ่งทำให้ธนาคารวางใจในการเปิดรูปแบบบริษัท หรือการถือครองซิมมือถือได้ไม่จำกัด ซึ่งเราเห็นสัญญาณแบบนี้มาเป็นปีแล้ว จึงเริ่มมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา เช่น ให้ผู้ใช้บริการโมบายแบงกิ้งที่ชื่อบัญชีไม่ตรงกับเบอร์มือถือ 3.5 ล้านราย ที่เปิดบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 ให้เข้ามายืนยันตัวตน อย่างไรก็ดี กฎหมายต่าง ๆ จะต้องตามให้ทันด้วย”
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ DBD กล่าวว่า DBD ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับ AOC และมีการกำหนดมาตรการเข้มในการจัดการบัญชีม้านิติบุคคลที่มีรายชื่อ HR-03 โดยดำเนินการ 2 เรื่องด้วยกัน
คือ 1.นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ได้มีการออกคำสั่งผู้ที่มาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจะมีการตรวจสอบรายชื่อตาม HR-03 หากมีรายชื่อจะต้องมายืนยันตัวตนจึงจะสามารถจดทะเบียนได้ รวมถึงจะมีการติดแท็กชื่อส่งไปยัง AOC เพื่อให้ AOC ส่งข้อมูลไปให้สถาบันการเงินเพื่อให้สถาบันการเงินรู้ว่ามีความเสี่ยงเป็นบัญชีม้า
และ 2.ข้อมูลและรายชื่อจะมีการอัพเดตเป็นระยะ ๆ และนำมาตรวจสอบในถังข้อมูลของ DBD หากมีรายชื่อในถัง HR-03 จะมีการส่งรายชื่อไปยัง AOC ซึ่งปัจจุบันมีการตรวจสอบพบว่ามีอยู่ 7.8 หมื่นรายชื่อ โดยพบว่ามี 1,043 รายชื่อที่อยู่ในถังข้อมูลของ DBD
“นอกจากนี้ DBD จะมีอีก 6 มาตรการด้วย อาทิ 1.มีการตรวจสอบระบบคำขอ โดยพบว่ามีคำขอตรวจสอบ 4,835 ครั้ง และพบว่าที่อยู่ไม่ถูกต้อง 6 ราย มี 19 บริษัท 2.กรณีบริษัทที่ไม่มีที่ตั้ง 3.ร่วมกับไปรษณีย์ไทยตรวจสอบข้อมูลว่าบริษัทมีที่ตั้งตรงไหน น่าเชื่อถือหรือไม่ 3.มีระบบวิเคราะห์นิติบุคคลว่ากรรมการหรือผู้บริหารมีความผิดปกติหรือไม่ และนำข้อมูลไปแชร์กับหน่วยงานอื่น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงกลางปีนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นมาตรการเพิ่มเติม”