
ดอลลาร์เคลื่อนตัวในกรอบ ขณะตลาดจับตาผลการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่าภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 10-14 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (10/3) ที่ระดับ 33.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/3) ที่ระดับ 33.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยถูกกดดันจากการฟื้นตัวของดอลลาร์ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 151,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.พ. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 159,000 ตำแหน่ง
อีกทั้งปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ม.ค. เป็นเพิ่มขึ้น 125,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 143,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.1% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.0% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นสัญญาณเชิงลบจากตลาดแรงงานสหรัฐ
ต่อมานายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เฟดจะรอคอยความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนที่เฟดจะดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูงต่อการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้น เฟดจึงไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ โดยเฟดจะเฝ้ารอสำหรับความชัดเจนมากขึ้น
โดยไม่มีการกำหนดทิศทางนโยบายไว้ล่วงหน้า และจุดยืนนโยบายในขณะนี้สามารถรับมือกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่กำลังเผชิญอยู่ในการยึดมั่นพันธกรณีในการรักษาเสถียรภาพของราคา และการทำให้การจ้างงานเต็มศักยภาพ โดยเศรษฐกิจสหรัฐกำลังมีการขยายตัวที่ดี ขณะที่ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อกำลังไปสู่เป้าหมายที่เฟดกำหนดไว้
อย่างไรก็ดี ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นจากระดับอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ที่ 103.21 ถึงแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่เผยแพร่มาในช่วงปลายสัปดาห์จะแสดงถึงการชะลอตัว โดยในวันพุธ (12/3) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ปรับตัวขึ้น 2.8% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% และต่ำกว่าระดับ 3.0% ในเดือน ม.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.1% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.2% และต่ำกว่าจากระดับ 3.3% ในเดือน ม.ค.
และในวันพฤหัสบดี (13/3) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากเดือน ม.ค.ที่เพิ่มขึ้น 3.7% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.3% และดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากเดือน ม.ค.ที่เพิ่มขึ้น 3.8% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% ในประเด็นการค้าระหว่างประเทศ ในวันพุธ (12/3) สหรัฐประกาศบังคับใช้นโยบายขึ้นภาษีศุลกากร 25% ต่อการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ส่งผลให้สหภาพยุโรปและแคนาดาตอบโต้สหรัฐทันที
โดยแคนาดาประกาศเก็บภาษี 25% กับสินค้าสหรัฐ มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์แคนาดา (2.08 หมื่นล้านดอลลาร์) โดยมุ่งเป้าไปที่เหล็ก อะลูมิเนียม และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ มีผลบังคับใช้ในวันพฤหัสบดี (13/3) ด้านคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า จะใช้มาตรการขึ้นภาษีหลายรายการครอบคลุมสินค้ามูลค่าสูงถึง 2.6 หมื่นล้านยูโร (2.84 หมื่นล้านดอลลาร์)
ซึ่งมีมูลค่าใกล้เคียงกับภาษีที่สหรัฐเรียกเก็บ ในวันที่ 1 เมษายน เพื่อตอบโต้การกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของสหรัฐ ในวันพฤหัสบดี (13/3) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า จะตอบโต้สหภาพยุโรป ภาษีสุราและแอลกอฮอล์ จากสหภาพยุโรปมากถึง 200% ตอบโต้แผนของยุโรปที่จะคิดภาษีศุลกากร 50% แก่วิสกี้ที่นำเข้ามาจากสหรัฐ ในเดือนเมษายน ทำให้นักลงทุนปรับเข้าสู่โหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk off) และหันไปซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยในคืนวันพฤหัสบดี (13/3) ราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,993.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์
อย่างไรก็ดี ตลาดจับตาดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐที่จะประกาศในสัปดาห์หน้า วันที่ 18-19 มีนาคม 2568 ล่าสุด fedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการปะชุมวันที่ 18-19 มี.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือน มิ.ย. และปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเดือน ก.ค. รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.50-3.75% ในการประชุมเดือน ต.ค. ก่อนที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนสิ้นปี 2568
สำหรับปัจจัยภายในประทเศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ก.พ. 68 อยู่ที่ 10.55 หรือเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.08% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YOY) ขณะที่ตลาดคาด 1.10-1.15% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.พ. 2568 อยู่ที่ 101.25 หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.99% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 0.91%
อย่างไรก็ดีในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงแตะระดับ 33.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วไป แต่อย่างไรก็ดีค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสู่ระดับ 33.61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงวันศุกร์ (14/3) หลังราคาทองคำที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,999 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ส่งผลให้มีแรงขายดอลลาร์เพื่อทำกำไรของผู้ค้าทองคำในประเทศ
โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.62-33.97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/3) ที่ระดับ 33.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (10/3) ที่ระดับ 1.0852/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/3) ที่ระดับ 1.0860/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยถูกกดดันจากการฟื้นตัวของดอลลาร์ รวมถึงความไม่แน่นอนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
นอกจากนี้ มีการประกาศผลิตภัณฑ์มวลรวมของยุโรป ไตรมาส 4 ขยายตัวที่ระดับ 1.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์และการประมาณการขั้นต้นที่ 0.9% ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจยุโรปขยายตัวได้ดีกว่าคาดการณ์เล็กน้อย ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินยูโรอ่อนค่า เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายภาษีการค้า หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า จะตอบโต้สหภาพยุโรป หลังจาก EU ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐครอบคลุมสินค้ามูลค่าสูงถึง 2.6 หมื่นล้านยูโร
อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ (14/3) คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงอันเนื่องมาจากภาษีการค้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ อาจส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ ทั้งในแง่ของการเติบโตและราคาสินค้าทั่วโลก ซึ่งในประวัติศาสตร์การค้าที่ผ่านมา อาจทำให้บางประเทศเจ็บปวดกว่าประเทศอื่น ขณะที่บางประเทศเงินเฟ้อพุ่งมากกว่าประเทศอื่น ท้ายที่สุดทุกคนล้วนเป็นผู้แพ้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0807-1.0919 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/3) ที่ระดับ 1.0853/1.0855 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (10/3) ที่ระดับ 147.42/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/3) ที่ระดับ 147.44/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยถูกกดดันจากการฟื้นตัวของดอลลาร์ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2.576 แสนล้านเยน (1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือน ม.ค. โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ญี่ปุ่นขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากยอดนำเข้าทะยานขึ้น 17.7% แตะระดับ 10.44 ล้านล้านเยน
ในวันพฤหัสบดี (13/3) คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณถึงการทยอยลดมาตรการกระตุ้นการเงิน โดยแสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการบริโภคในประเทศ พร้อมย้ำจุดยืนในการปรับลดขนาดงบดุล ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นอาจเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงจากต้นทุนการนำเข้าที่ลดลง แต่ค่าจ้างยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงคาดว่าค่าจ้างที่แท้จริงและการบริโภคจะปรับตัวดีขึ้นในท้ายที่สุด นอกจากนี้สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า (19/3) และคาดว่าที่ประชุมจะหารือกันในประเด็นที่ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นนั้น มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากเพียงใด
ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญต่อการกำหนดช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปของ BOJ รวมถึงคาดว่านักลงทุนจะจับตาการแถลงข่าวภายหลังการประชุมของคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ซบเซานั้น จะส่งผลกระทบต่อแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BOJ หรือไม่
ซึ่งในปัจจุบันกรรมการ BOJ หลายคนมองว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ยังคงผลักภาระต้นทุนวัตถุดิบและแรงงานที่สูงขึ้นไปให้กับผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline Inflation) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4% ในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.56-149.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/3) ที่ระดับ 148.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ