SCB EIC คง GDP ปี 2568 ที่ 2.4% เตือนภาคส่งออกรับมือ “ทรัมป์ 2.0”

SCB EIC Economic Thailand เศรษฐกิจ ประเทศไทย

SCB EIC คง GDP ปี 2568 ที่ 2.4% แรงหนุนท่องเที่ยว แจกเงินหมื่นเฟสที่เหลือ และการลงทุนภาครัฐ ส่งออกเสี่ยงจากนโยบายทรัมป์ 2.0 มองแนวคิดซื้อหนี้บริหารต้องทำรอบคอบ-ดูแหล่งที่มาของเงินทุน ป้องกันระวัง Moral Hazard

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า SCB EIC ยังคงมุมมองต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 2.4% ชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่ขยายตัวได้ 2.5% มาจากแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการ 10,000 บาทเฟสที่เหลือ และการลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการเร่งเบิกจ่าย

ในขณะที่การส่งออก นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนของไทย ซึ่งเศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้า ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยพึ่งตลาดสหรัฐมากขึ้น

โดยมุมมองผลกระทบต่อธุรกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายภาษี Reciprocal Tariffs และ Specific Tariffs ของสหรัฐ ที่คาดว่าจะกระทบกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี เป็นต้น

ส่วนภาคการผลิตไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในปีนี้ ด้วยส่วนหนึ่งมาจากนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าทุนและวัตถุดิบ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากนโยบายของทรัมป์ 2.0 และจากปัญหาโครงสร้างการผลิตที่ยังอ่อนแอ

ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนของนโยบายภาษีในช่วงไตรมาสที่ 2/68 ทำให้กระทบภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากไทยมีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐ ถึง 18% โดยอีไอซีคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวเพียง 1.6% จากปีก่อนที่เติบโต 5.8%

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกัน กรณีที่สหรัฐมีการเรียกเก็บภาษีทุกประเทศในอัตราเท่ากันที่ 10% จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างเยอะ โดยการคาดการณ์จะกระทบต่อจีดีพีไทยประมาณ 1% ขณะที่การนำเข้าจะเจอแรงกดดันของสินค้าจีนและประเทศอื่นที่หลบเลี่ยงจากกำแพงภาษี ทำให้สัดส่วนการนำเข้าจะมีมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยมีสัดส่วนนำเข้าจากจีนประมาณ 25% ของการนำเข้าทั้งหมด ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันกระทบต่อภาคการส่งออก-นำเข้าของไทยในระยะข้างหน้า

ADVERTISMENT

พร้อมกันนี้ธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยเริ่มเปลี่ยนจากการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐ เปลี่ยนเป็นการเข้ามาแข่งขันกับตลาดในประเทศมากขึ้น ส่วนภาพการลงทุนภาคเอกชนแม้จะกลับมาขยายตัวในปีนี้จากที่หดตัวแรงในปีก่อน แต่เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าทุนตามกระแสการลงทุนทางตรงจากต่างชาติเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนในประเทศด้านอื่นยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก

“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของโลก สะท้อนอาการแผลเป็นโควิดหลายมิติ ซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไข ทั้งแผลเป็นภาคธุรกิจ แผลเป็นภาคครัวเรือน สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีที่ยังสูงเกือบ 90% และแผลเป็นภาคการคลัง เห็นได้จากหนี้สาธารณะสูงขึ้นมากเทียบก่อนโควิดและมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้ 70% ในอีกไม่กี่ปี

คาด กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง

ดร.ยรรยง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจัยบวกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ยังคงต้องติดตามประเด็นทางด้านความปลอดภัยและเศรษฐกิจคู่ค้า โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2568 จะอยู่ที่ 38.2 ล้านคน ชะลอตัวจาก 38.8 ล้านคน

และการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจาก 2.1% เป็น 2.6% เป็นผลมาจากโครงการดิจิทัลวอลเลต 1.4-1.5 แสนล้านบาทของภาครัฐ ตลอดจนการใช้จ่ายภาครัฐที่มีการลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ทยอยเพิ่มขึ้น อาจทำให้เม็ดเงินใช้จ่ายมีจำกัดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี อีกปัจจัยที่สำคัญคือประเด็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนับจากโควิด-19 เป็นต้นมา โดยประเทศไทยนับเป็นลำดับท้าย ๆ ที่อัตราการเติบโตของจีดีพีกลับมาสู่ช่วงก่อนโควิด-19 (2562) ได้โดยใช้เวลาถึง 4 ปี อันเนื่องมาจากประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาภาคท่องเที่ยวสูง และปัญหาเชิงโครงสร้าง และหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้รายได้ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาความมั่งคั่งหรือรายได้ที่หายไปสูงถึง 6 ล้านล้านบาท โดยก่อนโควิด-19 จีดีพีไทยขยายตัว 4% แต่หลังโควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.1%

“เทรดวอร์ จะกระทบเศรษฐกิจไทย โดยส่งออกชะลอตัว และการนำเข้าสูงขึ้น ซึ่งต่อไปจะกระทบภาคผลิต การจ้างงานระดับถัดไป แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยมากขึ้น แต่เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้ไทยเป็นเป้าหมายตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐได้

สำหรับนโยบายการเงิน มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายนและครึ่งหลังของปี โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่อยู่ 2.00% ลงมาอยู่ที่ 1.50% ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากภาวะการเงินตึงตัวมากขึ้น และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ 0.7% ลดลงจาก 1% เป็นผลมาจากราคาน้ำมันปรับลดลง

มองซื้อหนี้เสีย ต้องดูที่มา ระวัง Moral Hazard

ดร.ยรรยง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวคิดการรับซื้อหนี้จากระบบธนาคาร หรือการจัดตั้ง AMC นั้น มองว่า ตอนนี้อาจจะไม่สามารถคอมเมนต์ได้ เนื่องจากยังไม่รู้แนวทางและหลักการของมาตรการดังกล่าว แต่เบื้องต้นเชื่อว่าทุกภาคส่วนพยายามเสนอไอเดียการแก้หนี้ อย่างไรก็ดี การแก้หนี้ได้ยั่งยืนจะต้องเพิ่มรายได้ของประชาชนด้วย และภาคธนาคารพยายามประคับประคองลูกหนี้ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถของลูกค้า

อย่างไรก็ดี กรอบสำคัญของแนวทางการับซื้อหนี้ จะตัองมองแบบบูรณาการ โดยจะมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ที่มาของแหล่งเงินทุนจะมาจากไหน เพราะจะเป็นภาระทางการคลัง และ 2.จะต้องพิจารณาเรื่องวัฒนธรรมจงใจผิดชำระหนี้ หรือวินัยทางการเงิน (Moral Hazard) โดยจะต้องบาลานซ์ประเด็นเหล่านี้ให้ดี

นอกจากนึ้ จะต้องมีกระบวนการการฟื้นตัวได้ ทั้งในส่วนกระบวนการศาล เพื่อให้คนเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยได้ ขณะที่ประเด็นความกังวลในการก่อหนี้ใหม่ เชื่อว่าทางการสามารถใช้มาตรการ Macro-prudential ในการแก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ดีกว่า

“ตอนนี้ทุกภาคส่วนพยายามเสนอไอเดียในการแก้หนี้ แต่การแก้ปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจนั้น ไม่สามารถทำได้ในวันสองวัน ต้องใช้เวลาในการแก้ไข โดยต้องมองให้ครบรอบด้านอย่างบูรณาการ ซึ่งที่ผ่านมาภาคการเงินเอง ก็ได้ช่วยประคับประคองอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องทำในเรื่องของการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้เพิ่มของแรงงาน และธุรกิจควบคู่ไปด้วย

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังอยากให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นนั้น ยอมรับว่าสินเชื่อที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากความระมัดระวังของสถาบันการเงิน ในขณะที่ผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าความต้องการสินเชื่อใหม่ลดลงเช่นกัน จะเห็นได้ว่าเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทาน ดังนั้นหากมีมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ จึงเชื่อว่าจะทำให้ทั้งผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อมีความมั่นใจมากขึ้น และภาคธนาคารก็พร้อมสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ