DE-DGA เตรียมแจ้งเตือนข่าวปลอมภัยไซเบอร์ถึง 41 ล้านคนผ่าน “ทางรัฐ”

DE-DGA ร่วม MOU บูรณาการข้อมูล แจ้งเตือนข่าวปลอม-ภัยออนไลน์ ผ่านแอป “ทางรัฐ” ใช้เวลา 1 เดือน ปรับหน้าแอป เตรียมส่งถึงมือถือประชาชนกว่า 41 ล้านคน

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มทางรัฐ พัฒนาขึ้นให้เป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างรัฐและประชาชนได้โดยตรง เป็นสิ่งที่นำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล และจากปัญหาการหลอกลวงนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข

แอปพลิเคชั่นทางรัฐ สามารถสร้างกลุ่มและเชื่อมโยงกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นวิธีสำคัญในการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์และการแจ้งเตือนอื่น ๆ จากรัฐบาล

“ตอนนี้อยู่ช่วงออกแบบหน้าตาของการแจ้งเตือน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือนก็จะพร้อม”

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอีได้เล็งเห็นถึงผลกระทบจากปัญหาการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอม ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังนั้นการให้ความรู้และการแจ้งเตือนภัยจึงเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและทั่วถึง

สำหรับแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” เป็นแอปที่รวบรวมช่องทางการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของหน่วยงานรัฐ แจ้งเตือนข่าวปลอม การหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้วยการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างกระทรวงดีอี และ DGA ซึ่งจะประกอบไปด้วยบริการดังนี้

ADVERTISMENT

1.ให้บริการข้อมูลความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งประชาชนสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล

2.ให้บริการข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข่าวปลอม การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอม

ADVERTISMENT

3.สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำระบบงานจัดเก็บข้อมูลแอป Cyber Community Thailand ให้สามารถใช้บริการผ่านแอป “ทางรัฐ” โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมในการเข้าถึงบริการของประชาชน และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

“การให้ความรู้ด้านดิจิทัล การแจ้งเตือนข่าวปลอม และภัยออนไลน์ ผ่านทางแอป ‘ทางรัฐ’ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อป้องกันประชาชนจากภัยคุกคามทางออนไลน์ ลดความเสี่ยงการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน ถือเป็น 1 ในช่องทางที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วประเทศ” โฆษกกระทรวงดีอีกล่าว

ด้านนางไอรดา เหลืองวิไล กล่าวว่า จากสถานการณ์การหลอกลวงทางสื่อออนไลน์หรือการปล่อยข่าวปลอมจากมิจฉาชีพยังคงรุนแรงและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการ MOU ในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการทวีความเข้มข้นในการป้องกันภัยที่เกิดจากปัญหาการหลอกลวงประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ในเชิงรุกได้อย่างแท้จริง โดยการให้ความรู้ และแจ้งเตือนภัยผ่านแอปทางรัฐ

ซึ่งปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 41 ล้านดาวน์โหลด ทำให้มั่นใจได้ว่าแอปทางรัฐจะเป็นช่องทางการสื่อสารของรัฐที่มีประสิทธิภาพ สามารถสื่อสารข้อมูลและการแจ้งเตือนต่าง ๆ เข้าถึงประชาชนได้ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งยังเป็นช่องทางจากรัฐโดยตรง ประชาชนเชื่อใจได้ว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นข้อเท็จจริง

ปัจจุบันแอปพลิเคชั่นทางรัฐมีบริการภาครัฐกว่า 179 บริการ รวมถึงบริการประเภทแจ้งเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ อาทิ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111/แจ้งเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย 1567/การแจ้งเหตุคดีพิเศษ DSI 1202 หรือแจ้งอายัดบัญชีธนาคารได้ที่แอปทางรัฐ เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้แอปทางรัฐ กำลังพัฒนาบริการแจ้งเบาะแสยาเสพติด รวมถึงการแจ้งเบาะแสบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มิได้เป็นเพียงการเสริมภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยการหลอกลวงทางสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนในการร่วมกันป้องกันภัยจากข่าวปลอม และจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง