
ท่ามกลางความผันผวนและไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลก นักเศรษฐศาสตร์วัย 43 ปี ดร.สันติธาร เสถียรไทย เห็นว่า ประเทศไทยต้องตั้งสติรับมือกับปัญหาและโฟกัสกับโอกาสที่เขาเปรียบเสมือน “คลื่น” ในท้องทะเลที่เร็ว แรง และไม่แน่นอน
“เราต้องฉกฉวยโอกาส ไม่จำเป็นต้องเป็นรถที่เร็วที่สุดหรือว่ายน้ำเร็วที่สุด เพียงแต่ต้องเป็นคนที่ถือเซิร์ฟบอร์ดอยู่ในมือ เตรียมพร้อมและอ่านคลื่นดี ๆ พอมันมาถูกที่ ถูกจังหวะแล้วเรากระโดดขึ้นบอร์ดขี่คลื่นนั้นทัน มันจะทำให้เราพุ่งตัวได้เร็วกว่าคนที่ว่ายน้ำเร็ว” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว
3 คลื่นสำคัญในจุดหักศอกที่ “สันติธาร” คิดว่าคนที่กำลังวิ่งตามหลังอย่างไทยต้องขี่ให้ทัน และเป็น New S-Curve ของประเทศ
Geopolitics-เงินผันสู่อาเซียน
อิทธิพลของโดนัลด์ ทรัมป์ Make America Great Again กำลังป่วนโลก ไม่มีใครปฏิเสธผลกระทบทั้งเชิงลบและบวกได้ สิ่งที่ไทยต้องทำคือถอยออกมามองภาพกว้างและเตรียมขี่คลื่นลูกใหญ่ที่ตัวเองมีต้นทุน
สันติธารมองว่า ตลอดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีเงินทุนผันลงมาที่ “อาเซียน” เพิ่มมากขึ้น ศตวรรษของเอเชียกำลังจะมา ช่วงประมาณ 10 กว่าปีก่อน เป็นเรื่องของประเทศจีนล้วน ๆ แต่ปัจจุบันเงินทุนต่าง ๆ ที่เคยไปจีนเริ่มทยอยกระจายความเสี่ยงไปสู่ที่อื่น ทั้งไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ไปจนถึงอินเดีย ผ่านวิธีการหลากหลายรูปแบบ ทั้งลงทุนโดยตรงในอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือการลงทุนรูปแบบ Venture Capital ที่ตั้งอยู่หลายแห่งในเอเชีย ส่งผลให้เกิดการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ
“คนที่มีฐานะดีทั้งหลาย ย้ายมาสิงคโปร์เยอะมาก พอมาอยู่เยอะ สิงคโปร์ก็แพงมาก ค่าครองชีพกระโดดมหาศาล หลายคนเลยเริ่มบอกว่า ความจริงเมืองไทยเป็นสถานที่ที่ดีนะ แฮปปี้มาก เริ่มมาอยู่สมุยบ้าง ภูเก็ตบ้าง พัทยาบ้าง แล้วส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ดี ๆ ที่มีในเมืองไทยเยอะมาก ถึงเวลางานเขาก็บินไป บินกลับ”
ความเคลื่อนไหวในเชิงบวก ทั้งคน เงินทุน ธุรกิจ เริ่มมาสร้างและหลั่งไหลมาอยู่ในอาเซียน บวกกับขนาดเศรษฐกิจใหญ่ของอินเดียที่เติบโตเร็วและมีศักยภาพ ทำให้ไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คำถามคือเราจะใช้ประโยชน์จากกระแสพวกนี้อย่างไร
“ถ้าไม่ทำอะไรเลย เราจะโดนเฉพาะส่วนที่แย่ เช่น สินค้าจีนทะลักเข้ามา แต่ถ้าจับจุดมันดี ๆ เราจะได้ทั้งเงินลงทุน ทาเลนต์ และเทคโนโลยี ที่ทำให้คนไทยเก่งขึ้น ประเทศไทยดีขึ้น”
Care Economy S-Curve ใหม่
ธีมใหญ่ของโลกและไทย คือ Care Economy เมื่อมนุษย์มี Life Span ช่วงอายุขัยที่ยาวนานขึ้น เราจึงต้องการมี Health Span หรือช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพ ยาวนานขึ้นตาม นั่นหมายถึงการดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารดี ๆ
สันติธารมองว่า ประเทศไทยมีต้นทุนที่ดีเพื่อตอบรับธีมใหญ่ของโลก มีภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ผูกโยงเม็ดเงินมหาศาล นอกจากนั้น Care Economy ยังดึงดูดหลากหลายเซ็กเตอร์ด้านการผลิตเข้ามาผนวก เช่น อาหาร ยา อาหารเสริม สมุนไพร การศัลยกรรม เครื่องมือการแพทย์ Bio Economy ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร ที่เป็นต้นน้ำและพื้นฐานของไทย ทั้งหมดนี้คือจุดแข็งของประเทศ หากทำให้สอดคล้องและสัมพันธ์กันได้หมด จะเป็นพลังที่ใหญ่มาก
“S-Curve ใหม่ของเราเลย ถ้าทำดี ๆ”
Technology-ขี่ไม่ทันโดนทิ้ง
อดีตประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการของ Sea Group บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน พูดถึงคลื่นตัวที่ 3 อย่าง “เทคโนโลยี” ว่า ต้องเลิกมองสิ่งนี้เป็นเซ็กเตอร์อื่น เนื่องจากเป็นคลื่นที่แทรกซึมและเพิ่มผลิตภาพให้กับทุกสิ่ง เช่น เรื่องของสุขภาพ เราไม่สามารถเพิ่มจำนวนคุณหมอและพยาบาลได้ทันกับคนไข้ จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและเอไอเข้ามาช่วย
“เราขาดคน ประชากรวัยแรงงานลดน้อยลงเรื่อย ๆ ยังไงก็ต้องการเทคโนโลยีช่วยอยู่แล้ว เมืองไทยมันตอบโจทย์สุด ๆ ถ้าเราสามารถทำให้คนใช้เทคโนโลยีเป็นมากขึ้น เข้าถึงมากขึ้น สุดท้ายเพิ่มโปรดักทิวิตี้มหาศาล”
เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก นักเรียนระดับมัธยมสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากการขายสินค้าผ่านการไลฟ์ โดยมีคุณแม่ช่วยทำบัญชี สต๊อกสินค้าอยู่ในบ้าน กลายเป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนน้อย แต่ได้ผลิตภาพสูง ซึ่งสิ่งดังกล่าวสามารถหาช่องทำได้ในทุกเซ็กเตอร์
“เราสามารถคืนคุณครูให้นักเรียน ถ้าเขามีเอไอทำเอกสารให้ คืนคุณหมอ คืนพยาบาลให้คนไข้ ถ้าลดต้นทุนเวลาต่าง ๆ ให้เขาได้ ฉะนั้นเทคโนโลยีเป็นคีย์ที่เมืองไทยต้องทำให้ได้”
1 ใน 7 คณะกรรมการ กนง.กล่าวว่า ยุคดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เราเคยพูดถึงกันว่าเมืองไทยต้องมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง “มันช้าไปแล้ว ถ้าคลื่นยักษ์ผ่านไปแล้ว อย่าไปว่ายตามมัน” รอคลื่นใหม่ ซึ่งตอนนี้ที่ยังไม่มีใครจับจองคือ เอไอ
ขณะนี้อยู่ในช่วงที่แข่งขันกันว่าของใครฉลาดกว่ากัน แต่สุดท้ายจะเข้าสู่โหมดการสร้างประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น เอไอสำหรับการเกษตร, การศึกษา, สุขภาพ คลื่นเหล่านี้เราต้องหาทางเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง พัฒนา และนำมาใช้
“3 คลื่นนี้ เป็นจุดหักศอกสำคัญที่เราห้ามพลาด ถ้าพลาดแล้วคนอื่นที่ว่ายนำเราอยู่แล้ว เขาขี่ทิ้งไป มันยิ่งทิ้งช่องว่างมหาศาลเลย” สันติธารทิ้งท้าย