บาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาผลประชุมเฟด

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาผลประชุมเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2568

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (18/03) ที่ระดับ 33.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/03) ที่ระดับ 33.62/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคืนนี้ (17/03) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. ปรับตัวขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% หลังจากร่วงลง 1.2% ในเดือน ม.ค. สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีศุลกากรและการเลิกจ้างพนักงานรัฐบาลกลางจำนวนมาก

สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้สร้างบ้านเดือน มี.ค. ลดลง 3 จุด สู่ระดับ 39 จุด แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2567 และต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 42 จุด โดยดัชนีความเชื่อมั่นที่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด บ่งชี้ถึงมุมมองทั่วไปที่เป็นลบ

ทั้งนี้ ดัชนีได้รับผลกระทบจากราคาวัสดุก่อสร้างที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า อีกทั้งเมื่อคืนนี้ (17/03) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ

โดยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% ในไตรมาสที่ 1/2568 หลังจากที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวราว 2.3% เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตาการทำสงครามการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 มี.ค. รวมถึงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจและถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เพื่อประเมินถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการภาษีศุลกากรในมุมมองของเฟด ทั้งนี้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.25%-4.5% ในการประชุมครั้งนี้

ด้านปัจจัยภายในประเทศ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง แตะระดับ 1.5% ในปี 2568 จาก 2 ปัจจัยหลัก

ADVERTISMENT

ได้แก่ 1.ภาวะการเงินที่คาดว่าจะยังคงตึงตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางการเงินสูง ส่งผลให้การขายหุ้นกู้ของธุรกิจที่อันดับเครดิตไม่สูงอาจเริ่มมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น รวมถึงดัชนีค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วเมื่อเทียบกับภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา

2.เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากนโยบายการค้าของสหรัฐ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้ไทยควรเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายในทั้งในระยะสั้นและยาว โดยเน้นการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ทรัพยากรภาครัฐ นโยบายระยะสั้นควรจะมุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอกและปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ขณะที่นโยบายระยะยาวควรจะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการยกระดับขีดความสามารถของภาครัฐเพื่อให้ประเทศสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.55-33.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.59/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (18/03) ที่ระดับ 1.0915/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/03) ที่ระดับ 1.0878/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร บรรดานักลงทุนต่างจับตาการเจรจาสันติภาพระหว่างประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน ของรัสเซียและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 18 มี.ค. เนื่องจากการยุติความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียอาจช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานในยุโรป

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อว่าสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปเตรียมหารือกันเพื่อหาทางยึดทรัพย์สินของรัสเซียที่อายัดไว้เพื่อนำไปใช้จ่ายด้านกลาโหมร่วมกันเพื่อเพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อมอสโก ก่อนที่จะมีการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามในยูเครน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0904-1.0955 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0943/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (18/03) ที่ระดับ 149.45/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/03) ที่ระดับ 148.83/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 18-19 มี.ค. โดยนักเศรษฐศาสตร์จากโพลสำรวจของบลูมเบิร์กคาดว่า BOJ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้นจากความตึงเครียดจากสงครามการค้า

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงติดตามการส่งสัญญาณเกี่ยวกับช่วงเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปและคำเตือนเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ จากนายอุเอดะ ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.40-149.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.82/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขดุลการค้าเดือน ก.พ.ของญี่ปุ่น (19/03), ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรเดือน ม.ค. ของญี่ปุ่น (19/03), อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOJ (19/03), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน (19/03), อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (20/03), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.พ. ของเยอรมนี (20/03), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/03), ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (21/03), รายงานดัชนีการผลิตจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (20/03), และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารากลางอังกฤษ (BOE) (20/03)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.4/-7.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.0/-6.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ