ยอดเปิดบัญชีเทรดหุ้นหด 30% โบรกชี้เอฟเฟ็กต์ SET ร่วง-วอลุ่มวูบหนัก

ยอดเปิดบัญชีเทรดหุ้นหด 30% โบรกชี้เอฟเฟ็กต์ SET ร่วง-วอลุ่มวูบหนัก

โบรกฯเผยเทรนด์เปิดบัญชีเทรดหุ้นวูบหนัก “บล.บัวหลวง” เผยปี 2567 ทั้งระบบลดลง 30% เหตุหุ้นไทยผลตอบแทนติดลบ-วอลุ่มรายย่อยหดตัวหนัก-นักลงทุนติดดอย ระบุบัญชีบัวหลวงแอ็กทีฟแค่ 20% จากฐานลูกค้า 7 แสนบัญชี ฟาก “บล.กสิกรไทย” ยอมรับยอดเปิดบัญชีใหม่ลดลง 10% แก้สถานการณ์ด้วยการฝึกอบรมพนักงานขายโปรดักต์อื่น

นายภูวดล ภูสอดเงิน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ผลตอบแทนปรับตัวลงมาก โดยนับจากต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ที่ดัชนี SET ติดลบอยู่ประมาณ 16.43% (ณ 17 มี.ค.) ทำให้นักลงทุนรายย่อยติดดอยกันมาก เพราะตัดขาย (Cut Loss) ไม่ทัน

และหากสังเกตวอลุ่มตลาด จะพบว่ากลุ่มนักลงทุนรายย่อยซื้อขายหุ้นกันน้อยลงมาก จากวอลุ่มในปี 2563-2564 ที่อยู่ระดับ 1.5-1.6 ล้านล้านบาท ปัจจุบันเหลือแค่ 1 ล้านล้านบาทต่อปี ปรับตัวลดลงไป 1 ใน 3 จากช่วงพีก โดยเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา

“ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ที่ซื้อขายหุ้นเป็นลูกค้าเดิมที่พยายามแก้พอร์ต หรือสวิตชิ่ง Cut Loss ขณะที่คนใหม่ ๆ ก็ไม่อยากเข้ามาลงทุน ทำให้เห็นเทรนด์การเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่หดตัวลงไปมาก ซึ่งเห็นมาสักระยะหนึ่งแล้ว”

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ในปี 2567 ภาพรวมจำนวนการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นทั้งตลาดปรับตัวลดลงไปประมาณ 30% เมื่อเทียบจากปี 2566 และจำนวนการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นของบริษัท จนถึงสิ้นเดือน ม.ค. 2568 ปรับตัวลดลง 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นไปตามแนวโน้มราคาหุ้นในกระดานที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และคนเริ่มต้นทำงานใหม่ไม่ค่อยสนใจจะลงทุนหุ้นไทย เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นยังไม่ดี

กราฟิก หุ้นไทย

ADVERTISMENT

โดยปัจจุบันบริษัทมีจำนวนลูกค้าอยู่ทั้งหมด 700,000 บัญชี มีบัญชีเคลื่อนไหวซื้อขายหุ้น (แอ็กทีฟ) อยู่ประมาณ 20% ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าระดับกลางและบนที่มีเงินออมและเข้าใจการลงทุน ที่มีอยู่ประมาณ 1 แสนบัญชี มีวงเงินต่อบัญชีสูงกว่า 500,000 บาท ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยที่มีอยู่ 6 แสนบัญชี วงเงินต่อบัญชีเฉลี่ย 50,000-100,000 บาท ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว (Inactive) เพราะซื้อหุ้นไปแล้วติดดอย และนักลงทุนเหล่านี้ก็ไม่อยากเติมเงินหรือไม่มีเงินใหม่มาลงทุนเพิ่ม

“หลังจากช่วงโควิด ซึ่งเป็นช่วงพีกในการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น บัญชีของรายย่อย Inactive เยอะมาก เพราะถ้าใน 1 ปีแรกของนักลงทุนรายย่อยไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน บัญชีมักจะไม่เคลื่อนไหวไปเลย”

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก ซึ่งถ้าไปดูผลตอบแทนหุ้นในดัชนีตลาดหลักทรัพย์ mai ปรับตัวลงมาค่อนข้างลึกกว่า 60-70% หุ้นเล็กบางตัวผลตอบแทนลดลงกว่า 90% ทำให้นักลงทุนรายย่อยเสียหายและเจ็บตัวกันมาก

นายชัยพรกล่าวว่า นักลงทุนระดับกลางและบนที่ยังแอ็กทีฟลงทุนอยู่ในหุ้นไทย นอกเหนือจากที่มีเงินเก็บอยู่ ส่วนใหญ่เพราะเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งผลตอบแทนหุ้นในดัชนี SET100/SET50 แม้ว่าลดลงไป 30% แต่ยังมีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ในระดับ 4-5% ซึ่งทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ยังยอมรับได้กับความเสี่ยงในระยะสั้น เพราะดีกว่าเอาเงินไปฝากธนาคาร ซึ่งให้ผลตอบแทนแค่ 1-1.25% ต่อปี

สำหรับเป้าหมายจำนวนการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่ (New Account) นายชัยพรกล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าสิ้นปี 2568 แค่รักษายอดเปิดบัญชีที่ระดับ 4 หมื่นบัญชี ถ้าทำได้ถือว่าเก่งมากแล้ว ด้วยภาวะตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน

ส่วนแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ปัจจุบันบริษัทได้พยายามนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลายมากขึ้น หากลูกค้ามองการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว บริษัทจะแนะนำการลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) หรือไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง เพื่อเป็นทางเลือกให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและน่าสนใจกว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ หรือหากลูกค้ามองการสร้างผลตอบแทนหรือกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ จะแนะนำลงทุนในกองทุนรวม

“ช่วงนี้คงไม่ใช่จังหวะในการเปิดบัญชีหุ้นใหม่เยอะ แต่จะเป็นช่วงที่ฝั่งโบรกเกอร์ต้องรักษาลูกค้าไว้ พยายามหาโปรดักต์ใหม่ ๆ มาบริการลูกค้า เช่น หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Notes) ที่ลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวนได้ และช่วงหลัง ๆ หันมาโปรโมตโปรดักต์ DR ซึ่งจะเห็นคนเริ่มสนใจลงทุน DR มากขึ้น เพราะหุ้นต่างประเทศเพอร์ฟอร์มดีกว่าหุ้นไทย”

แหล่งข่าวบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีนี้จำนวนลูกค้าเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่ของบริษัทเฉลี่ยรายเดือน ปรับตัวลดลงไปประมาณ 10% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสอดคล้องไปกับภาวะตลาดหุ้นไทยที่ไม่ค่อยจะดีนัก โดยแผนการรับมือของบริษัทก็มีทั้งการฝึกอบรมพนักงานในการขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น และได้มีการเพิ่มช่องทางการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่ผ่านแอปพลิเคชั่น K PLUS เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น