แบงก์พาเหรดจ่ายปันผลสูง ดัน ROE ปั้นผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น

Pay dividends

สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงการเงินการลงทุนเป็นอย่างมาก เมื่อธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศจ่ายเงินปันผล “กรณีพิเศษ” ให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญเพิ่มเติม ในอัตรา 2.50 บาท โดยใช้กำไรสะสม คิดเป็นวงเงินที่ต้องใช้กว่า 5,923 ล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ KBANK ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว ในอัตราหุ้นละ 1.50 บาท และประกาศจะจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีหลัง 2567 อีกหุ้นละ 8.00 บาท ส่งผลให้ทั้งปี 2567 กสิกรไทย จ่ายเงินปันผล ในอัตราหุ้นละ 12.00 บาท เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 28,431.9 ล้านบาท

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารจ่ายเงินปันผลพิเศษ หลังจากได้พิจารณาแล้ว จากการเดินทางไปให้ข้อมูลกับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนในต่างประเทศ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

“ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจถึงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ที่อยู่ในระดับสูงเกินไป เมื่อเทียบกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงมองว่าธนาคารไม่มีความจำเป็นที่จะเก็บเงินทุนไว้ในระดับสูง”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่า หลายแบงก์ก็มีการจ่ายเงินปันผลที่ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน หลังจากปี 2567 ที่ผ่านมา ภาพรวมระบบแบงก์ไทยยังคงทำกำไรได้ดี

เรื่องนี้ “ตฤณ สิทธิสวัสดิ์” นักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่หลายธนาคารคงเห็นว่าอาจเป็นจังหวะที่อยากจะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นที่มากขึ้น โดยพยายามเพิ่มการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้นทุกธนาคาร และรวมถึงเรื่องการซื้อหุ้นคืน

ตฤณ สิทธิสวัสดิ์
ตฤณ สิทธิสวัสดิ์

ซึ่งจากการประกาศจ่ายเงินปันผลที่ออกมาพบว่า บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีอัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไร (Dividend Payout Ratio) อยู่ในระดับสูงใกล้เคียงเดิมที่ 80.7% ขณะที่ KBANK มีการจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 58.5% จากปีก่อนหน้า 36.3%

ADVERTISMENT

ด้านธนาคารกรุงไทย (KTB) มีการจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 49.2% จากปีก่อนหน้า 33.1% ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 35.9% จากปีก่อนหน้า 32.1% ฟากธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 60.5% จากปีก่อนหน้าที่จ่าย 54.8%

ส่วนธนาคารทิสโก้ (TISCO) จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 89.9% จากปีก่อนหน้าจ่ายที่ 85% และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 67.9% จากปีก่อนหน้า 46.7%

ADVERTISMENT

กราฟิก ปันผล

 

“ตฤณ” วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักที่แบงก์จ่ายเงินปันผลกันมากขึ้น มาจากแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ ที่แต่ละธนาคารจะค่อนข้างอนุรักษนิยม (Conservative) เน้นปล่อยกู้เฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้เมื่อมีกระแสเงินสดที่เข้ามาต่อเนื่องจากรายได้ดอกเบี้ย และไม่จำเป็นต้องขยายพอร์ตสินเชื่อมาก จึงเห็นกระแสเงินสดส่วนเกินที่เอามาปันผลคืนให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ แนวปฏิบัติ หรือเทรนด์ของธุรกิจธนาคารในเอเชีย ที่เมื่อการเติบโตของงบดุล (Balance Sheet) ไม่ได้มีมากแล้ว หรือเริ่ม Mature แล้ว จะหันมาสร้างผลตอบแทนในรูปแบบอื่นแทน ซึ่งส่วนใหญ่จะจ่ายปันผลสูงขึ้น รวมทั้งจะมีการประกาศซื้อหุ้นคืน ซึ่งเห็นชัดในประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น โดยเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อบริหารอัตราส่วนผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ให้เพิ่มขึ้น เพราะหุ้นธนาคาร Valuation จะสูงขึ้นได้ ต้องทำให้ระดับ ROE สูงขึ้น

“ต้องยอมรับว่าแบงก์ไทยเป็นแบงก์ที่เงินกองทุนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด สะท้อนว่าแบงก์มีเงินที่กันไว้สำหรับเรื่องความเสี่ยงได้มากพอแล้ว จึงมีเงินที่จะปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้” นักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจการเงิน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าว