
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า ผู้เขียน : ดร.กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, กฤติกา บุญสร้าง ธนาคารกสิกรไทย
การกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ตลาดมีมุมมองบวกต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่พฤศจิกายน 2022 แตะระดับ 110 ในวันที่ 13 มกราคม 2025 ก่อนพิธีสาบานตนของทรัมป์ในวันที่ 20 มกราคม 2025
เนื่องจากความกังวลต่อการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงว่าจะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนถึง 60% และประเทศอื่นทั่วโลกอีก 10-20% ทำให้ตลาดหวนนึกถึงสถานการณ์ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนในปี 2018 ในช่วงการรับตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์
อย่างไรก็ตาม ในวันเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทรัมป์ไม่ได้มีการประกาศใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าทันทีอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่ระบุว่าจะต้องมีการศึกษาผลของภาษีนำเข้าก่อน ท่าทีของทรัมป์ที่ไม่แข็งกร้าวเท่าที่เคยเป็นมา ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าทันที 1.3% และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยอ่อนค่าไปแล้ว 5.4% ภายใน 7 สัปดาห์นับตั้งแต่ที่ทรัมป์เข้าพิธีสาบานตน
เหตุใดการกลับมาของทรัมป์ในรอบนี้ถึงไม่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ?
ปัจจัยสำคัญคือเศรษฐกิจสหรัฐและแนวทางดอกเบี้ยของเฟด ระหว่างทรัมป์ 1.0 และ 2.0 ที่แตกต่างกันอย่างมาก
ในยุคทรัมป์ 1.0 เป็นช่วงเศรษฐกิจสหรัฐขาขึ้น เป็นช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังเศรษฐกิจซบเซามานานจากวิกฤตซับไพรม์ โดยดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำที่ราว 1.0-2.0% เท่านั้น
แต่ในยุคทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ท่ามกลางแรงกดดันจากเฟดที่ขึ้นดอกเบี้ยไปสูงถึง 5.5% ในรอบนี้ เพื่อกดให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย และเมื่อทรัมป์มาถึง เฟดได้เริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว สวนทางกับเหตุการณ์การขึ้นดอกเบี้ยในช่วงทรัมป์สมัยแรก
ภาษีนำเข้าเป็นอีกประเด็นที่ทำให้ตลาดกังวลกับเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากหากมีการขึ้นภาษีนำเข้าในระดับสูงจริง นั่นหมายถึงผู้บริโภคชาวอเมริกันจะต้องซื้อสินค้าในราคาสูงขึ้น
เนื่องจากสหรัฐไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าและบริการสูงถึงราว 14% ต่อจีดีพี และในสภาวะการเงินที่ยังคงตึงตัวจากดอกเบี้ยเฟดปัจจุบันที่สูงถึง 4.5% นี้ เป็นภาระต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น เกมของทรัมป์ 2.0 นี้ คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป