
เงินบาท sideway จับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)คืนนี้ และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในสัปดาห์นี้ รวมทั้งความคืบหน้าของการเจรจาสันติภาพในยูเครน
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (19/3) ที่ระดับ 33.66/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/3) ที่ระดับ 33.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งคาเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 103.01 โดยสหรัฐได้มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการเมื่อคืนนี้ เช่น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 11.2% สู่ระดับ 1.50 ล้านยูนิตในเดือน ก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.38 ล้านยูนิต จากระดับ 1.35 ล้านยูนิตในเดือน ม.ค.
นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน ม.ค. นักลงทุนรอจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในสัปดาห์นี้ รวมทั้งความคืบหน้าของการเจรจาสันติภาพในยูเครน
โดยตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมครั้งนี้ และคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงทั้งสิ้น 0.60% ในปีนี้ แม้เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้เตือนไม่ให้เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป และควรรอดูผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรที่จะสะท้อนให้เห็นในข้อมูลเศรษฐกิจ ก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน
ด้านปัจจัยภายในประเทศวันนี้ (19/3) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2568 ซึ่งคณะกรรมการมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.25% เป็น 2.00% โดยให้มีผลทันที เนื่องจากมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความเหมาะสมในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.5% นั้น ยังต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้า เนื่องจากภาคการผลิตที่ยังถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐ ที่บังคับใช้แล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนขยายตัวแตกต่างกันมากขึ้น (K-shape) โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ มีพัฒนาการแย่ลง
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.62-33.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (19/3) ที่ระดับ 1.0933/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/3) ที่ระดับ 1.0950/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เมื่อวานนี้ (18/3) สภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนี (Bundestag) ได้อนุมัติการปฏิรูปที่รวมถึงการผ่อนปรนมาตการจำกัดหนี้ (debt brake) ครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม และการจัดตั้งกองทุนมูลค่า 5 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 5.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน โดยแผนดังกล่าวจะถูกเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาในวันศุกร์นี้ (21/3)
ซึ่งจากความคาดหวังต่อการปฏิรูปดังกล่าวทำให้หุ้นกลุ่มกลาโหม ค่าเงินยูโร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยูโรโซนพุ่งขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าหลังจากการลงมติแล้ว ราคาทรัพย์สินเหล่านี้จะลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0874-1.0946 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0900/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
ส่วนค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (19/3) ที่ระดับ 149.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/3) ที่ระดับ 149.77/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (19/3) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีมติเป็นเอกฉันทให้คงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายต้องการใช้เวลามากขึ้นเพื่อประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบางของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ผลสำรวจทังกัน (Tankan) ของสำนักข่าวรอยเตอร์ได้เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นภาคการผลิตญี่ปุ่นเดือน มี.ค. ทรุดเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังนักธุรกิจวิตกกังวลต่อนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว โดยผลสำรวจที่จัดทำคู่ขนานกับการสำรวจธุรกิจรายไตรมาสของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตเดือน มี.ค.อยู่ที่ -1 ลดลงจาก +3 ในเดือน ก.พ. ถือเป็นการกลับมาติดลบครั้งแรกนับจากเดือน ธ.ค.ที่ก็แตะระดับ -1 เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมองภาพรวม 3 เดือนข้างหน้าในเชิงบวกมากขึ้น โดยคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตจะฟื้นขึ้นมาอยู่ที่ +4 ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ดัชนีนอกภาคการผลิตจะอยู่ที่ +28 ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.15-150.01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับบ149.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน (19/3), อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (20/3), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.พ. ของเยอรมนี (20/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/3), ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.พ. ของสหรัฐ (21/3), รายงานดัชนีการผลิตจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (20/3), และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) (20/3)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.2/-7.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.6/-3.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ