
ธปท.เปิดรายงานการประชุม กนง.เผยเห็นสัญญาณแบงก์คุมเข้มปล่อยสินเชื่อบ้านวงเงินสูงขึ้น จับตาคุณภาพหนี้เสียบ้าน-เช่าซื้อกลุ่มรายได้ต่ำลามสู่รายได้สูง ชี้เกาะติดสินเชื่อเอสเอ็มอี-กลุ่มเปราะบาง พร้อมประเมินผลนโยบายการค้าสหรัฐ ภายใต้สมมุติฐานขึ้นภาษีจีน 20% และไทย 10% คาดกระทบจีดีพีลดลงราว 0.3-0.5%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า การประเมินภาพเศรษฐกิจในปี 2567 ว่าขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ แม้อุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้ายังขยายตัวดี แต่ไม่ได้ส่งผลบวกต่อภาคการผลิตมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการระบายสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงและนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น
มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่า 2.5% เล็กน้อย ซึ่งต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ จากภาคการผลิตที่ยังถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐที่บังคับใช้แล้ว โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง ถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศ ขณะที่ภาคบริการและท่องเที่ยวยังขยายตัวได้
เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนขยายตัวแตกต่างกันมากขึ้น (K-shape) โดยภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวลีโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ส่วนภาคการผลิตกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวกับยานยนต์ และภาคอสังหาริมทรัพย์มีพัฒนาการแย่ลง
โดยการผลิตรถยนต์ถูกกดดันจากการแข่งขันจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ และสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเข่าซื้อให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกบ้างจากราคารถยนต์มือสองที่เริ่มทรงตัว
ด้านภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอตัวจากกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง โดยสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเนื่องจากสัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้ที่ปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำถึงปานกลาง จึงต้องติดตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะรายเล็กที่มีข้อจำกัดด้านสภาพคล่องและการปรับตัว รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้างที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs เพื่อประเมินภาพอย่างใกล้ชิด
คณะกรรมการเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า จากภาคการผลิตที่ถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ผลกระทบที่อาจรุนแรงขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก และภาวะการเงินของธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ตึงตัว
ขณะที่กรรมการบางท่านเห็นว่าเศรษฐกิจอาจมีความเสี่ยงมากกว่าที่ฝ่ายเลขานุการประเมินไว้ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และภาคอสังหาริมทรัพย์อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวสะท้อนจากการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อยู่ในระดับต่ำและอุปทานคงค้างระดับสูงในภาคอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ ภาคการผลิตในหลายอุตสาหกรรมเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่เผชิญความท้าทายในการปรับตัวและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อรวมทั้งการแข่งขันที่อาจสูงขึ้นอีกในระยะต่อไป กรรมการบางส่วนแสดงความกังวลว่าภาคบริการและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก (growth driver) อาจสนับสนุนเศรษฐกิจได้ลลงเมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวชะลอลงตามพฤติกรรมการใช้จ่ายและโครงสร้างของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคท่องเที่ยวไทยในระยะยาว
ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นร่วมกันว่าเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลงมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างซึ่งจำเป็นต้องใช้นโยบายปรับโครงสร้างด้านอุปทานเพื่อยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เช่น การลงทุนใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน และการสนับสนนจากภาครัฐเพื่อช่วยในการปรับตัว สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ (demand side) มีแนวโน้มขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชน
โดยการบริโภคของกลุ่มผู้มีรายได้สูงยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลางยังถูกถูกดดันจากการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ทั่วถึงและภาวะสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ชะลอลง กรรมการบางส่วนให้ความเห็นว่าการบริโภคภาคเอกชนที่ผ่านมาถูกขับเคลื่อนโดยครัวเรือนกลุ่มรายได้ปานกลางและสูง แต่ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวอาจระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นในระยะต่อไป ตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและปัจจัยด้านความมั่งคั่งที่ลดลง (wealth effect) ตามมูลค่าของตลาดหุ้นไทย
ด้านการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้จากสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีและสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นหลัก สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่มูลค่ารวมอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และ data center
ทั้งนี้ กรรมการบางส่วนให้ความเห็นว่าต้องติดตามการสร้างมูลคำเพิ่มของการส่งออกสินค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากการสร้างมูลค่าเพิ่มมีแนวโน้มลดลงเทียบกับอดีต ส่วนหนึ่งจากการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ซึ่งรวมถึงกรณีของ data center อีกทั้งมีการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (import content) เพิ่มขึ้น
มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีความเสียงจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐที่จะออกมาเพิ่มเติม เช่น (1) มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าโดยตรงรายประเทศ ซึ่งไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกสหรัฐปรับขึ้นภาษีจากการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอย่างต่อเนื่อง และ (2) มาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (reciprocal tariffs) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปของไทยที่มีส่วนต่างภาษีระหว่างไทยและสหรัฐค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ นโยบายการค้าของสหรัฐยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งในมิติรูปแบบและช่วงเวลา รวมทั้งการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น โดยฉากทัศน์ที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าค้าจากจีนเพิ่มขึ้นรวมเป็น 30% และประเทศกลุ่มเสี่ยงรวมถึงไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 10% การขยายตัวของเศรษฐกิจอาจปรับลดลงจากกรณีฐานประมาณ 0.3-0.5% โดยประเมินว่าจะได้รับผลกระทบในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
ผ่านช่องทาง (1) การส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐ โดยตรงลดลง (2) การส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยไปจีนลดลง และ (3) ปัญหาการแข่งขันกับอุปทานส่วนเกินของจีนทั้งในตลาดส่งออกและตลาดในประเทศที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี การประเมินผลในฉากทัศน์ยังมีความไม่แน่นอนสูง และผลกระทบอาจรุนแรงขึ้นหากมีมาตรการตอบโต้ทางการค้าเพิ่มเติม
อัตราเงินเพื่อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโอกาสต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วงเวลา จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้นจากสินค้านำเข้า
ทั้งนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณนำไปสู่ภาวะเงินผิดหรือภาวะที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง เพราะ (1) พลวัตเงินเฟ้อมาจากปัจจัยด้านอุปทานมากกว่าด้านอุปสงค์ โดยปัจจัยด้านอุปทาน อาทิ ราคาน้ำมันโลกที่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยราคาสินค้าในหมวดพลังงานและอาหารสดส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปใน 12 เดือนที่ผ่านมาเพียง 0.2% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ก่อนหน้าที่ 1.0%
(2) ราคาสินค้าและบริการไมได้ปรับลดลงในวงกว้าง โดยราคาสินค้าและบริการกว่า 3 ใน 4 ของตะกร้าเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นหรือไม่เปลี่ยนแปลง และ (3) อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังทรงตัวในกรอบเป้าหมาย มองไปข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อมีความเสียงด้านต่ำตามแนวโน้มราคาพลังงานโลก จากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจต่ำกว่าคาด แนวโน้มราคาอาหารสดที่อาจต่ำกว่าคาดจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่อาจมีเพิ่มเติม
คณะกรรมการเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ทรงตัวใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมายไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและไม่ได้ส่งสัญญาณภาวะเงินฝืด อีกทั้งยังมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวได้ข้าหลังจากที่เงินเฟ้อได้เร่งขึ้นไปในช่วงก่อนหน้า
โดยกรรมการบางส่วนให้ความเห็นว่ากำลังการผลิตส่วนเกิน (overcapacity) ของจีน และการแสวงหาตลาดใหม่ของประเทศต่าง ๆ ที่ถูกปรับขึ้นภาษีการค้า อาจทำให้มีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น ซึ่งจะกดดันภาคการผลิตและระดับราคาสินค้าของไทยเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
การประเมินภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน
ภาวะการเงินยังตึงตัวจากสินเชื่อที่ชะลอลง แม้การขยายตัวและคุณภาพของสินเชื่อในภาพรวมเริ่มมีสัญญาณทรงตัวบ้าง โดยการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างยังหดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ สภาพคล่องเพื่อดำเนินธุรกิจของ SMEs ถูกกดดันเพิ่มเติมจากสินเชื่อการค้า (trade credit) ที่แย่ลง โดย SMEs ส่วนใหญ่ประสบปัญหาระยะเวลารับชำระเงินจากลูกหนี้การค้า (credit term) ที่ยาวขึ้น ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามแนวโน้มการขยายตัวและคุณภาพสินเชื่อในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง สำหรับการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (household debt deleveraging) ยังคงดำเนินไปต่อเนื่องซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว
คณะกรรมการแสดงความกังวลในประเด็นสินเชื่อที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน จึงเห็นควรให้ติดตามการขยายตัวและคุณภาพของสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด โดยกรรมการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าการกลับมาขยายตัวของสินเชื่อในช่วงปลายปี อาจมาจากปัจจัยเฉพาะจากการที่สถาบันการเงินเร่งปล่อยสินเชื่อให้ถึงเป้าหมาย รวมทั้งคุณภาพสินเชื่อที่ปรับดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขายหนี้เสียและตัดหนี้สูญของสถาบันการเงินในช่วงปลายปี
นอกจากนี้ กรรมการส่วนหนึ่งแสดงความกังวลต่อการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อกลุ่มรายได้ต่ำที่อาจเริ่มลุกลามมายังกลุ่มรายได้ที่สูงขึ้น รวมถึงคุณภาพสินเชื่อที่ปรับแย่ลงอาจส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งฝ่ายเลขานุการได้ชี้แจงข้อมูลล่าสุดว่าเริ่มเห็นสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีวงเงินสูงขึ้น จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวนจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างไรก็ดี หลังตลาดการเงินประเมินว่านโยบายการค้าของสหรัฐ อาจไม่รุนแรงเท่าที่คาดไว้ ราคาสินทรัพย์เสี่ยงจึงปรับเพิ่มขึ้น และเงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่า เงินบาทปรับแข็งขึ้นจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยเฉพาะของไทยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในบางจังหวะ
การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนโดยรวมยังดำเนินการได้ตามปกติ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงของการระดมทุนทุนทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนได้ไม่เต็มจำนวน (rollover risk) ของผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับลดลง
ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกที่อาจส่งผลต่อตลาดการเงินไทยและความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
การพิจารณานโยบายการเงิน
คณะกรรมการประเมินว่าสมดุลของความเสี่ยง (balance of risks) ของนโยบายการเงินโน้มไปด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดย (1) เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้อย่างมีนัย และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก (2) ภาวะการเงินยังตึงตัวขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวปรับลดลง โดยกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่ดำเนินต่อเนื่อง
และ (3) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวอยู่ใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมาย กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้เป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยกรรมการได้อภิปรายและมีความเห็นเพิ่มเติมดังนี้
กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับสตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อให้สอดแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้เป็นการเริ่มต้นวัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (easing cycle) นอกจากนี้ กรรมการบางท่านมีความเห็นเพิ่มเติมว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้มีส่วนช่วยรองรับกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาดในระยะข้างหน้า
กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะช่วยลดทอนความตึงตัวของภาวะการเงิน ซึ่งสะท้อนจากปริมาณสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินและการระคมทุนในตลาดตราสารหนี้ที่ชะลอตัว ขณะที่ไม่ได้สร้างต้นทุนความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวมากนัก โดยกรรมการบางท่านเห็นเพิ่มเติมว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจผ่านการบรรเทาภาระหนี้และเอื้อต่อการปรับตัวของธุรกิจ โดยสอดประสานกับมาตรการเฉพาะจุด เช่น มาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดภาระของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง
กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% ต่อปี เป็นระดับที่นโยบายการเงินยังมีขีดความสามารถ (policy space) เพียงพอในการรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
กรรมการบางท่านเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลงมาที่ 2.00% ต่อปี เป็นระดับที่สามารถรองรับความไม่แน่นอนข้างหน้าได้ระดับหนึ่ง (robust policy) โดยไม่ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากเศรษฐกิจไม่ได้เผชิญ shocks ที่รุนแรงกว่าคาด
กรรมการหนึ่งท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ต่อปี เนื่องจากให้น้ำหนักมากกว่ากับการรักษา policy space เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเห็นว่าการปรับนโยบายการเงินในจังหวะที่เหมาะสมจะรองรับ shocks ได้อย่างมีประสิทธิผล อีกทั้งนโยบายการเงินของไทยมี policy space จำกัดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจ
กรรมการท่านนี้เห็นพ้องกับกรรมการท่านอื่นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าที่เคยประเมินไว้จากภาคการผลิตที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นหลัก ขณะที่อุปสงค์ในภาพรวมยังขยายตัวดีสะท้อนจากข้อมูลเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้ และมองว่านโยบายการเงินเป็นเครื่องมือบริหารจัดการด้านอุปสงค์ (demand management) เป็นหลัก และมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในบริบทเศรษฐกิจปัจจุบัน
คณะกรรมการเห็นร่วมกันว่าเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลงมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจำเป็นต้องใช้นโยบายปรับโครงสร้างด้านอุปทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขีดความสามารถของอุตสาหกรรม จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
การตัดสินนโยบาย คณะกรรมการมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 1 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความเหมาะสมในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่ชัดเจนขึ้น
ในขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากให้น้ำหนักมากกว่ากับการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย