เริ่มเสียงแตก! กนง.ไม่เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.50% ปรับจีดีพีปี”61 เป็น 4.4%

กนง.ลงมิติคงดอกเบี้ยแบบไม่เป็นเอกฉันท์ 1เสียงค้านเรียกร้องขึ้นดอกเบี้ย ด้านเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลกนง.ปรับจีดีพีขึ้นเป็น4.4%จาก4.1%

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 20 มิถุนายน 2561คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย 1 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม

โดยในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและ สูงกว่าที่ประเมินไว้เดิมตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นกว่า ที่ประเมินไว้เล็กน้อย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ภาวะการเงินโดยรวมยัง อยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจาก ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน

คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ อย่างยั่งยืน

กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ส่วนกรรมการ 1 ท่านเห็นว่าการฟื้น ตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจ ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออก สินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว และอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่ง เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รอบนี้ กนง.มีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจขึ้นเป็น 4.4% ในปี2561นี้ จากประมาณการณ์เดิมที่ 4.1%

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจะฟืวตัวดีขึ้น แต่หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และการขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง จึงทำให้กำลังซื้อ ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ไขด้วยนโยบายเชิง โครงสร้าง และยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่างๆ ในระยะข้างหน้า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ ประเมินไว้
“เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบาย การค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์”

ส่วนด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่า ลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเคลื่อนไหวผันผวนจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ อุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงของประเทศ เศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำให้คาดว่าในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป