ดอลลาร์รีบาวนด์ หลังเฟดไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม

ดอลลาร์

ดอลลาร์รีบาวนด์ หลังเฟดไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (20/3) ที่ระดับ 33.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/3) ที่ระดับ 33.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยช่วงคืนที่ผ่านมา นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 4.25%-4.50% ตามคาดการณ์ของนักลงทุน โดยในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปีนี้ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงาน Dot Plot เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว

นอกจากนี้ เฟดได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ลงสู่ระดับ 1.7% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.1% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ สู่ระดับ 2.8% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.5% แม้ว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด จะกล่าวว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์นอกองค์กรเฟดได้เพิ่มการประเมินความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่การชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจนั้นยังไม่น่าจะเกิดขึ้น

โดยหลังจากถ้อยแถลง ราคาทองคำพุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ระดับ 3,055 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยได้ปัจจัยหนุนจากคำสั่งซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลต่อการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า รวมทั้งความไม่สงบในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายของการซื้อขาย ค่าเงินบาทกลับมาออนค่าแตะระดับ 33.70 อีกครั้งจากการปิดการเก็งกำไรการคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมของเฟด

ADVERTISMENT

ด้านปัจจัยในประเทศ วันนี้ (20/3) นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันชะลอตัวต่อเนื่อง และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับจากการหารือกับผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) จึงเห็นควรให้ผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ LVT)

โดยประเมินว่า การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จะช่วยประคับประคองภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างที่อยู่ในระดับสูงได้บ้าง จึงอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้จำกัด ขณะที่การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินมากนัก เนื่องจากในปัจจุบันภาวะการเงินตึงตัวและสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ โดยระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 33.56-33.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT

ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (20/3) ที่ระดับ 1.0910/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/3) ที่ระดับ 1.0900/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นสุดท้าย และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานขั้นสุดท้ายปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายปี 2.3% และ 2.6% ตามลำดับ

นอกจากนั้น สหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยแผนการณ์เมื่อวันพุธ (19/3) ว่า ยุโรปควรเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารให้มากขึ้น รวมทรัพยากรสำหรับโครงการป้องกันร่วมกัน และซื้ออาวุธจากยุโรปมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับรัสเซียและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการคุ้มครองจากสหรัฐในอนาคต ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0838-1.0917 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0850/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (20/3) ที่ระดับ 148.37/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/3) ที่ระดับ 149.77/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วงคืนที่ผ่านมา คาเงินเยนพุ่งแตะระดับ 150 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงบ่ายของการซื้อขาย ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 148.16-148.78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่จะมีการรายงานในวันนี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/3), ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.พ. ของสหรัฐ (21/3), รายงานดัชนีการผลิตจากเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย (20/3) และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) (20/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสียง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.1/-6.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.0/-5.85 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ