คุยกับ ‘นริศ สถาผลเดชา’ ไอเดียยกระดับสกัดบัญชีม้าเกิดใหม่

นริศ สถาผลเดชา
นริศ สถาผลเดชา
สัมภาษณ์พิเศษ

ภัยทุจริตทางการเงิน รวมถึงบัญชีม้า เป็นปัญหาใหญ่ เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ โดยที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ ได้มีการยกระดับการป้องกัน ผ่านหลาย ๆ มาตรการ ล่าสุด ก็มีมาตรการที่เรียกว่า “ปิดปากม้า” ที่เป็นบุคคลธรรมดา รวมถึงยกระดับครอบคลุมไปถึงนิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว ถามว่า มาตรการเหล่านี้ได้ผลแค่ไหน และ เพียงพอแล้วหรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “นริศ สถาผลเดชา” ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้มานำเสนอ

ปิดปากม้า 1.65 แสนบัญชีอยู่หมัด

“นริศ” เริ่มอธิบายว่า ภัยการเงิน แยกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ 1.กรณีผู้เสียหายโอนเงินเอง หรือทำธุรกรรมเอง (Authorized Transfer) และ 2.อุปกรณ์ถูกแฮ็ก หรือ ผู้เสียหายไม่ได้ทำธุรกรรมเอง (Un-Authorized Payment) ซึ่งปัจจุบันรูปแบบหลังเหลือน้อยมากแล้ว

ดังนั้น ตอนนี้โจทย์ที่ต้องมองไปข้างหน้า คือ Authorized Transfer ที่ทำธุรกรรมเอง แต่อาจจะเป็นเหยื่อที่โดนหลอก เช่น หลอกลงทุน หลอกให้เล่นการพนัน หลอกให้รัก เป็นต้น

ที่ผ่านมาระบบธนาคารพาณิชย์ได้ทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาครัฐ อาทิ ตำรวจ โดยจัดตั้งศูนย์ Central Fraud Registry หรือ CFR ขึ้นมา ซึ่งได้ผลดีมาก เพราะบัญชีม้าที่ถูกรายงาน หรือบัญชีต้องสงสัย จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือบัญชีม้าเทา ที่เกิดจากคนร้องเรียน และตำรวจเปิดหมายที่อยู่ใน CFR ได้ถูกปิดปากม้า หรือห้ามโอนเงินออกและเข้าหมดแล้ว

“ตอนนี้ เดินมาถูกทางแล้ว ปัจจุบันข้อมูลบัญชีที่อยู่ในระบบ CFR มีจำนวน 1.65 แสนบัญชี ซึ่งเป็นม้าเทาทั้งหมด ถามว่า เยอะหรือไม่ ก็ถือว่าเยอะ แต่ถ้าเทียบกับบัญชีของระบบธนาคารพาณิชย์ที่มี 140 ล้านบัญชี ก็จะตกประมาณ 0.12% ของบัญชีทั้งหมด

ADVERTISMENT

โดยต้องบอกว่า ในช่วงแรกที่ทำ มีคนมาขอปลดล็อกบัญชีจาก CFR บางส่วนก็พบว่าเป็นม้าเอง หรือมีความเกี่ยวข้อง การอยู่ใน CFR จะต้องมีหมายตำรวจ มีการสืบสวนกันพอสมควรแล้ว เชื่อว่าบัญชีใน CFR จะเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ เพิ่มขึ้น หลังจากเริ่มตั้งไข่มาได้”

ต้องครอบคลุมผู้ให้บริการเพย์เมนต์

“นริศ” กล่าวว่า ปัจจุบันสามารถจัดการให้บัญชี (ม้า) เก่าไม่สามารถทำธุรกรรมได้แล้ว สิ่งที่ต้องคิดกันต่อไป คือ จะทำอย่างไรให้บัญชีเปิดใหม่ไม่เป็นบัญชีม้า ซึ่งมี 3 ส่วน คือ 1.จะต้องใช้ความเร็วเท่าไรที่จะเข้าไปตรวจสอบบัญชีต้องสงสัย 2.ระบบการชำระเงินของไทย ไม่ได้มีแค่เฉพาะระบบธนาคารพาณิชย์ แต่ยังมีระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) และระบบคริปโตเคอร์เรนซีอีก ดังนั้นจะวงไปครอบคลุมได้แค่ไหน

ADVERTISMENT

“เชื่อว่า ธปท.กำลังจะยกระดับอยู่ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าบัญชีคริปโตทุกบัญชีเป็นม้า หากต้นทางไม่ได้ติดอยู่ในระบบ CFR ก็ยังมีเงินไหลออกไปบัญชีคริปโตได้ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการยกระดับ ทั้งการยืนยันตัวตน (e-KYC) ซึ่งที่ผ่านมามีการยกระดับ e-KYC ของระบบธนาคารพาณิชย์แล้ว แต่จะยกระดับ e-KYC ของผู้ให้บริการชำระเงินอื่น ๆ ได้อย่างไร”

และ 3.จะตรวจจับบัญชีม้าให้เร็วขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะขยายไปสู่ม้าน้ำตาล หรือบัญชีที่ยังไม่โดนตำรวจออกหมาย หรือ ปปง. ส่งรายชื่อมา แต่เป็นบัญชีต้องสงสัย ตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพูดคุยกันเพื่อยกระดับการตรวจจับ (Detection) ให้เร็วขึ้น และเป็น Realtime ขึ้น

ชงตีกรอบธุรกรรมบัญชีเปิดใหม่

“นริศ” กล่าวว่า สิ่งที่อยากชวนคิดคือ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปฏิวัติโครงสร้างระบบชำระเงิน จนมีพร้อมเพย์ขึ้นมา ถือเป็นเรื่องที่ดี สามารถโอนเงินได้รวดเร็วทันที โอนฟรี ไม่มีจำกัด ซึ่งใครสามารถทำอะไรก็ได้ เปรียบเสมือนเป็น “ทางด่วน” ที่ใครจะขึ้นก็ได้ และคนร้ายก็ขึ้นได้เช่นกัน

“พร้อมเพย์ คือ ทางด่วน ใครขึ้นทางด่วนก็ได้ ผู้ร้ายก็สามารถมาขึ้นได้ แต่ถ้าจะให้ผู้ตามจับ ต้องไปตามจับบนทางด่วน ก็ไม่แฟร์ แล้วก็ไม่แฟร์กับผู้ใช้ทางด่วนคนอื่นที่เป็นประชาชนปกติ”

ดังนั้นการจับบัญชีม้าต่อไปข้างหน้า ตอนนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ได้พูดคุย ธปท. ถึงเรื่องการทำโปรไฟล์ (Profiling) บัญชีเปิดใหม่ โดยแบ่งเป็น เล็ก กลาง ใหญ่ หรือ SML เพื่อกำหนดขอบเขตการโอนธุรกรรม หากเป็นบัญชีเปิดใหม่ ไม่มั่นใจเรื่องความเสี่ยง หากจะให้มีความปลอดภัยและป้องกันมิจฉาชีพ ป้องกันลูกค้าไม่ให้ถูกหลอก ก็อาจจะกำหนด “วงเงินต่อวัน”

โดยหากเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ ดูแล้วรายได้ไม่สูงมากและไม่ได้ทำธุรกิจ แต่วันหนึ่ง ๆ กลับมีการทำธุรกรรมโอนเข้า-ออก วงเงิน 4-5 ล้านบาท ซึ่งพร้อมเพย์โอนได้ไม่จำกัด และกี่ครั้งก็ได้ ก็จะเหมือนเป็นการติดอาวุธ หรือให้ “ปืนกลไปกับทุกคน จะยิงเท่าไรก็ได้ ไม่จำกัด

ดังนั้นหากดูแล้วบัญชีที่เปิดใหม่ไม่ได้มีธุรกรรมต่อวันมาก เช่น ปกติโอนแค่ 500-1,000 บาทต่อวัน หรือไม่เกิน 5,000 บาท ก็อาจจะไม่ต้องให้วงเงินถึง 2 แสนบาทต่อวัน

“ถ้าอยู่ในช่วงเพิ่งเปิดบัญชี ก็อาจจะกดวงเงินลงมาให้อยู่ในแพ็กเกจ S แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้โอนเลย เช่น หากมีธุระจำเป็น มีรายการใหญ่ซื้อขายที่ดินได้ ต้องโอนมากขึ้น ก็สามารถยืนยันตัวตน (Dip Chip) เพื่อทำการโอนได้ แบบนี้จะดีกว่า

เพราะถ้าเปิดบัญชีใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าม้าหรือไม่ม้า แต่ให้แพ็กเกจ L ไปเลย ก็จะเหมือนให้ “อาวุธ” กับม้า ไปทำอะไรก็ได้ สรุป ไอเดีย Profiling ที่เป็น SML ก็คือ พอเปิดปุ๊บอย่าเพิ่งให้ขึ้นทางด่วน แต่ให้ไปถนนเล็ก ๆ ก่อน ซึ่งฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียมเหมือนเดิม เพราะถ้าจะไปห้ามไม่ให้เปิดบัญชีออนไลน์เลย จะเป็นเหมือนก้าวถอยหลัง”

ชี้ Profiling ทำได้เร็ว-ลงทุนไม่สูง

ทั้งนี้ ระบบ Profiling สามารถทำได้เร็ว ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่ต้องลงทุนเยอะ ต่างจากการทำระบบ Realtime Detection ที่ต้องพิสูจน์อีกว่า จริงหรือไม่ และ กระทบคนเยอะ รวมถึงต้องลงทุนเยอะด้วย

“Profiling บัญชีที่มีอยู่แล้วก็ไม่ต้องยุ่ง ธนาคารจะเข้าไปดูเฉพาะบัญชีเปิดใหม่ ซึ่งจะเป็นการ ‘หยุดวงจรม้า’ เพราะที่ผ่านมา มี CFR หยุดบัญชีเก่าที่เป็นม้าไปแล้ว ขณะที่ Profiling จะเป็นการหยุดวัฏจักรม้าใหม่ อย่างไรก็ดีระบบธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่ผู้ให้บริการชำระเงินทั้งหมดทั้งระบบ หากทำ Profiling ก็อาจจะต้องทำให้ครอบคลุมทั้งหมด”

ส่วนบัญชีม้าที่เป็นนิติบุคคล “นริศ” ยอมรับว่า ช่วงหลังมีบัญชีม้านิติบุคคลมากขึ้น ซึ่งก็สามารถนำระบบ Profiling มาใช้ได้เช่นกัน โดยหากเปิดบัญชีใหม่ ก็กำหนดเพดานการทำธุรกรรม

“หลักคิดเรื่อง Profiling นั้น จะดูตามความเสี่ยง และ ตามความต้องการของลูกค้า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยากจะผลักดัน แบงก์เองก็ต้องยกระดับเรื่อย ๆ อาจจะต้องปรับระบบหลังบ้านส่วนหนึ่ง และ การทำ KYC และ KYM ก็ต้องยกระดับตาม เป็นโจทย์ที่ธนาคารพาณิชย์พึงจะทำ และที่สำคัญต้องไม่กลับไปเงินสด เพราะเงินสดเป็นสิ่งที่แย่ที่สุด เนื่องจากไม่สามารถจับเส้นทางการเงินได้” ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ทีทีบี กล่าว