TTB หุ้นพุ่ง 5% รับข่าวควบรวม KTB ส่องมุมมอง “โบรกเกอร์” ต่อดีลนี้

TTB ราคาหุ้นพุ่ง 5% รับข่าวควบรวม KTB บล.เอเซียพลัส ชี้ให้น้ำหนักประโยชน์ด้านประสิทธิภาพ “ค่าใช้จ่าย” มากกว่าฝั่งรายได้ และทางพื้นฐานทั้งคู่ให้คำแนะนำ Outperform จากอัตราเงินปันผลตอบแทน 7% ต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามรายงานในวงการธนาคารกำลังมีการพูดถึงกันเป็นวงกว้างถึงบิ๊กดีลระหว่างธนาคารที่ “กระทรวงการคลัง” เป็นผู้ถือหุ้นอย่าง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB โดยพบว่าเปิดตลาดหุ้นไทยเช้าวันนี้ (21 มี.ค. 2568) ราคาหุ้น TTB ปรับตัวขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดของวัน (High) ที่ราคา 2.02 บาท เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบจากราคาวันก่อนหน้า ขณะที่ราคาหุ้น KTB เริ่มไต่ระดับวิ่งขึ้นตาม เพิ่มขึ้นราว 0.85%

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด วิเคราะห์ดีลนี้ว่า ยังมองเป็นกลาง เพราะข่าวดังกล่าวยังไม่เป็นทางการ ประกอบกับเมื่อปี 2561 (ช่วงดังกล่าวมีมาตรการทางภาษีสนับสนุนการควบรวม ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วปี 2565) เคยมีข่าวแบบนี้เช่นกัน (หลังจากนั้น TMB ไปควบรวมกับ TBANK แทนในปี 2562) ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ปัจจุบันของ TTB ไม่ใช่กระทรวงการคลัง (TCAP ถือห้น 24.42% ING ถือหุ้น 22.78% กระทรวงการคลังถือหุ้น 11.67% และกองทุนวายุภักษ์หนึ่ง ถือหุ้น 9.85%) ทำให้การตัดสินใจยังต้องหารือกันหลายฝ่าย

ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้น วิธีการควบรวม และ Valuation ในการซื้อขายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตอบสนองของราคาหุ้น (ตอน TMB กับ TBANK ในปี 2562 ใช้วิธี EBT ผ่านการทำ Share Swap และ PBV ในการทำธุรกรรมอยู่ที่ราว 1.1 เท่า ขณะที่ปัจจุบัน KTB และ TTB มี PBV ซื้อขายที่ 0.7 เท่า และ 0.8 เท่า ตามลำดับ)

ในเชิงประโยชน์ของการควบรวมในระยะกลาง-ยาว จะมาจากการประหยัดจากขนาดผ่านการลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนกัน (ค่าเฉลี่ย Cost to income ratio ของ TTB ปี 2558-2562 อยู่ที่ราว 46% เมื่อปี 2567 ที่ 42.6% ส่วน KTB ปี 2567 อยู่ที่ 43.2%) ในฝั่งการหารายได้ พอร์ตสินเชื่อสิ้นปี 2567 ของ KTB และ TTB อยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท และ 1.2 ล้านล้านบาท (ตามลำดับ) ซึ่งส่วนของฐานลูกค้ามีจุดแตกต่างกันคือ TTB มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถ (สัดส่วน 29% ของพอร์ตสินเชื่อ TTB) และ KTB มีสินเชื่อลูกค้ารัฐบาลราว (สัดส่วน 19% ของพอร์ตสินเชื่อ KTB)

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปี 2567 ของ KTB อยู่ที่ 3.31% (ปี 2568 คาดอยู่ที่ 3.22%) และ TTB ที่ 3.25% (ปี 2568 คาดอยู่ที่ 3.22%) มองว่าไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ADVERTISMENT

“โดยสรุปฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักกับประโยชน์ด้านประสิทธิภาพของค่าใช้จ่ายมากกว่าฝั่งรายได้ และทางพื้นฐานทั้งคู่ให้คำแนะนำ Outperform จากอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ราว 7% ต่อปี ในเชิงกลยุทธ์ปกติแล้วผู้ที่มีโอกาสถูกเข้าซื้ออย่าง TTB ราคาหุ้นมีโอกาสตอบสนองดีกว่า”

ADVERTISMENT