ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่ม หลังสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐร่วง

+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ปรับลดลง 5.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงเพียง 1.9 ล้านบาร์เรล ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล

+ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในลิเบียปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับ 600,000 – 700,000 บาร์เรลต่อวัน หลังท่าขนส่งน้ำมันดิบ Ras Lanuf และ Es Sider ปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2561 จากเหตุก่อการร้าย ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบในลิเบียลดลงราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน

– ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลด หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย เปิดเผยว่าอุปสงค์น้ำมันดิบในครึ่งหลังของปี 2561 จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ (โอเปก) รวมทั้งรัสเซียเตรียมตัดสินใจที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ

– รัสเซียคาดว่ากลุ่มโอเปกและประเทศนอกกลุ่มโอเปก จะตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังก่อนหน้านี้เคยมีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้

– อิหร่านส่งสัญญาณว่าจะยอมประนีประนอมให้กลุ่มโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตเล็กน้อยในการประชุมวันที่ 22-23 มิ.ย. นี้ ซึ่งท่าทีของอิหร่านแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าไม่มีแนวโน้มที่โอเปกจะบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มกำลังการผลิต

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโรงกลั่นกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งหลังจากปิดซ่อมบำรุง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์ในตะวันออกกลางปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงอ่อนตัวเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 72-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเกี่ยวกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หลังมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา โดยจะมีการหารือในการประชุมของกลุ่มโอเปกวันที่ 22-23 มิ.ย. นี้

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2562 จะขยายตัวราว 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับเฉลี่ย 11.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 1 ปี อาจโน้มน้าวให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะปรับเพิ่มการส่งออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น