คลังออกมาตรการ ‘กระบะพี่ มีคลังค้ำ’ ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ

เผ่าภูมิ โรจนสกุล

คลังเปิดตัวมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” วงเงินระยะแรก 5,000 ล้านบาท ค้ำฟรี 3 ปีแรก วงเงินค้ำประกันสูงสุด 1.5 ล้านบาท/ราย เริ่มเปิดรับคำขอ 1 เม.ย.นี้ หวังปลดล็อก SMEs เข้าถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่-กระตุ้นยานยนต์ที่ซบเซา คาดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 21,000 ล้านบาท

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้เปิดตัวมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทย ที่จะกระตุ้นตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ซบเซาให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยมีวงเงินค้ำประกันในระยะแรก 5,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุด 1.5 ล้านบาท

โดย บสย.จะค้ำประกันและจ่ายส่วนต่างของภาระหนี้กับราคาขายทอดตลาดให้กับสถาบันการเงินตามเงื่อนไข โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ประชาชนใน 3 ปีแรก ส่วนปีที่ 4-7 รัฐบาลจะช่วยออกค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมค้ำประกันเพียง 1.5% ต่อปี ค้ำประกันนานสูงสุด 7 ปี หรือ 84 งวด เปิดรับคำขอตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 30 ธันวาคม 2568 ซึ่งสอดรับกับช่วงเวลางานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2025 เป็นอย่างดี

โดยมาตรการนี้จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านบาท ช่วยเหลือและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น SMEs ที่ต้องการซื้อรถกระบะใหม่เพื่อประกอบอาชีพและสร้างรายได้ มาตรการนี้จะปลดปล่อยรถกระบะได้กว่า 6,250 คัน สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อใหม่ได้กว่า 5,000 ล้านบาท ลดความเสี่ยงและสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ และกระตุ้นอุตสาหกรรมรถกระบะ และช่วยให้ผู้ผลิตยานยนต์และ Supply Chain เช่น ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์สามารถรักษาการจ้างงานไว้ได้จำนวนมาก

ทั้งนี้ ยานยนต์นั้นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง ซึ่งไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค ก่อให้เกิดการผลิตและการจ้างงานจำนวนมาก โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอยู่ในภาวะหดตัว ยอดขายในประเทศลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งในส่วนของผู้ผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และ Supply Chain อื่น ๆ กระทบการจ้างงานจำนวนมาก

ADVERTISMENT

“นอกจากนี้ รถกระบะเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในภาคเกษตรและตามต่างจังหวัด เช่น เกษตรกร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ค้าขาย เป็นต้น”

ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า มาตรการกระบะพี่ มีคลังค้ำ เป็นมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ “SMEs PICK-UP” ของ บสย. ที่ปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินให้กับ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องซื้อรถกระบะใหม่

ADVERTISMENT

โดย บสย.จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยชดเชยความเสี่ยง ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ในการปล่อยสินเชื่อ ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) ให้กับ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องใช้รถกระบะเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น เกษตรกร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ค้าขาย และฟู้ดทรัก เป็นต้น

สำหรับ “อุตสาหกรรมยานยนต์” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ถึง 18% ซึ่งประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก

ทั้งนี้ จากยอดผลิตรถยนต์รวมทุกประเภท จากฐานการผลิตของไทยจำนวน 1.477 ล้านคัน (ขายในประเทศ+ส่งออก) เป็นสัดส่วนการผลิตรถกระบะ 1 ตัน เกือบ 50% หรือกว่า 7.3 แสนคัน โดยภาพรวมอุตสาหกรรมช่วงที่ผ่านมา การผลิตเพื่อขายในประเทศและการส่งออกจากเดิมสัดส่วนอยู่ที่ 50:50 แต่ในปี 2567 พบว่าตลาดในประเทศหดตัว ทำให้การผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงเหลือ 31%

ขณะที่การส่งออกเพิ่มเป็น 69% โดยเชื่อมั่นว่าจากมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ซบเซาให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง