วิจัยกสิกรไทย ชี้จีดีพีไทยเสี่ยงโตต่ำ 2.4% จับตาธุรกิจรายใหญ่จ่อปิดโรงงาน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการจีดีพีปี’68 อยู่ที่ 2.4% มองเศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูง เป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” จับตานโยบายทรัมป์ 2 เม.ย.นี้ กดดันภาคส่งออก หวั่นฉุดจีดีพีเพิ่ม 0.6% หากโดนขึ้นภาษี 25% ระบุธุรกิจรายใหญ่ส่งสัญญาณใช้สินเชื่อแทนหุ้นกู้เพิ่ม หนุนสินเชื่อภาพรวมทั้งปีโต 0.6% ย้ำโรงงานปิดตัวลามสู่รายใหญ่

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐที่สร้างความผันผวนให้โลก สิ่งที่ไทยต้องติดตามต่อในปีนี้ จะเป็นเรื่องของนโยบาย “Mar-a-Lago Accord” คล้ายคลึงกับข้อตกลง Plaza Accord ในปี 2528 ที่สหรัฐเคยนำมาใช้

โดยเป้าหมายหลักของ Mar-a-Lago Accord คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ต้องอ่อนค่าลง หลังจากเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่ปี 1995 ดอลลาร์แข็งค่ามากกว่า 40% เนื่องจากเงินดอลลาร์อยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่าง ๆ รวมราว 57% ของเงินทุนสำรองทั้งหมด 12 ล้านล้านดอลลาร์ ส่งผลให้สหรัฐสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

ดังนั้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกสหรัฐ รวมถึงการฟื้นฟูภาคการผลิตของสหรัฐ และการลดภาระหนี้สหรัฐ จึงมีนโยบาย คือ ประเทศพันธมิตรที่พึ่งพาการคุ้มครองด้านความมั่นคงจากสหรัฐ และต้องการค้าขายกับสหรัฐต้องเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาล 100 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งหากนโยบายเป็นจริง จะยิ่งสร้างความผันผวนมากกว่านโยบายกำแพงภาษี

“เศรษฐกิจไทยมีความน่ากังวลมาก ทำให้หลายประเทศเรียกประเทศไทยว่า ‘Sick Man of ASEAN’ โดยไทยยังไม่มีนโยบายกระตุ้นที่เป็น Quick Win และในวันที่ 2 เมษายนที่จะถึงนี้ จะเป็นวันสำคัญที่ทางทรัมป์จะมีการประกาศมาตรการภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งหากเราโดนในอัตรา 25% ก็จะถือว่าสูงกว่าที่เราประเมินไว้ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ และอาจจะต้องพิจารณาทบทวนประมาณการต่าง ๆ กันอีกครั้ง”

ADVERTISMENT

คาดสหรัฐขึ้นภาษี 10% กระทบจีดีพี -0.3%

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยยังคงประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 2.4% โดยได้รวมปัจจัยผลกระทบกรณีสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า (Reciprocal Tariff) ไทยเพิ่มขึ้นอีก 10% ซึ่งจะมีผลกระทบต่อจีดีพีราว -0.3% และหากกรณีไทยโดนภาษีนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 25% คาดว่าจะส่งผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น -0.6% อย่างไรก็ดี ต้องติดตามนโยบายทรัมป์อีกครั้งภายในวันที่ 2 เมษายนนี้

ADVERTISMENT

ขณะที่ผลกระทบจากสงครามการค้าต่อภาคการส่งออกของไทย ประเมินว่าจะอยู่ที่ราว 0.8% ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นผลกระทบทางตรงจากคำสั่งซื้อที่ลดลงราว 900 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.3% ของการส่งออกทั้งหมด และผลทางอ้อมที่คาดว่าจะมีการส่งออกขนาดใหญ่กว่า เพราะมีการส่งออกซัพพลายเชนทั้งหมดจะกระทบราว 0.8% จากมูลค่าส่งออกทั้งหมดปี 2568 ที่คาดว่า 3 แสนล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี หากรวมส่งออกทองคำจะอยู่ที่ราว 8,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8% และหากมองราคาทองคำทะลุ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จึงเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ 0.3% และหากหักผลกระทบต่อภาคส่งออก -0.5% ส่งผลต่อจีดีพีสุทธิ -0.3% และกรณีขึ้นภาษี 25% จะกระทบต่อภาคการส่งออก 1% จึงมีผลกระทบต่อจีดีพี -0.6%

“เศรษฐกิจไทยปี’68 ที่ปัจจุบันมองไว้ที่ 2.4% ได้รวมสหรัฐขึ้นภาษี 10% แต่จะยืนไว้ได้หรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงมากขึ้น Downside Risk เพราะทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2568 แทบจะไม่เติบโตเมื่อเทียบโตรมาสต่อไตรมาส (QOQ) จากผลกระทบสงครามการค้า ปัจจัยฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และแรงส่งทางเศรษฐกิจลดลง แม้ว่ามาตรการภาครัฐทยอยออกมา”

สินเชื่อโตบาง 0.6% ชี้ซื้อหนี้ต้องตรงจุด

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากทิศทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาลงทั้งในและต่างประเทศ แต่สำหรับภาคเอกชนไทยที่มีแผนระดมทุน อาจต้องระวังว่า ต้นทุนการระดมทุนอาจไม่ได้ลดลงมากอย่างที่คาด เพราะนักลงทุนในประเทศยังแสดงสัญญาณระมัดระวัง ทำให้ Spread หุ้นกู้บางกลุ่มยังปรับขึ้น

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล

ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.0-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 2/2568 โดยมีโอกาสแข็งค่าในระยะสั้น ตามการปรับขึ้นของราคาทองคำ และการคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ส่วนสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว แต่ส่วนหนึ่งเป็นการย้ายมาจากตลาดตราสารหนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองว่าสินเชื่อจะโตไม่สูงที่ 0.6% โดยตัวถ่วงจะเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอี คาดว่าหดตัว -1% และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ -7.5% สอดคล้องกับสถานการณ์ธุรกิจและอำนาจซื้อที่ไม่แน่นอน ขณะที่มองว่ามาตรการการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งผ่อนคลายจะทำให้ประมาณการสินเชื่อบ้านปีนี้โตเพิ่มขึ้นได้อีก 0.1-0.2% จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 0.5%

ทั้งนี้ คาดการณ์สินเชื่อระบบธนาคารปี’68 เติบโตที่ 0.6% จากปีก่อนที่ -0.4% โดยสินเชื่อธุรกิจเติบโต 1.5% จากปีก่อนที่ลดลง 0.1% นำโดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโต 3% จากปีก่อนที่ 1.6% ขณะที่สินเชื่อรายย่อยคาดการณ์ลดลง 1% จากปีก่อนที่ลดลง 2.2%

โดยสินเชื่อบ้านเติบโต 0.6% จากปีก่อนที่เพิ่มขึ้น 0.3% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลดลง 7.5% จากปีก่อนที่ลดลง 11.4% และบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล-รายย่อยอื่น ๆ เติบโต 1.3% จากปีก่อนที่เติบโต 0.2% และคาดการณ์หนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี’68 ที่ 85-87.5% ต่อจีดีพี จากปีก่อนที่ 88.4% ต่อจีดีพี

ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปีนี้คาดการณ์ที่ระดับ 2.65-2.85% จากสิ้นปี 2567 ที่ระดับ 2.70% โดยในช่วงไตรมาส 1/2568 คาดการณ์ที่ระดับ 2.25% ซึ่งเอ็นพีแอลระดับนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่กระทบต่อสถานะเงินกองทุนของธนาคารที่สำรองไว้ในระดับที่เกินกว่าเกณฑ์ไว้มาก

สำหรับประเด็นแผนการตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อซื้อหนี้ประชาชนนั้น มองว่า ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แต่โดยภาพรวมควรที่จะคำนึงถึง 3 ประเด็นหลัก 1.ต้นเหตุของหนี้ 2.วัฒนธรรมเครดิต-วินัยทางการเงิน หรือ Moral Hazard และ 3.การเพิ่มศักยภาพการเพิ่มรายได้

ขณะเดียวกันหากดูยอดหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่ระดับ 3.97% กับของเครดิตบูโรที่ออกมาระดับ 8.90% ซึ่งรวมส่วนของสหกรณ์ ลีสซิ่งและอื่น ๆ เข้าไปแล้ว จะเห็นได้ว่ามีส่วนต่างที่กว้าง เพราะฉะนั้นการจะแก้ปัญหาเรื่องหนี้ต้องครอบคลุมไปกว่ากลุ่มสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลด้วย

“ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แบงก์มีการตัดหนี้สูญ (Write-off) เยอะขึ้น แต่การแก้หนี้ต้องรอดูรูปแบบที่ทางการจะทำ แต่ดูครอบคลุม”

จับตาธุรกิจรายใหญ่ส่งสัญญาณปิดโรงงาน

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนปี 2568 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นโรงงานในกลุ่มการผลิต เช่น อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ปิดตัวเพิ่มขึ้น โดยเริ่มเห็นการปิดโรงงานในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนที่เกิน 100 ล้านบาท จากเดิมการปิดโรงงานส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 2 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะเห็นว่าสอดคล้องกับชั่วโมงการทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งต่ำกว่าในอดีตที่มีชั่วโมงการทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยพบว่าชั่วโมงการทำงานปัจจุบันปรับลดลง 11%

“ส่วนการปิดโรงงานปัจจุบันแม้จะอยู่ระดับทรงตัว แต่ยอดการปิดโรงงานสะสมยังอยู่ระดับสูง โดยนับตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน พบว่าปิดโรงงานไปแล้วทั้งหมดเกือบ 5,000 แห่ง”

กำแพงภาษี กดดันอุตสาหกรรมรถยนต์แข่งขันสูง

นายรุจิพันธ์ อัสสะรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อตลาดรถยนต์โลก โดยมองว่าจะทำให้ตลาดรถยนต์โลกเกิดการแข่งขันสูงขึ้น ภาวะอุปทานรถยนต์ล้นเกินของโลกรุนแรงขึ้น และราคารถยนต์ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง โดยประเทศผู้ผลิตรายหลักในตลาดโลก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ จะกระจายตลาดส่งออกรถยนต์มากขึ้น

รุจิพันธ์ อัสสะรัตน์

ขณะเดียวกัน ก็จะเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกาเพื่อผลิตรถยนต์ป้อนตลาดสหรัฐ ลดผลกระทบจากการที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า ทั้งนี้ การแข่งขันในตลาดรถยนต์โลกที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะซ้ำเติมภาวะอุปทานรถยนต์ล้นเกินของโลกให้รุนแรงขึ้น จากปัจจุบันที่ยอดผลิตรถยนต์โลกมีจำนวนที่สูงกว่ายอดขายรถถึง 16%

นอกจากนี้ ราคารถยนต์ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นตลาดสหรัฐ จากการที่ค่ายรถยนต์จีนน่าจะยังใช้กลยุทธ์ด้านราคาต่อเนื่อง ซึ่งการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว คาดว่ายังจะส่งผลต่อการส่งออกรถของไทยและต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตรถ ซึ่งปัจจุบันพึ่งพาตลาดส่งออกสูงถึง 67% ของยอดการผลิตรถทั้งหมดของไทย