
คลังเปิดตัวโครงการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ระยะแรกวงเงิน 5,000 ล้านบาท ค้ำฟรี 3 ปีแรก เปิดรับคำขอตั้งแต่ 1 เม.ย.นี้ หวังปลดล็อก SMEs เข้าถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่กว่า 6,250 คัน-ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้กว่า 5,000 ล้านบาท-กระตุ้นตลาดยานยนต์ที่ซบเซา สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 21,000 ล้านบาท-ช่วยพลิกฟื้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศมากกว่า 2,500 บริษัท
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า เพื่อแก้ปัญหาจากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ เนื่องจากมีความกังวลในความเสี่ยงในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) และแก้ปัญหาราคารถมือสองตกต่ำโดยเร่งด่วน กระทรวงการคลัง โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จึงได้ออกมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” เพื่อเป็นกลไกลดความเสี่ยงและเพื่อสร้างแรงจูงใจทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ เพิ่มการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) ให้กับ SMEs เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์และช่วยให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพได้ต่อไป

“ยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค ก่อให้เกิดการผลิตและการจ้างงานจำนวนมาก โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอยู่ในภาวะหดตัว ยอดขายในประเทศลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งในส่วนของผู้ผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และ Supply Chain อื่น ๆ กระทบการจ้างงานจำนวนมาก
นอกจากนี้ รถกระบะเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพของประชาชน โดยเฉพาะในภาคเกษตรและตามต่างจังหวัด เช่น เกษตรกร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ค้าขาย เป็นต้น” นายเผ่าภูมิกล่าว
โดยมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” เป็นโครงการแรกที่จะกระตุ้นตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ซบเซาให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ซึ่งตั้งวงเงินค้ำประกันในระยะแรกไว้ 5,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุด 1.5 ล้านบาท โดย บสย.จะค้ำประกันและจ่ายส่วนต่างของภาระหนี้กับราคาขายทอดตลาดให้กับสถาบันการเงินตามเงื่อนไข หากมีการยึดรถยนต์จากลีสซิ่งหรือสถาบันการเงิน บสย.จะจ่ายเคลมให้ 30-40% ของภาระหนี้เงินต้น
“รัฐบาลจะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ประชาชนฟรีใน 3 ปีแรก ส่วนปีที่ 4-7 คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่ำเพียง 1.5% ต่อปี ค้ำประกันนานสูงสุด 7 ปี หรือ 84 งวด ทั้งนี้ จะเปิดรับคำขอตั้งแต่ 1 เม.ย. ถึง 30 ธ.ค. 2568 ซึ่งสอดรับกับช่วงเวลางานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2025 ทั้งนี้ รัฐบาลใช้วงเงินระยะแรก 5,000 ล้านบาท ในการค้ำประกัน ถ้าหมดจะมีการเติมวงเงินให้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องดูความต้องการระยะถัดไป โดยคาดการณ์ว่าน่าจะหมดเร็ว เพราะมีดีมานด์ค่อนข้างสูง” นายเผ่าภูมิกล่าว
นายเผ่าภูมิกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านบาท ช่วยเหลือและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น SMEs ที่ต้องการซื้อรถกระบะใหม่เพื่อประกอบอาชีพและสร้างรายได้ มาตรการนี้จะปล่อยรถกระบะได้กว่า 6,250 คัน สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อใหม่ได้กว่า 5,000 ล้านบาท ลดความเสี่ยงและสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ และกระตุ้นอุตสาหกรรมรถกระบะ นอกจากนี้ยังช่วยพลิกฟื้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยได้มากกว่า 2,500 บริษัท
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า มาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” เป็นมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ “SMEs PICK-UP” ของ บสย. ที่ปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินให้กับ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องซื้อรถกระบะใหม่
โดย บสย.จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยชดเชยความเสี่ยง ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ในการปล่อยสินเชื่อ ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) ให้กับ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องใช้รถกระบะเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น เกษตรกร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ค้าขาย และฟู้ดทรัก เป็นต้น
“มาตรการนี้จะอยู่ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 ‘บสย. SMEs ยั่งยืน’ ดังนั้น ลูกหนี้ SMEs ที่ถือหนังสือค้ำประกัน บสย. จะได้รับความช่วยเหลือในกรณีที่ประสบปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดต่อได้จนกลายเป็นหนี้เสีย และรถถูกยึดขายทอดตลาดเสร็จสิ้นแล้ว โดยไฟแนนซ์พิจารณาส่งยอดหนี้คงเหลือมาเคลมกับ บสย.” นายสิทธิกรกล่าว
นายสิทธิกร กล่าวว่า ลูกหนี้ที่ถูกจ่ายเคลมภายใต้มาตรการนี้ สามารถเข้าร่วมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” หรือมาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ บสย. (SMEs ที่ บสย. จ่ายเคลม) ผ่อนยาวสูงสุด 7 ปี ดอกเบี้ย 0% ตัดเงินต้นก่อนตัดดอก และสำหรับลูกหนี้ดี มีวินัย สามารถปลดหนี้ได้เร็วขึ้น
โดย บสย.ลดเงินต้นให้สูงสุด 10-15% และพิเศษลดเงินต้น 30% สำหรับลูกหนี้ “กลุ่มเปราะบาง” ที่เงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือ SMEs ครอบคลุมทุกกลุ่ม พร้อมปรับสิทธิประโยชน์ให้มีความยืดหยุ่น ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถแก้หนี้ได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น
“เชื่อว่ามาตรการจะเข้าไปปลดล็อกทุกข้อจำกัดทางการเงิน ให้กับ SMEs สามารถพลิกฟื้นและต่อยอดธุรกิจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืน” กรรมการรและผู้จัดการทั่วไป บสย.กล่าว
ทั้งนี้ “อุตสาหกรรมยานยนต์” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ถึง 18% ซึ่งประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ จากยอดผลิตรถยนต์รวมทุกประเภท จากฐานการผลิตของไทยจำนวน 1.477 ล้านคัน (ขายในประเทศ+ส่งออก) เป็นสัดส่วนการผลิตรถกระบะ 1 ตัน เกือบ 50% หรือกว่า 7.3 แสนคัน โดยในปี 2567 พบว่า ตลาดในประเทศหดตัว ทำให้การผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงเหลือ 31%