
ดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนมีแรงซื้อกลับช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ และถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 17-21 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (17/3) ที่ระดับ 33.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/03) ที่ระดับ 33.68/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ และถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ
ในวันศุกร์ (14/03) ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 57.9 ในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.2 ในเดือน ก.พ. โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ และการดิ่งลงของตลาดหุ้น
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.9% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ก.พ.ที่ระดับ 4.3% นอกจากนี้ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.9% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2536 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ก.พ.ที่ระดับ 3.5%
เฟดคงดอกเบี้ย
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. ปรับตัวขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% หลังจากร่วงลง 1.2% ในเดือน ม.ค. สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีศุลกากรและการเลิกจ้างพนักงานรัฐบาลกลางจำนวนมาก
สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้สร้างบ้านเดือน มี.ค. ลดลง 3 จุด สู่ระดับ 39 จุด แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2567 และต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 42 จุด โดยดัชนีความเชื่อมั่นที่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด บ่งชี้ถึงมุมมองทั่วไปที่เป็นลบ ทั้งนี้ดัชนีได้รับผลกระทบจากราคาวัสดุก่อสร้างที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศคู่ค้า
นอกจากนี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันนี้ (19 มี.ค.) ตามการคาดการณ์ของตลาด ก่อนหน้านี้ เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกันรวม 1.00% นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2567 โดยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน ก.ย. ขณะที่ปรับลด 0.25% ทั้งในเดือน พ.ย.และ ธ.ค.
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปีนี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปี 2569 และลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปี 2570
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดได้คงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 3.0% โดยในช่วงปลายสัปดาห์ ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุน หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้นเพียง 2,000 ราย สู่ระดับ 223,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 224,000 ราย
ส่งออกไทย ก.พ.โต 14%
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.พ. 68 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 26,707 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และขยายตัวในระดับ 2 digit ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จาก ม.ค. 68 ที่ขยายตัวได้ 13.6% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 24,718 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4% ส่งผลให้เดือนนี้ไทยกลับมาเกินดุลการค้า อยู่ที่ 1,989 ล้านดอลลาร์
สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ. 68) การส่งออกมีมูลค่ารวม 51,984 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.8% การนำเข้ามีมูลค่ารวม 51,876 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6% ส่งผลให้ 2 เดือนแรกของปีนี้ไทยเกินดุลการค้า 108 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกสำหรับปี 2568 ว่าจะขยายตัวได้ 2-3%
อย่างไรก็ดี จากมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ที่ขยายตัวได้ถึง 13.8% นั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ทั้งปีนี้ การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้เกินเป้าหมาย 3% ที่ตั้งไว้ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.58-33.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/3) ที่ระดับ 33.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
เยอรมนีเพิ่มการกู้ยืมของรัฐครั้งใหญ่
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (17/3) ที่ระดับ 1.0876/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร 1.0876/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/03) ที่ระดับ 1.0852/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับแรงหนุน หลังจากที่พรรคการเมืองในเยอรมนีบรรลุข้อตกลงด้านการคลัง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มงบประมาณกลาโหมและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป
โดยว่าที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ฟรีดริซ เมร์ซ ประกาศว่า เขาได้รับการสนับสนุนที่สำคัญจากพรรคกรีนส์ (Greens) สำหรับการเพิ่มการกู้ยืมของรัฐครั้งใหญ่ โดยข้อตกลงนี้คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาชุดปัจจุบันในสัปดาห์หน้า โดยมีการจัดตั้งกองทุนมูลค่า 5 แสนล้านยูโร (5.4430 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านกฎระเบียบการกู้ยืมเงิน
บรรดานักลงทุนต่างจับตาการเจรจาสันติภาพระหว่างประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน ของรัสเซียและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 18 มี.ค. เนื่องจากการยุติความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียอาจช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานในยุโรป
ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปเตรียมหารือกันเพื่อหาทางยึดทรัพย์สินของรัสเซียที่อายัดไว้เพื่อนำไปใช้จ่ายด้านกลาโหมร่วมกันเพื่อเพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อมอสโกก่อนที่จะมีการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามในยูเครน
นอกจากนี้ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เรียกร้องให้มีการรวมกลุ่มทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป (EU)
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในการแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการเงินของรัฐสภายุโรปในกรุงบรัสเซลส์นั้น ลาการ์ดระบุว่า ความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวลงถึง 0.5 จุดเปอร์เซ็นต์ และส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น
ลาการ์ดระบุว่า ยูโรโซนซึ่งมีการค้าเสรีสูงและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะกับสหรัฐนั้น มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า จากการวิเคราะห์ของ ECB นั้น หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากยุโรป 25% จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนลดลงประมาณ 0.3 จุดเปอร์เซ็นต์ในปีแรก และหากยุโรปตอบโต้ก็อาจทำให้การชะลอตัวรุนแรงถึง 0.5 จุดเปอร์เซ็นต์ ทำให้ค่าเงินยูโรเริ่มอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์
โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0836-1.0944 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/3) ที่ระดับ 1.0837/1.0839 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (17/3) ที่ระดับ 148.79/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/03) ที่ระดับ 148.97/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายต้องการใช้เวลามากขึ้นเพื่อประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบางของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ผลสำรวจทังกัน (Tankan) ของสำนักข่าวรอยเตอร์ได้เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นภาคการผลิตญี่ปุ่นเดือน มี.ค. ทรุดเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังนักธุรกิจวิตกกังวลต่อนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว โดยผลสำรวจที่จัดทำคู่ขนานกับการสำรวจธุรกิจรายไตรมาสของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตเดือน มี.ค. อยู่ที่ -1 ลดลงจาก +3 ในเดือน ก.พ. ถือเป็นการกลับมาติดลบครั้งแรกนับจากเดือน ธ.ค.ที่แตะระดับ -1 เช่นกัน
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมองภาพรวม 3 เดือนข้างหน้าในเชิงบวกมากขึ้น โดยคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตจะฟื้นขึ้นมาอยู่ที่ +4 ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ดัชนีนอกภาคการผลิตจะอยู่ที่ +28 นอกจากนี้ กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่น ไม่รวมอาหารสดที่มีความผันผวนเพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากที่ขยายตัว 3.2% ในเดือน ม.ค. ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลกลับมาให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ ยังคงอยู่ที่หรือสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 ส่วนดัชนี Core-Cpre CPO ซึ่งไม่นับรวมทั้งราคาพลังงานและอาหารสดเพิ่มขึ้น 2.6%
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะยุติการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่รัฐบาลก็กลับมาอุดหนุนค่าไฟฟ้าและแก๊สในเมืองที่ใช้ไประหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. เนื่องจากครัวเรือนยังคงต้องแบกรับภาระค่าไฟที่สูงขึ้น ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 6.9% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงจากที่เพิ่มขึ้น 10.8% ในเดือน ม.ค. ขณะที่ราคาอาหารที่ไม่รวมอาหารสดเพิ่มขึ้น 5.6% และราคาสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 5.4% ในเดือน ก.พ.
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.67-149.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/3) ที่ระดับ 149.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ