
ทำความรู้จัก “ภาษีการรับให้” หลัง “วิโรจน์” พูดถึงในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงรับหุ้นจากบุคคลในครอบครัว เงื่อนไขเป็นอย่างไร ใครที่ต้องเสียภาษีการรับให้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ว่ามีการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยง “ภาษีการรับให้” มาตั้งแต่ปี 2559 โดยทำนิติกรรมอำพรางการรับหุ้นจากบุคคลในครอบครัว ใช้ตั๋ว PN ซื้อหุ้นจากเครือญาติ เป็นสัญญาการกู้เงินมูลค่ารวมกว่า 4.4 พันล้าน เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้เป็นเงินสูงถึง 218.7 ล้านบาท
ภาษีการรับให้คืออะไร
ภาษีการรับให้ หรือเรียกทั่วไปว่า ภาษีการให้ (Gift Tax) คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากทรัพย์สินที่ให้หรือรับแก่บุตร คู่สมรส ญาติ หรือบุคคลอื่น ก่อนผู้ให้เสียชีวิต ทั้งนี้ ภาษีการรับให้มีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดก ป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก
ภาษีการรับให้ มีผลใช้บังคับเมื่อใด
ภาษีการรับให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 และ (ฉบับที่ 43) พ.ศ. 2559
ใครคือผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ แบ่งออกเป็น 2 กรณี มีดังนี้
1.กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์ กำหนดให้ผู้ที่โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บิดาและหรือมารดาผู้โอนกรรมสิทธิ์ให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม (มาตรา 42 (26))
2.กรณีการให้สังหาริมทรัพย์
- บุคคลธรรมดาผู้ได้รับเงินได้จากการอุปการะ หรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี (มาตรา 42(27))
- บุคคลธรรมดาผู้ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีจากบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส เฉพาะเงินได้ส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาท ในแต่ละปีภาษี (มาตรา 42(28))
การคิดอัตราภาษี
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ต้องเสียภาษีในอัตราเท่าใด
1.กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์ ผู้โอนเสียภาษีขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรม ณ สำนักงานที่ดิน อัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้
2.กรณีการให้สังหาริมทรัพย์ ผู้รับเสียภาษีอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท หรือนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้
ตัวอย่างการคำนวณภาษี
การคำนวณภาษีการรับให้ กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียภาษีอัตรา 5% ของส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาท หรือ 20 ล้านบาท (แล้วแต่กรณี) โดยวิธีการคำนวณ คือ
ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท หรือ 20 ล้านบาท × อัตราภาษี 5% = ภาษีที่ต้องเสีย
- ตัวอย่างที่ 1 บิดายกที่ดินให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย ราคาประเมินของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ 22 ล้านบาท บิดาผู้ให้จะต้องเสียภาษี 100,000 บาท ซึ่งคำนวณจาก 2 ล้านบาท × 5%
- ตัวอย่างที่ 2 งานแต่งงานของหลาน คุณป้าได้ให้เงิน 5 ล้านบาท และให้ทองมูลค่า 6 ล้านบาท หลานซึ่งเป็นผู้รับจะต้องเสียภาษี 50,000 บาท ซึ่งคำนวณจาก 1 ล้านบาท × 5%
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีรับให้
- ผู้เสียภาษีสามารถเลือกเสียภาษี 5% โดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่น หรือเลือกนำไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีตามปกติก็ได้
- กรณียื่นแบบกระดาษ ให้ระบุจำนวนเงินได้และภาษีในรายการ “เงินได้จากการให้หรือการรับ”
- กรณียื่นแบบออนไลน์ (E-Filing) เลือก “เงินได้จากการให้หรือการรับ (มาตรา 40(8))” ระบุเงินได้พึงประเมิน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี) และทำเครื่องหมาย “ต้องการเสียภาษีโดยไม่รวม”
กำหนดการยื่นภาษีรับให้
ภาษีการรับให้ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ต้องนำเงินได้แสดงดังนี้
- เงินได้ระหว่าง ม.ค.-มิ.ย. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ภายใน ก.ย. ของปีภาษี
- เงินได้ระหว่าง ม.ค.-ธ.ค. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ภายใน ม.ค.-มี.ค. ของปีถัดจากปีภาษี (ยื่นออนไลน์ขยายเวลา 8 วัน)