
ทำความรู้จักตั๋ว PN (Promissory Note) ตั๋วสัญญาใช้เงิน เอกสารทางการเงินเพื่อการกู้ยืม หลัง สส.พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยง “ภาษีการรับให้” โดยใช้ ‘ตั๋ว PN’ ซื้อหุ้นจากเครือญาติ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร วันนี้ (24 มี.ค. 2568) ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือการพูดถึง “ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN : Promissory Note)” โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่านายกฯ ทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยง “ภาษีการรับให้” โดยใช้ ‘ตั๋ว PN’ ซื้อหุ้นจากเครือญาติ
อ่านรายละเอียด : วิโรจน์ อภิปราย นายกฯ ออกตั๋ว PN เลี่ยงภาษี 9 ปี รวม 218 ล้าน
ตั๋ว PN คืออะไร ?
ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ Promissory Note (PN) คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้ออกตั๋ว” (Maker) ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับเงิน” (Payee)
ตั๋วสัญญาใช้เงิน คือเอกสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่ใช้ในการกู้ยืมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยบุคคลผู้ออกตั๋วได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะใช้เงินภายในระยะเวลาที่กำหนด หากตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นแบบไม่มีเงื่อนไขและสามารถเปลี่ยนมือได้ จะเรียกว่าตราสารเปลี่ยนมือ องค์ประกอบของตั๋วสัญญาโดยทั่วไปจะประกอบด้วย เงินต้น, อัตราดอกเบี้ย, กำหนดวันชำระเงิน, วันสิ้นสุดการชำระเงิน ในบางครั้งอาจจะมีข้อกำหนดในกรณีที่ผู้ออกตั๋วหรือผู้กู้กระทำผิดตามข้อกำหนด ผู้ออกกู้ก็จะยึดทรัพย์สินตามที่ได้กำหนดกันไว้
นอกจากนี้ ยังมีตั๋วสัญญาอีกชนิดที่เรียกว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินตามความต้องการ ตั๋วสัญญาประเภทนี้จะไม่มีกำหนดถึงวันสิ้นสุดการชำระเงินไว้ในตั๋วสัญญากู้เงิน แต่จะขึ้นอยู่กับผู้ออกกู้ว่าจะเรียกเก็บเมื่อไร แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ออกกู้จะแจ้งถึงกำหนดเวลาที่ต้องการให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 3-4 วัน สำหรับการกู้ยืมเงินที่เป็นส่วนบุคคลนั้น โดยปกติจะมีการเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในสัญญาจะระบุถึงในเรื่องของภาษีไว้ด้วย
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 3 ตั๋วสัญญาใช้เงิน มีการระบุเกี่ยวกับตั๋วสัญญาใช้เงิน รวมถึงองค์ประกอบที่ต้องมีในตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยมาตรา 982 ระบุว่า “อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับเงิน”
มาตรา 983 ระบุว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นต้องมีรายการดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
(1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
(2) คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไข ว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
(3) วันถึงกำหนดใช้เงิน
(4) สถานที่ใช้เงิน
(5) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน
(6) วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
(7) ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว
มาตรา 984 ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน เว้นแต่ในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
- ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
- ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้ออกตราสารนั้นเป็นสถานที่ใช้เงิน
- ถ้าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ระบุสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้ออกตั๋ว
- ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้
นายกฯ ปฏิเสธหนีภาษี แจงตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN)
เมื่อเวลา 15.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตอบโต้ฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาท่านสมาชิกซึ่งหมายถึงนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคประชาชน ใช้สำนวนโวหารและข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและสับสน ดิฉันยืนยันปฏิบัติทุกอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องตามข้อกฎหมายทุกอย่าง การกล่าวหาว่านายกฯ คนนี้หนีภาษีไม่เป็นความจริง
“ถึงแม้ดิฉันจะอายุน้อยกว่าท่าน แต่ดิฉันมั่นใจว่าดิฉันเสียภาษีให้รัฐมากกว่าท่านแน่นอนค่ะ”
น.ส.แพทองธารระบุว่า แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ครบถ้วนตามขั้นตอนทุกอย่าง ส่วนการร้องเรียนและตรวจสอบอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งมีความยินดีให้ความร่วมมือทุกประการ
ทรัพย์สินและกิจการของครอบครัวมีการถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ทุกบัญชี ทุกธุรกรรม ที่ดินทุกแปลง ทุกตารางวาที่ครอบครัวดิฉันมี ถูกต้องทุกอย่าง ออกโฉนดโดยรัฐทั้งหมด
‘ธุรกรรมหุ้น’ ที่สมาชิกพูดถึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ก่อนเข้าสู่สนามการเมืองเมื่อหลายปีก่อน เกิดจากความตั้งใจในการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท โดยเลือกใช้วิธีการซื้อขายผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ซึ่งเป็นหนังสือให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้บุคคลหนึ่งตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ หนังสือดังกล่าวติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย
การซื้อขายบางรายการไม่มีการเสียภาษี เนื่องจากยังไม่มีการชำระเงิน ยังไม่ทราบจำนวนและยังเสียภาษีไม่ได้ เป็นภาระหนี้สินระหว่างดิฉันซึ่งเป็นผู้ซื้อและครอบครัวซึ่งเป็นผู้ขาย ไม่ได้มีพฤติกรรมอำพรางใด ๆ
การปรับโครงสร้างหุ้น ณ เวลานั้น ดิฉันไม่ได้มีความพร้อมที่จะชำระค่าหุ้นด้วยเงินสด จึงใช้ตั๋วสัญญาใช้หนี้แทน และได้แสดงหลักฐานต่อ ป.ป.ช.เรียบร้อย รวมถึงได้คุยกันภายในครอบครับถึงการวางแผนชำระหนี้สินรอบแรกภายในปีหน้า
นายกฯ กล่าวว่า เมื่อเกิดการซื้อขายขึ้น หลักฐานทุกอย่างจะปรากฏอยู่ในบัญชีแสดงทรัพย์สินของ ป.ป.ช.อย่างแน่นอน
ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, สถาบันนิติธรรมาลัย,