
เงินบาทอ่อนค่า จับตาอภิปรายอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ระดับ 33.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/3) ที่ระดับ 33.84/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาด หลัง Dollar Index ฟื้นตัวขึ้นแถวระดับ 104.04 หลังนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก กล่าวเมื่อวันศุกร์ (21/3) ว่านโยบายการเงินของเฟดในขณะนี้อยู่ในจุดที่เหมาะสม โดยเขาระบุว่าไม่มีความเร่งด่วนใด ๆ ที่เฟดจะต้องเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาจากตลาดแรงงานที่มั่นคงและอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 2%
นอกจากนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21/3) ว่าจะมีการใช้ความยืดหยุ่นต่อแผนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ซึ่งสหรัฐมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. พร้อมกับกล่าวว่า เขามีแผนที่จะพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน หลังจากที่จีนประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้าเกษตรนำเข้าจากสหรัฐ เพื่อตอบโต้สหรัฐที่เรียกเก็บาษีสินค้านำเข้าจากจีน ทำให้ตลาดมีความผ่อนคลายมากขึ้น หลังก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมปกล่าวว่า วันที่ 2 เม.ย.จะเป็นวันที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีตอบโต้ต่อสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศที่เรียกเก็บภาษีจากสหรัฐ
และแม้ว่าบางประเทศไม่ได้เรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้าสหรัฐ แต่ได้มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งประเทศดังกล่าวก็จะถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีตอบโต้เช่นกัน นอกจากนี้ตลาดยังจับตาดูตัวเลขเศษฐกิจของสหรัฐที่จะเปิดเผยในระหว่างสัปดาห์
ด้านปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (24/3) สภาผู้แทนราษฎรเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ ม.151 หลังฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว ถึงการขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะมีการอภิปรายในช่วงวันที่ 24-25 มี.ค. รวมเวลาทั้งสิ้น 37 ชม.
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.86-33.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 33.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ระดับ 1.0829/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/3) ที่ระดับ 1.0834/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังเผชิญแรงกดดันโดยผลสำรวจที่เผยแพร่วันนี้ (24/3) พบว่ากิจกรรมทางธุรกิจในภาคเอกชนฝรั่งเศสยังคงชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ในเดือน มี.ค. สะท้อนจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยูโรโซน
โดย S&P Global ได้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นของฝรั่งเศสประจำเดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ 46.6 เพิ่มขึ้นจาก 45.3 ในเดือน ก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 46.3 ด้านดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของฝรั่งเศสเดือน มี.ค. ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 48.9 จากระดับ 45.8 ในเดือน ก.พ. และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 46.2
ขณะเดียวกันดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นของฝรั่งเศส ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 47.0 ในเดือน มี.ค. จาก 45.1 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงสะท้อนการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 1.0810-1.0858 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0835/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ะดับ 149.82/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/3) ที่ระดับ 149.31/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยผลสำรวจภาคเอกชนที่เผยแพร่ในวันนี้ (24/3) ระบุว่าภาคการผลิตของญี่ปุ่นส่งสัญญาณชะลอตัวรุนแรงในเดือน มี.ค. สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นจาก au Jibun Bank ที่ร่วงลงมาอยู่ที่ 48.3 ในเดือน มี.ค. จากระดับ 49.0 ในเดือน ก.พ. ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี และต่ำกว่าระดับ 50.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9
โดยการหดตัวดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการสั่งซื้อวัตถุดิบและการลดระดับสินค้าคงคลังของบริษัทต่าง ๆ
นอกจากนี้นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงต่อรัฐสภา วันนี้ (24/3) ว่า หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ทางธนาคารจะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้อาจส่งผลให้ขาดทุนจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ในพอร์ตการลงทุนก็ตาม
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 149.37-149.95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 149.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน ก.พ.จากเฟดชิคาโก (24/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (24/3) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (24/3), ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุม (25/3), ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน มี.ค.ของเยอรมนี (25/3), ราคาบ้านเดือน ม.ค. ของสหรัฐ (25/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (25/3), ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.พ. ของสหรัฐ (25/3)
อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ของอังกฤษ (26/3), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.พ. ของสหรัฐ (26/3), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐ (26/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (27/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2567 ของสหรัฐ (27/3), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน ก.พ. ของสหรัฐ (27/3),
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) กรุงโตเกียวเดือน มี.ค. (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.ของเยอรมนี (28/3), อัตราว่างงานเดือน มี.ค.ของเยอรมนี (28/3), ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. ของอังกฤษ (28/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2567 (ประมาณการครั้งสุดท้าย) ของอังกฤษ (28/3), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.พ. ของสหรัฐ (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (28/3)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.8/-7.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.5/-3.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ