วิจัยกรุงศรี คาดสหรัฐ ขึ้นภาษี 25% ทุกประเทศ กดส่งออก-จีดีพีหดตัว

วิจัยกรุงศรี

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินผลกระทบนโยบายตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐ เผยกรณีพื้นฐานขึ้นภาษีจีน 20% และสินค้าบางรายการ 10-15% หนุนตัวเลขส่งออก 0.43% และจีดีพี 0.03% คาดกรณีขึ้นภาษีนำเข้า 25% ทุกประเทศและไทยที่เกินดุลการค้า มองกระทบส่งออก -1.6% ถึง -1.7% และจีดีพี -0.06% ถึง -0.36% ชี้ ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV เพื่อประคองภาคอสังหาริมทรัพย์จากกำลังซื้อลดลง

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า การฟื้นตัวของภาคส่งออกยังมีปัจจัยท้าทาย แม้มูลค่าส่งออกเดือนกุมภาพันธ์เติบโตสูงในอัตราเลขสองหลักติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 26.7 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ 14.0% YOY (สูงกว่าตลาดคาดที่ 9.7%) หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำมูลค่าส่งออกขยายตัว 14.6%

โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+51.3%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+32.8%) แผงวงจรไฟฟ้า (+24.8%) และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน (+4.5%) ขณะที่การส่งออกในบางกลุ่มหดตัว อาทิ ข้าว (-34.3%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-13.2%) และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (-3.7%)

ด้านตลาดส่งออกพบว่าขยายตัวในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน และสหภาพยุโรป ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่น อาเซียน 5 และ CLMV กลับมาหดตัว สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่าการส่งออกขยายตัว 13.8%

การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์เติบโตต่อเนื่องจากเดือนมกราคม (+13.6% YOY) สอดคล้องกับความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น และมีปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าของสหรัฐ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ การส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าจึงยังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยดังกล่าว

โดยวิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลกระทบจากปัจจุบันกรณีสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 20% และจีนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าบางรายการจากสหรัฐในอัตรา 10-15% อาจทำให้การส่งออกและ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน +0.43% และ +0.03% ตามลำดับ แต่ผลบวกกระจุกตัวในบางกลุ่มสินค้าเท่านั้น และที่สำคัญผลลบกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรม

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ หากสหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้า 25% กับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ รวมทั้งไทย ผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจไทยจะพลิกจากบวกเป็นลบ โดยการส่งออกและ GDP ของไทยจะลดลงจากกรณีฐาน -1.6% ถึง -1.7% และ -0.06% ถึง -0.36% ตามลำดับ

ธปท.ชี้เศรษฐกิจแต่ละภาคส่วนฟื้นตัวแตกต่างกันมากขึ้น ล่าสุดผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ชั่วคราวเพื่อช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนกุมภาพันธ์ ชี้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มสูงกว่าปีก่อนเพียงเล็กน้อย (ปี 2567 โต 2.5%) และต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.9%

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนขยายตัวแตกต่างกันมากขึ้น (K-shape) ภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ส่วนภาคการผลิตกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวกับยานยนต์ และภาคอสังหาฯ มีพัฒนาการที่แย่ลง

มุมมอง กนง.ต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด และมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนมากขึ้น นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ กนง.ผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และล่าสุด ธปท.ได้ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-value : LTV) โดยกำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันเป็น 100% สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

ทั้งกรณี 1.มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ 2.มูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป สำหรับการผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราวสำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568-30 มิถุนายน 2569

ทั้งนี้ เพื่อประคับประคองภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากกำลังซื้อในประเทศลดลง และช่วยบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างที่อยู่ในระดับสูงได้บ้าง อีกทั้งยังเป็น Targeted Policy เพื่อลดความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบวงกว้างเพิ่มเติม