
สรรพากร แจงไม่กังวลประเด็นการเมือง ทำประชาชนชะลอยืนภาษี เดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบริการภาษีมูลค่าเพิ่ม-ภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม
นางสาวภิญญู กำเนิดหล่ม ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การให้บริการภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับผู้ประกอบการ (D-VAT & SBT work shop) ถึงกรณีหลังจากฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) จะมีผลต่อการชะลอยื่นภาษีของประชาชนหรือไม่ว่า ไม่ได้กังวลว่าจะมีผลต่อจิตวิทยาในการเลี่ยงภาษี จากประเด็นทางการเมือง
โดยกรมสรรพากร ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาบริการ โดยจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การให้บริการภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ (D-VAT & SBT Workshop) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มทั้ง ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ สำนักงานบัญชี และอินฟลูเอนเซอร์ ได้เปิดประสบการณ์ และทดลองใช้ระบบงานใหม่ พร้อมเสนอความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้กรมฯ นำไปปรับปรุงพัฒนาต่อยอดให้ระบบ D-VAT & SBT สามารถให้บริการได้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการทำธุรกรรมภาษีต่าง ๆ
ดังนั้นกรมสรรพากรจึงได้พัฒนาระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีธุรกิจเฉพาะ (SBT) ใหม่ โดยเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ พร้อมทั้งบูรณาการบริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้อยู่ในที่เดียวกัน (Online Services) เช่น บริการจดทะเบียน บริการแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียน บริการยื่นแบบแสดงรายการและขอคืนภาษี เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและให้บริการผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำ Design Thinking มาเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจผู้ประกอบการ วิเคราะห์ปัญหาของระบบเดิม และหาแนวทางแก้ไขที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังใช้กระบวนการพัฒนาระบบแบบ Agile Methodology
ซึ่งช่วยให้การพัฒนาระบบมีความยืดหยุ่น สามารถปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังคำนึงถึงหลัก UX/UI (User Experience/User Interface) เพื่อให้ระบบใช้งานง่าย ลดความซับซ้อน และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองอย่างสะดวกสบาย ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ (Anywhere Anytime Any Device)
สำหรับ ระบบ D-VAT & SBT ได้พัฒนาโดยมุ่งเน้นแนวคิด Taxpayer Centric หรือการให้ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง พร้อมพัฒนารูปแบบบริการดิจิทัลแบบ End-to-End ครอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียน การยื่นคำร้อง การยื่นแบบแสดงรายการภาษี การพิจารณาคืนภาษี จนถึงการคืนภาษี ผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะของกระบวนการต่าง ๆ ได้สะดวกและรวดเร็ว นำ Data Analytics สนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่นการคืนเงินและการวิเคราะห์ความเสี่ยง
ทั้งนี้ กรมสรรพากร ได้พัฒนาระบบบริการภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2535 ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง และมีการปรับเปลี่ยนระเบียบและแนวปฏิบัติ รวมทั้งมีความต้องการด้านประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด ระบบยังได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในขั้นตอนการจ่ายคืนภาษี เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในขั้นตอนการคืนภาษีเข้าบัญชีธนาคารผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งช่วยให้การคืนภาษีมีความถูกต้อง รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น
“จากที่กรมสรรพากรได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ให้ผู้ใช้บริการและผู้เสียภาษีมีส่วนร่วมในใช้ระบบก่อนที่จะยื่นจริง ดังนั้นจึงไม่ได้มีความกังวลซึ่งมองว่าจะสร้างความสมัครใจในการยื่นภาษีโดยผลการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ตอนนี้อยู่ที่ 9 ล้านราย จากทั้งหมด 11 ล้านราย โดยผ่านระบบออนไลน์ ประมาณ 90% มียอดขอคืน 30%” นางสาวภิญญู กล่าว