แบงก์ลั่นปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก แก้ NPL ดัน SM ‘แตะ 1.56 แสนล้าน’

Debt restructuring แบงก์ลั่นปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก แก้ NPL ดัน SM ‘แตะ 1.56 แสนล้าน’

การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน แม้ว่าล่าสุด กระทรวงการคลังมีไอเดียที่เตรียมจะเข้าไปแก้ในส่วนหนี้เสียรายย่อยที่เป็นหนี้คงค้างไม่เกิน 100,000 บาท เพราะมองว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” น่าจะมีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการไม่ถึง 50% อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทางภาคธนาคารเองก็สะท้อนว่า ได้มีการเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้มาอย่างต่อเนื่อง

เปิดตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมหนี้เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ 28 แห่ง ณ ไตรมาส 4/2567 อยู่ที่ 499,000 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเกือบ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากเทียบกับไตรมาส 4/2566 ที่อยู่ 4.92 แสนล้านบาท ตัวเลขยังสะท้อนการเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) เริ่มมีผลบังคับใช้ต้นปี 2567 และเริ่มเห็นผลของเกณฑ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567

ขณะที่ตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 หรือ SM) ณ ไตรมาส 4/2567 ขยับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าราว 58,600 ล้านบาท และหากเทียบกับสิ้นปี 2566 จะเห็นตัวเลข SM ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 156,000 ล้านบาท มีทั้งจากหนี้ปกติที่ตกชั้น และเอ็นพีแอลที่กลับมาเป็น SM สะท้อนสัญญาณที่ดีที่แบงก์เร่งแก้ปัญหาหนี้

อย่างไรก็ดี ตัวเลขเอ็นพีแอลมีการปรับลดลงเร็วขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ โดยสัดส่วนเกิน 50% เป็นสินเชื่อรายย่อย ซึ่งพอร์ตที่มีการปรับโครงสร้างได้ดี จะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพราะทำได้ง่ายกว่าสินเชื่อรถยนต์ และมีมูลค่าที่สูงกว่า

“โดยเฉลี่ยตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2567 จะอยู่ที่ไตรมาสละ 23,500 ล้านบาท เร่งสปีดจากปี 2566 ที่เฉลี่ยไตรมาสละ 19,000 ล้านบาท โดยมองไปข้างหน้าจะเห็นแบงก์ยังคงปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก ซึ่งดีกับทั้งธนาคารและลูกหนี้”

หนุน “คุณสู้ เราช่วย” แก้หนี้

นายจงรัก รัตนเพียร ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากเศรษฐกิจที่ยังท้าทาย และยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ทั้งลูกค้าบุคคล และลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการความช่วยเหลือ และช่องทางต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับลูกค้า ทั้งการแบ่งเบาภาระหนี้ การเสริมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ADVERTISMENT

ตลอดจนให้ความร่วมมือในโครงการรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต

ทั้งนี้ ตัวเลข ณ สิ้นปี 2567 ธนาคารมีลูกค้าที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ประมาณ 100,000 ราย แบ่งเป็น ลูกค้าธุรกิจราว 40,000 ราย ที่เหลือเป็นลูกค้าบุคคล วงเงินสินเชื่อรวม 190,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

“ในปีนี้ ธนาคารจะยังคงยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ และให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมถึงโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เพื่อประคับประคองลูกค้าที่มีศักยภาพให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่ผันผวน และสามารถเดินหน้าได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว”

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขลูกค้าที่เข้ามาลงทะเบียน “คุณสู้ เราช่วย” มีสัญญาณที่ดีขึ้น เป็นผลจากธนาคารมีการสื่อสารและเร่งโทร.ติดต่อลูกค้ามากขึ้น มีการชี้แจงรายละเอียด เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความคุ้มค่าจากค่างวดที่จะลดลงค่อนข้างมาก และหากทำตามเงื่อนไขได้ ดอกเบี้ยก็ถูกยกให้

“มาตรการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เป็นมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ดีที่สุดในเวลานี้ โดยลูกค้ากลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้การตอบรับค่อนข้างดีกว่ากลุ่มสินเชื่อรถยนต์ แต่หากพิจารณาดูจำนวนลูกค้าที่มีปัญหาจะพบว่า ลูกค้ารถยนต์มีมากกว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประกอบกับมีลูกค้าจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่ามีโครงการ จึงทำให้สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ (%) ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารต้องการให้เข้าโครงการปัจจุบันอยู่ที่ราว 30-40%”

อย่างไรก็ดี ตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ของทีทีบีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสินเชื่อบ้านปี 2567 อยู่ที่ 4,900 บัญชี จากปี 2566 อยู่ที่ 2,000 บัญชี สินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 98,000 บัญชี จาก 71,000 บัญชี สินเชื่อบุคคล 1 หมื่นบัญชี จาก 1,400 บัญชี

“ตอนนี้ตัวเลขลูกค้าที่มาลงทะเบียนเริ่มดีขึ้น เป็นผลจากที่เราเร่งโทร.พูดคุยกับลูกค้ามากขึ้น ทำความเข้าใจในเรื่องความคุ้มค่า จากการที่ค่างวดลดลงเยอะ และหากจ่ายตรงดอกเบี้ยก็ไม่คิดอีก และอีกมิติ ก็คือ พอเราปรับโครงสร้างมากขึ้น จำนวนเคสของการยึดรถ ก็น้อยลง ส่งผลไปยังรถที่ต้องเอาไปขึ้นลานประมูลก็น้อยลง แล้วก็ส่งผลต่อไปยังราคาขายที่ดีขึ้น ทำให้ยอดขาดทุนรถยึด ปรับตัวดีขึ้น”

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารยังให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง โดยโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เป็นมาตรการที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดี ลูกค้าที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทะเบียนและผ่านเกณฑ์คุณสมบัติยังค่อนข้างน้อยอยู่ในสัดส่วนราว 20% จากเป้าหมายที่ธนาคารต้องการเห็นเกิน 50%

“อย่างไรก็ดี ธนาคารยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือตามแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ก่อน และหลังเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือ DR และ TDR ซึ่งจะช่วยลูกค้าในการลดค่างวดและยืดระยะเวลาตามความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละราย” ซีอีโอกลุ่มทิสโก้กล่าว