บาทปรับตัวอ่อนค่า หลังนักลงทุนคลายความกังวลสงครามการค้า

เงินบาท ค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า หลังนักลงทุนคลายความกังวลสงครามการค้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 25 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (25/03) ที่ระดับ 34.01/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/03) ที่ระดับ 33.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดโดยปรับตัวขึ้นแถวระดับ 104.31 เมื่อคืนนี้ (24/03) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นจากสหรัฐมีการปรับตัวอยู่ที่ระดับ 53.5 ในเดือน มี.ค. เป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งได้แรงหนุนมาจากคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้เมื่อวาน (24/03) ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่าในส่วนของภาษีศุลกากรนั้น จะมีประกาศเพิ่มเติมในไม่อีกกี่วันข้างหน้า โดยจะเรียกเก็บจากรถยนต์ รวมไปถึงสินค้าไม้แปรรูปและซิปในภายหลัง นายทรัมป์ยังประกาศเพิ่มเติมว่า เขาจะเรียกเก็บภาษีกับประเทศที่ซื้อน้ำมันและก๊าซจากเวเนซุเอลาถึง 25% โดยให้เหตุผลว่าเวเนซุเอลาส่งอาชญากรจำนวนมากมาที่สหรัฐ

แต่อย่างไรก็ตามนายทรัมป์ได้ส่งสัญญาณประนีประนอมต่อการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ จึงทำให้ความกังวลเรื่องสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบของสหรัฐเบาลง

ด้านปัจจัยภายในประเทศ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (25/03) นายพิชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องภายใต้การบริหารของรัฐบาล และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาของราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงได้อย่างดี นายพิชัยกล่าวว่าการส่งออกไทยปี 2567 นั้นโตขึ้นที่ 5.4% และในช่วง 5 เดือนแรกของรัฐบาลปัจจุบัน การส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ นักลงุนยังคงให้ความเชื่อมั่นกับรัฐบาลไทย โดยในปีที่แล้วประเทศไทยมีการขอรับการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท โดยโครงการภาคอุตสาหกรรม PCB เซมิคอนดักเตอร์ AI Data Center และธุรกิจที่เป็นโครงสร้างสำคัญของประเทศคาดว่าจะเสร็จภายในกลางปีนี้

นอกจากนี้ในวันที่ 4 เม.ย.นี้ ประเทศไทยจะมีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA กับภูฏานอย่างเป็นทางการ และยังมีแผนที่จะเร่งการเจรจาข้อตกลงกับประเทศเกาหลีใต้ แคนาดา และสหภาพยุโรปเร็ว ๆ นี้ เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการค้าให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.96-34.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (25/03) ที่ระดับ 1.0806/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/03) ที่ระดับ 1.0838/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้เมื่อวานนี้ (24/03) มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคการบริการเบื้องต้นของยูโรโซนมีการปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 50.4 ขยายตัวจากเดือน ก.พ.ที่ 50.2 โดยความเชื่อมั่นในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ได้แรงหนุนมาจากการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานและกลาโหม บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัว

นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคการบริการเบื้องต้นของประเทศเยอรมันก็มีการปรับตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ 50.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. ปีที่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร HCOB กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากดัชนี PMI มีการขยายตัวต่อเนื่องในทุกเดือน อีกหนึ่งปัจจัยคือการที่รัฐบาลเยอรมนีได้รับงบประมาณจำนวนมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรป ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0778-1.0808 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0796/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (25/03) ที่ระดับ 150.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/03) ที่ระดับ 149.56/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (25/03) มีการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน ม.ค. จาก BOJ ระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น มีความเห็นที่จะหารือเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากตอนนี้สภาพเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน และคณะกรรมการยังกล่าวเพิ่มถึงเสถียรภาพของตลาดการเงินและตลาดทุนทั่วโลกว่ายังคงอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากสามารถผ่านการเริ่มต้นของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่มาได้อย่างราบรื่น

แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการญี่ปุ่นยังคงกังวลว่านโยบายของนายทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในหลาย ๆ ด้าน เช่น นโยบาย American First ที่อาจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรีและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ถึงกระนั้นทางคณะกรรมการเชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพพอที่จะต้านแรงกดดันได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 150.43-150.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.54/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ของอังกฤษ (26/3), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (26/3), สต๊อกน้ำมันายสัปดาห์ของสหรัฐ (26/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (27/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2567 ของสหรัฐ (27/3), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน ก.พ. ของสหรัฐ (27/3),

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) กรุงโตเกียวเดือน มี.ค. (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. ของเยอรมนี (28/3), อัตราว่างงานเดือน มี.ค. ของเยอรมนี (28/3), ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ.ของอังกฤษ (28/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2567 (ประมาณการครั้งสุดท้าย) ของอังกฤษ (28/3), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.พ.ของสหรัฐ (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค. ของสหรัฐ (28/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.4/-7.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.0/-3.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ