พิพัฒน์ ชี้ 4 เรื่องใหญ่ ทุบโลกป่วน แนะไทยเพิ่มลงทุน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ดร.พิพัฒน์ KKP มองเหตุโลกป่วนมี 4 เรื่องใหญ่ โลกาภิวัตน์ผ่านจุดพีก-นโยบายทรัมป์ป่วน-Geopolitics-เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ชี้ไทยรับมือ แนะลงทุนเพิ่ม สร้าง Productivity-เพิ่มการศึกษา

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยในงานสัมมนา PRACHACHAT FORUM 2025-NEXT MOVE Thailand 2025 ตามหาโอกาส โลกป่วน เกมเปลี่ยน ว่าสภาพเศรษฐกิจโลกที่เกิดความวุ่นวายในปัจจุบันมีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ ๆ 1.เรื่องโลกาภิวัตน์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โลกเอ็นจอยกับสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่าการค้าโลกต่อจีดีพี ในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา การค้าโลกเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น โลกาภิวัตน์จึงมีผลประโยชน์เกิดขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้ประโยชน์จากประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อผลิตของในราคาที่ถูกลง โดยตลอดเวลาจะเห็นได้ว่าประโยชน์จาก Globalization การลดข้อจำกัดการค้ามันเพิ่มประสิทธิภาพของโลกขึ้นมาจริง ซึ่งจะเจออย่างจีน หรือแม้กระทั่งไทยก็เอ็นจอยกับสิ่งนี้ เพราะมีการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

แต่ช่วงหลังเริ่มมีความกังวลกับ Globalization เนื่องจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการค้าเสรี จะมีผู้ชนะและผู้แพ้เกิดขึ้นเสมอ และกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางกับคนที่มีรายได้น้อย กับคนที่รวยแล้ว หมายความว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศจีน ไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา แต่คนที่เสียประโยชน์คือคนชั้นกลางหรือคนรายได้น้อยของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งความไม่พอใจในกระแสโลกาภิวัตน์ดังมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ก็อาจเป็นหนึ่งในการที่อาจไม่พอใจ

“ดังนั้น ช่วงหลัง Globalization อาจจะผ่านจุดที่พีกไปแล้ว คนที่เสียเปรียบจากโลกาภิวัตน์ กำลังส่งเสียงบ่นที่ดังขึ้น”

ประเด็นที่ 2.Geopolitics ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเห็นผู้ชนะอย่างชัดเจน โดยฝั่งตะวันตกนำโดยสหรัฐเป็นคนวางระเบียบโลก และในช่วงหลังจากการพัฒนาเศรษฐกิจรวมไปถึงผลจากโลกาภิวัตน์ทำให้มีผู้ท้าชิงเพิ่มมากขึ้น อย่างจีน รัสเซีย Emerging Market อื่น ๆ เริ่มมีข้อต่อกรกับสหรัฐเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามว่าพอผู้แข็งแกร่งไม่ได้มีคนเดียว จุดสมรภูมิที่สำคัญจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

ADVERTISMENT

ประเด็นที่ 3.นโยบายทรัมป์ 2.0 ไม่ได้ทำซ้ำรอยกับทรัมป์ 1.0 แต่มาด้วยการเตรียมพร้อมที่มากขึ้น เริ่มเห็นว่าทรัมป์เริ่มมีแพลนในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่มากขึ้น และกล้าทำหลายนโยบายทั้งในปีนี้และปีหน้า ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนที่กำลังทำให้โลกตกใจ กล้าทำหลายนโยบายซึ่งอาจไม่เป็นประโยชน์กับสหรัฐด้วย 4.พัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีเพิ่มมากขึ้น

“สิ่งที่รู้สึกว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปจากสิ่งที่ทรัมป์กำลังทำมี 2-3 เรื่อง 1.สหรัฐกำลังบอกทุกคนว่าเขาไม่อยากรับภาระในการเป็นผู้จัดหาสินค้าสาธารณะอันดับโลกแล้ว แต่เพื่อนเขาจะหายไปขนาดไหน ขึ้นอยู่กับจุดสุดท้าย แต่มองว่าสหรัฐกำลังถูกโดดเดี่ยว แต่เขาก็ทำทุกวิถีทางของการต่อสู้ให้แฟร์สำหรับเขา“

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ในฝั่งของประเทศไทยก็กำลังเจอความท้าทายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผลกระทบจากข้างนอก ทั้งการเปลี่ยนของระเบียบโลกแรงกดดันที่เรากำลังเจอ จึงมองว่าไทยเราจะทำแบบเดิมไม่ได้ เรากำลังเจอการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการในไทยกำลังมีปัญหา สิ่งที่เราทำมาใน 30 ปีที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ผลแบบเดิมแล้ว

ประกอบกับแรงกดดันในประเทศ จะเห็นว่าเทรนด์การเติบโตของจีดีพีเริ่มโตช้าลง โอกาสที่ทำให้ไทยกลับไปโต 3-5% ยากมากถึงแม้ว่าพยายามอยากให้เป็นแบบนั้นก็ตาม ซึ่งแรงกดดันที่หนักสุดคือโครงสร้างประชากร โดยการเติบโตในระยะยาวแรงกดดันจากจำนวนประชากรจะเป็นแรงกดดันที่หนักที่สุด ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือต้องเพิ่มการลงทุน และต้องเพิ่ม Productivity หรือผลิตภาพ อย่างภาคการเกษตร ภาคบริการ

ซึ่งโจทย์สำคัญที่ทุกคนต้องทำคือด้วยทรัพยากรเท่าเดิมเราจะผลิตของให้เพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะทำไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มีการลงทุนเพิ่ม เราต้องมีการลงทุนเพิ่มทั้งในประเทศ และดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา รัฐบาลก็ต้องเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะมันไม่ใช่ปัญหาดีมานด์แล้ว มันเป็นปัญหาซัพพลาย

“สุดท้ายการลงทุนเรื่องทุนมนุษย์หรือการศึกษา อยากให้ช่วยหาวิธีการแก้ไข เพราะโจทย์สำคัญเลยคือ การลงทุน สร้าง Productivity และการศึกษา”