
ดร.สันติธารชี้ 3T ในนโยบายทรัมป์ 2.0 เปลี่ยนเกมเศรษฐกิจโลก-ไทย เตือนสงคราม AI เปลี่ยนสมดุลเศรษฐกิจ ไทยต้องปรับตัว แนะ 4 คำ “ยืน สร้าง กว้าง ไกล” รับมือโลกาภิวัตน์ยุคใหม่ หาโอกาสจากตลาดอื่นสร้างความมั่งคั่งเศรษฐกิจระยะยาว
ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยในงานสัมมนา PRACHACHAT FORUM 2025-NEXT MOVE Thailand 2025 ตามหาโอกาส โลกป่วน เกมเปลี่ยน ว่านโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ยุค 1.0 และทรัมป์ 2.0 ต่างกันพอสมควร โดยมีด้วยกัน 3T ที่ค่อนข้างรุนแรงประกอบด้วย
1.Tariffs หรือกำแพงภาษี ซึ่งไม่ได้มีไว้แค่ขู่หรือต่อรองเท่านั้น แต่เป็นกระสุนเครื่องมือที่ทรัมป์ชอบใช้ เพื่อต้องการที่จะลดการเกินดุลของการค้าประเทศอื่นกับสหรัฐ ต้องการจะดึงอุตสาหกรรมกลับมาและปกป้องคนบางกลุ่ม รวมถึงการทำลายอุตสาหกรรมที่คิดว่าสำคัญ เช่น ยานยนต์ที่จะกระทบไทยอย่างแน่นอน และคนที่ไม่ชอบหน้าก็จะโดนบวกภาษีเพิ่มอีก
“เป็นไปได้ว่าทรัมป์จะไม่ดูแค่กำแพงภาษี คุณใส่ฉันเท่าไหร่ แต่จะดูว่า VAT ที่เก็บ หรือมาตรการมีการบวกด้วยหรือไม่ ซึ่งล่าสุดทรัมป์ตั้งกลุ่มการค้าสกปรก 15 อัน โดยยังไม่รู้ว่าใครบ้าง เป็นสิ่งที่เขาจะใช้ภาษีใส่“
2.Transactional ซึ่งเป็นหลักว่า แม้เป็นเพื่อนกันไม่ได้แปลว่ารอด ซึ่งเมื่อสมัย โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีคอนเซ็ปต์ว่า Friendshoring เพื่อนกัน เรารอด แต่ถ้าเป็นศัตรูกัน เราโดน ซึ่งวันนี้เพื่อนก็ไม่ได้รอด
“เปรียบเทียบหัวหน้าแก๊งมอเตอร์ไซค์ 2 แก๊งวิ่งเข้าหาตรงกลาง ใครกระโดดออกแพ้ ถามว่าทำยังไงถึงเป็นผู้ชนะ คือต้องทำให้อีกฝั่งคิดว่าเราบ้า สามารถวิ่งเข้าชนทำให้เขากลัวแล้วกระโดดออกเอง เพราะฉะนั้นบางทีเหมือนผู้นําทำอะไรบ้า ๆ ไม่แน่ใจว่าบ้าจริงหรือยิงยุทธศาสตร์ ซึ่งอาจมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง สุดท้ายอีกฝั่งโชว์บ้าเหมือนกันก็เลยชนกัน”
3.Triumph เป็นสิ่งที่ต้องตีโจทย์กันดี ๆ ว่าความสำเร็จของทรัมป์คืออะไร ซึ่งถามว่า 4 ปีหลังจากนี้เขาอยากเห็นโลกไปทางไหน ภาพนี้ก็น่าสนใจ ซึ่งเป็นภาพที่ตัดแบ่งกันระหว่างผู้นํารัสเซีย จีน อเมริกา คนละส่วนหรือเปล่า โดยทรัมป์ต้องการมีอํานาจทางเศรษฐกิจ แต่บางครั้งการเป็นผู้ชนะอาจจะไม่แปลว่าชีวิตดีขึ้น
“เป็นไปได้หรือไม่ว่าในโลกที่ขนาดเศรษฐกิจเล็กลง แต่อเมริกาได้ส่วนแบ่งใหญ่ขึ้น ทรัมป์จะบอกว่านี่คือชัยชนะ แต่ปรากฏว่าคนในอเมริกาชีวิตแย่ลง แต่รู้สึกชนะ อันนี้เราต้องตีโจทย์ให้แตก ขณะที่มีคนถามว่า การมาของนโยบายของทรัมป์จะเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมายิ่งใหญ่ของอเมริกา หรือจะเป็นการเริ่มต้นของจุดจบที่ผู้นำอเมริกาจะถดถอยลงไป”
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสงคราม AI จะทำให้ยุคของ AI มาถึงเราเร็วขึ้น การมาของ Deepseek มันเปลี่ยนโลกได้ค่อนข้างเยอะ เช่น สหรัฐกับจีน จากเดิมที่สหรัฐนำจีนได้ แต่ปัจจุบันจีนเริ่มนำสหรัฐขึ้นได้ รวมถึงเรื่องของราคาถูกกับแพง สิ่งที่ตามมาคือคนอาจจะเข้าถึงเทคโนโลยี AI เร็วขึ้น และมาถึงเราได้เร็วมากขึ้น
ดร.สันติธารกล่าวต่อว่า เรื่องโลกาภิวัตน์มองว่าจะเข้าสู่การผลัดใบ ซึ่งแปลว่าจะมีโอกาสใหม่ ๆ ขึ้นมาก ที่จะเชื่อมต่อกันของโลก และทำให้พรมแดนจางลง แต่ก่อนเรื่องนี้จะเชื่อมกันจากสินค้า แต่ปัจจุบันมีเรื่องของภาคบริการ การเดินทางท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว เที่ยวหลากหลายขึ้น ไทยก็ไม่มีจีนเพียงอย่างเดียว ขณะที่มิติของดิจิทัล เดต้า ที่บอกโลกนี้โลกาภิวัตน์น้อย แต่หมูเด้งของไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก
นอกจากนี้ มองว่ามีแนวคิดที่โลกจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ อเมริกา จีน และประเทศอื่น ๆ ถ้าจะทำธุรกิจในจีนก็ทำแยกเพื่อตลาดจีนเท่านั้น หรือหากสหรัฐก็แยกต่างหาก ซึ่งประเด็นหลักคือประเทศอื่น ๆ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง เราต้องมองกว้างเพื่อเป็นโอกาส
“ทั้งหมดนำมาสู่เมืองไทยที่น่าจับตา คือสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด แต่เป็นไปได้ว่าคนไทยจะเริ่มเข้าใจว่าทำไมคนสหรัฐถึงไม่ชอบโลกาภิวัตน์ ซึ่งเมื่อก่อนโลกาภิวัตน์เราอาจจะได้เห็นด้านสว่าง อย่างการส่งออกต่างประเทศ แต่สิ่งที่สหรัฐไม่ชอบคือสินค้าจะทะลักเข้ามาในประเทศเขา, เขาไม่ชอบทุนที่ไม่ดีเข้ามาในประเทศเขา, เขาไม่ชอบ Immigration คนที่เข้ามาในประเทศเขา ซึ่งทั้ง 3 อย่างไทยจะต้องเจอมากขึ้น ดังนั้น เราต้องคิดให้ดีว่าเราจะหาประโยชน์ด้านสว่างของโลกาภิวัตน์อย่างไร”
ดร.สันติธารกล่าวต่อว่า หากพูดถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนหรือความผันผวน แต่หากมองในเชิงธุรกิจ สิ่งที่ต้องเข้าใจคือภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น แปลว่าการแข่งขันก็เข้มข้นขึ้นเช่นกัน โดยสิ่งที่ต้องแก้ไขมองว่ามี 4 คำคือคำว่า “ยืน สร้าง กว้าง ไกล” อธิบายได้ว่า
1.ยืน เราต้องหาจุดยืนให้ถูกที่แม้มีสิ่งที่เราเคยเป็นที่ 1 ของวงการ ปัจจุบันเราอาจจะไม่รอดก็ได้ถ้ายืนผิดที่ อยู่ผิดอุตสาหกรรมเราก็แพ้ได้เสมอ นอกจากนั้นต้องดูด้วยว่าคู่แข่งที่ทำธุรกิจ Upside มีมากแค่ไหนและจีนทำได้หรือไม่
2.สร้าง หากยืนถูกที่แล้ว เราจะสร้างมูลค่าได้หรือไม่ หรือเราเป็นแค่ทางผ่าน เราต้องเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่การผลิตนั้นด้วย
3.กว้าง หากโลกแบ่งเป็น 3 ส่วน เรานึกถึงสหรัฐกับจีน แต่ได้นึกถึงประเทศอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ เศรษฐกิจในอนาคต ภายในปี 2050 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลายคนบอกว่า TOP 5 น่าจะอยู่ในเอเชีย อินเดีย อินโดนีเซีย จีน เราหาโอกาสจากตลาดพวกนี้หรือยัง อย่าดูแค่ในประเทศ และดูแค่ประเทศใหญ่ ๆ อย่างเดียว เราต้องมองตลาดให้กว้างขึ้น
4.ไกล เราต้องมองโลกให้ไกลมากขึ้น คิดว่าเกมข้างหน้าจะเป็นอะไร เช่น ด้าน Care Economy, ด้านบริการ, ท่องเที่ยว, ด้าน Wellness ของไทยมีจุดแข็งมากมาย โลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งควรจะเป็นเกมอนาคตอย่างหนึ่งที่เราควรปักธงไว้