
ดอลลาร์อ่อนค่า หลังดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐต่ำกว่าคาด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 หลังกังวลการใช้นโยบายของทรัมป์ที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 26 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (26/30) ที่ระดับ 33.83/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/03) ที่ระดับ 33.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลง 7.2 จุด สู่ระดับ 92.9 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 จากระดับ 100.1 ในเดือน ก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 94.2
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการใช้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นในช่วงแรกต่อเนื่องจากวานนี้ ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าของสหรัฐ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ส่งสัญญาณใช้ความยืดหยุ่นต่อแผนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เม.ย. ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบของสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า เขาจะเดินหน้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อรถยนต์, ยา, ไม้ และเซมิคอนดักเตอร์ นอกเหนือจากเหล็กและอะลูมิเนียมที่มีการเรียกเก็บในปัจจุบัน
ทางด้านสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ ออกรายงานเตือนในวันอังคารว่า สถานะด้านการคลังของสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ลดน้อยลง
ส่วนการแสดงความเห็นล่าสุดของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น เอเดรียนา คุกเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดยังคงอยู่ในลักษณะคุมเข้ม แต่ยอมรับว่าเฟดมีความคืบหน้าช้าลงในการทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
ขณะที่จอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กกล่าวว่า บริษัทเอกชนและภาคครัวเรือนของสหรัฐ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต
ทั้งนี้นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ เนื่องจากดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ด้านปัจจัยภายในประเทศ (26/03) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติวันนี้ (26 มี.ค.) ถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วันว่า ขณะนี้ได้มีการปรับขึ้นไปแล้วใน 5 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และเกาะสมุย โดยเตรียมขยายทั่วประเทศเพื่อเป็นของขวัญวันแรงงาน และมีแผนช่วยเหลือนายจ้างควบคู่ผ่านมาตรการภาษีร่วมกับกระทรวงการคลัง
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ความคืบหน้าร่างพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ได้ส่งรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว ซึ่งเท่าที่ทราบไม่มีหน่วยงานใดมีความเห็นค้านร่างดังกล่าว โดยกระทรวงการคลัง ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เรียบร้อยแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการรอบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.84-34.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (26/03) ที่ระดับ 1.0788/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/03) ที่ระดับ 1.0806/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยการซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซา เพราะนักลงทุนยังคงไม่มั่นใจเรื่องมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐส่งสัญญาณว่า เขาอาจจะยกเว้นภาษีศุลกากรให้กับหลายประเทศก็ตาม
นอกจากนี้นักลงทุนยังรอดูการอัพเดตงบประมาณจากราเซล รีฟส์ รมว.คลังอังกฤษด้วย ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0776-1.0802 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0797/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (26/03) ที่ระดับ 150.24/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/03) ที่ระดับ 150.36/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน ม.ค.ในเมื่อวานนี้
โดยระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า โอกาสที่ BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% กำลังเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหาก BOJ มีความมั่นใจว่าค่าจ้างและเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม BOJ ก็จะพิจารณายุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra -loose monetary policy ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.82-150.63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.09/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ของอังกฤษ (26/3), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.พ. ของสหรัฐ (26/3), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐ (26/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (27/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2567 ของสหรัฐ (27/3), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน ก.พ.ของสหรัฐ (27/3),
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) กรุงโตเกียวเดือน มี.ค. (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. ของเยอรมนี (28/3), อัตราว่างงานเดือน มี.ค.ของเยอรมนี (28/3), ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ.ของอังกฤษ (28/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2567 (ประมาณการครั้งสุดท้าย) ของอังกฤษ (28/3), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.พ. ของสหรัฐ (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (28/3)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.1/-7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.5/-3.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ