
ดอลลาร์รีบาวนด์ ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (27/3) ที่ระดับ 33.96/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/3) ที่ระดับ 33.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวานนี้ (26/3) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน
เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือน ก.พ. สวนทางกับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 1.0% หลังจากที่พุ่งขึ้น 3.3% ในเดือน ม.ค. โดยยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ผลิตเร่งสั่งสินค้าก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อเหล็กและอะลูมิเนียม
อีกทั้งเมื่อวานนี้ (26/3) ประธานาธิบดีทรัมปได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐ เพิ่มเป็น 25% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. และจะเริ่มดำเนินการเรียกเก็บภาษีในวันที่ 3 เม.ย. โดยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการฟื้นฟูการผลิตภายในประเทศ และดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาสู่สหรัฐ ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลเรื่องผลกระทบจากภาวะการค้าโลก
นอกจากนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างแสดงความกังวลต่อมาตรการภาษีศุลกากรดังกล่าวว่าอาจจะส่งผลให้ราคารถยนต์ปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่กำลังเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีประธานาธิบดีทรัมป์ เชื่อว่ามาตรการภาษีนี้จะทำให้บริษัทรถยนต์ย้ายฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ใหม่ให้กับรัฐบาลและลดหนี้สินสาธารณะของประเทศ ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.พ.ของสหรัฐ ในวันศุกร์ 28/3 เพื่อประเมินหาแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ด้านปัจจัยในประเทศ วันนี้ (27/3) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 12/2568 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงตามข้อเสนอของกฤษฎีกา โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะสนับสนุนในส่วนของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่จะช่วยส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก และจะไม่เน้นเรื่องกาสิโนที่มีอยู่เพียง 10% โดยระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 33.89-34.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (27/3) ที่ระดับ 1.0764/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/3) ที่ระดับ 1.0797/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจในการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรปของสหรัฐ เนื่องจากการเก็บภาษีศุลกากรดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ทั้งในสหรัฐและสหภาพยุโรป (EU) โดยนางเออร์ซูลากล่าวเสริมว่า EU จะหาทางออกผ่านการเจรจาควบคู่ไปกับการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0754-1.0787 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0766/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (27/3) ที่ระดับ 150.17/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/3) ที่ระดับ 150.09/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (27/3) บรรดานักวิเคราะห์ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมวันที่ 1 พ.ค. หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์
โดยนักวิเคราะห์จากสถาบันอิโตชูกล่าวว่า การเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจหลักและอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นวงกว้าง โดย BOJ ต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ ซึ่งอาจจะไม่เสร็จสิ้นทันก่อนการประชุมเดือน พ.ค.
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ คาดว่าภาษีนำเข้ารถยนต์อาจส่งผลให้ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นลดลงเพียง 0.1% เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นไม่ได้เสียเปรียบด้านการแข่งขันเพียงผู้เดียวเพราะมาตรการนี้มีผลบังคับใช้ต่อทุกประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 150.06-150.96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.87/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (27/3), ดัชนี GDP ไตรมาส 4/2567 ของสหรัฐ (27/3), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (27/3), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) กรุงโตเกียว เดือน มี.ค. (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.ของเยอรมนี (28/3), อัตราว่างงานเดือน มี.ค.ของเยอรมนี (28/3), ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ.ของอังกฤษ (28/3), ดัชนี GDP ไตรมาส 4/2567 (ประมาณการครั้งสุดท้าย) ของอังกฤษ (28/3), ดัชนี PCE เดือน ก.พ.ของสหรัฐ (28/3), และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (28/3)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.0/-6.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.5/-3.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ