
เปิดความเห็น 3 หน่วยงานด้านกฎหมาย “ศาลยุติธรรม-อัยการสูงสุด-DSI” ท้วงติง 5 ประเด็น ปมคลังชง พ.ร.ก. ติดดาบเพิ่มอำนาจทำคดีให้ ก.ล.ต. เผยที่ประชุม ครม. ให้คลังรับความเห็นไปปรับปรุงกฎหมายโดยเร่งด่วน
รายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ได้อนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะตราพระราชกำหนด ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน
โดยที่ประชุม ครม. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงรายละเอียดของร่างพระราชกำหนดฯ ไปประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ซึ่งหน่วยงานข้างต้นมีความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. ประเด็นการออกกฎหมายเป็น พ.ร.ก.
สำนักงานศาลยุติธรรม เห็นว่า การสอบสวนคดีไม่น่าจะเข้าข่ายที่จะตราเป็น พ.ร.ก.ได้ เนื่องจากมิได้เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตาม ม.172 ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการสอบสวนคดียังเป็นการใช้อำนาจรัฐที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรตราเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาความเหมาะสมของบทบัญญัติดังกล่าว
ขณะที่ DSI เห็นว่า การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เฉพาะในส่วนของ “การสอบสวนคดีอาญา” น่าจะมิได้เข้าข่ายเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งจะต้องแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วนโดยตราออกมาเป็น พ.ร.ก.
รวมทั้งยังเห็นว่า การพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเฉพาะในส่วนของ “การสอบสวนคดีอาญา” โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมิได้มีการร่วมพิจารณา อาจจะก่อให้เกิดผลได้ที่ไม่ได้สัดส่วนกับผลเสียหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติอีกด้วย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ปัจจุบันได้เกิดเหตุการณ์ทุจริตในตลาดทุนอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง มีผู้เสียหายจากการกระทำทุจริตเป็นจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้บังคับใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันอย่างเข้มข้นแล้ว ก็ยังไม่อาจป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดได้ทันท่วงที
กรณีจึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้มีบทบัญญัติที่สามารถยับยั้งและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดทุน เพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยให้กลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะตรา พ.ร.ก. เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวตาม ม.172 ของรัฐธรรมนูญ
2.ประเด็นหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ
สำนักงานอัยการสูงสุด เห็นว่า การกำหนดให้เลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นทั้งพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบและผู้ทำความเห็นแย้งขัดต่อหลักตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และผู้พิจารณาทำความเห็นแย้งเป็นบุคคลเดียวกัน
ขณะที่ DSI เห็นว่า การกำหนดให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ตรวจสอบ สืบสวน ร้องทุกข์กล่าวโทษ สอบสวน และมีความเห็น ทั้งการสั่งคดีและการพิจารณาความเห็นแย้งเพียงฝ่ายเดียว ย่อมไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
3.ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนโดยพนักงาน ก.ล.ต.
สำนักงานอัยการสูงสุด เห็นว่า ควรให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการสั่งดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในชั้นศาลเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินคดีตั้งแต่ในชั้นสอบสวน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการ
ดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งยังจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในด้านประสิทธิภาพของการดำเนินคดีอาญา
ขณะที่สำนักงานศาลยุติธรรม เห็นว่า การกำหนดให้ ก.ล.ต.มีมติในคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนหรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศตามร่าง ม.317/16
เป็นการใช้ถ้อยคำที่มีความคลุมเครือ จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าคดีลักษณะใดบ้างที่ ก.ล.ต. จะมีมติกำหนด
ให้เป็นคดีที่พนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.นี้มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนได้
รวมถึงยังเห็นว่า ในหมวด 12/2 (การสอบสวนคดี) ร่าง พ.ร.ก. ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของพนักงาน
สอบสวนและอำนาจของพนักงานสอบสวนในการเข้าค้นในเวลากลางคืนหรือเคหสถานไว้
4.ประเด็นข้อสังเกตเรื่องความพร้อมของ ก.ล.ต.ในการสอบสวนคดี
สำนักงานศาลยุติธรรม เห็นว่า การกำหนดให้ ก.ล.ต.มีมติในคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน หรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอาจยังไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากองค์ประกอบของ ก.ล.ต. ประกอบด้วยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนมาก
ขณะที่ DSI เห็นว่า ก.ล.ต.ถูกออกแบบมาเพื่อวางนโยบายเป็นสำคัญ มากกว่าการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จึงอาจไม่เหมาะสมที่จะให้อำนาจแก่ ก.ล.ต. ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนมากในการกำหนดคดีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต.มีอำนาจสอบสวน
DSI ยังเห็นว่า หากสำนักงาน ก.ล.ต.ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องพนักงานสอบสวน อาจส่งผลให้หากต้องรับผิดชอบคดี High Impact ก็จะต้องมีการรับโอนข้าราชการกระทรวง กรม หรือตำรวจมาปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งจะต้องมีการผลิตบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็น “พนักงานสอบสวน” ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เพื่อสนับสนุนงานสอบสวนนี้จะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร
DSI เห็นว่า พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มีเครื่องมือพิเศษไว้หลายประการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอบสวนในคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ม.25 การได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีพิเศษ และ ม.27 การจัดทำเอกสารหรือหลักฐานเข้าไปแฝงตัวในองค์กรอาชญากรรม เป็นต้น แต่ในร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวมิได้ปรากฏเครื่องมือพิเศษ ซึ่งรวมถึงบุคลากรที่จะมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือพิเศษที่จะสนับสนุนการต่อต้านอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบร้ายแรงดังเช่นเครื่องมือพิเศษที่มีอยู่แล้วใน พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ
นอกจากนี้ DSI ยังเห็นว่า หากสำนักงาน ก.ล.ต.มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินคดี High Impact ก็จะต้องเตรียมจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมากสำหรับสนับสนุนงานบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงานสอบสวน ค่าใช้จ่ายในการจับกุมคุมขัง ค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาของกลาง ค่าใช้จ่ายในการติดตามตัวผู้ต้องหา และค่าใช้จ่ายในการจัดทำห้องสอบสวนและมีอุปกรณ์การบันทึกภาพจับกุมและอื่น ๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ การโอนภารกิจหน้าที่บางส่วนไปยังหน่วยงานอื่นทั้งที่หน่วยงานที่มีอยู่เดิมก็ยังสามารถปฏิบัติงานได้ อีกทั้งการโอนภารกิจหน้าที่ดังกล่าวยังก่อให้เกิดภาระทางด้านงบฯของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
5.ประเด็นความซ้ำซ้อนกับคดีพิเศษ
DSI เห็นว่า คดี High Impact มิได้เป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะพิเศษหรือแตกต่างไปจากลักษณะคดีพิเศษตาม ม.21 วรรคหนึ่ง (1) (ข) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2549 ซึ่งบัญญัติว่า คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ อีกทั้งคดี High Impact ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของลักษณะความผิดคดีพิเศษดังกล่าวข้างต้น