
ธนาคารกรุงเทพ เผยสินเชื่อไตรมาสที่ 1/68 ยังเติบโตได้ เน้นดูแลลูกค้าทุกกลุ่ม หนุนลูกค้าปรับตัวรับมือสู่ “Low Carbon” อัดวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าสินเชื่อทั้งปี 3-4% ระบุ จ่ายเงินปันผล 8.50 บาทต่อหุ้น มองเป็นระดับเหมาะสม รอผู้ถือหุ้นอนุมัติ 11 เม.ย. 68 นี้
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อในไตรมาสที่ 1/2568 ถือว่าเติบโตได้ โดยธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อทั้งปีอยู่ที่ระดับ 3-4% ธนาคารยังเน้นทุกกลุ่มสินเชื่อ หากดูในส่วนของธุรกิจรายใหญ่จะเห็นว่าลูกค้ายังคงใข้เวลาในการตัดสินใจในการลงทุนโดยรอดูสถานการณ์และแนวโน้มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี มองว่าการขยายลงทุนไปในตลาดภูมิภาคยังมีโอกาสในการเติบโต ซึ่งธนาคารก็พร้อมสนับสนุนออกไปลงทุนในต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ธนาคารจึงยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว จาก High Carbon ไปสู่ Low Carbon โดยดำเนินการตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้ “Thailand Taxonomy” จะมุ่งเน้นใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ เกษตร อุตสาหกรรม ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงผลักดันผ่านการสนับสนุนสินเชื่อการเปลี่ยนผ่าน
เช่น สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan) และสินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Bualuang Green Financing for Transition to Environmental Sustainability) ที่มีวงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท หากลูกค้ามีความต้องการธนาคารก็พร้อมขยายวงเงินสนับสนุนต่อเนื่อง
“สินเชื่อยังพอไปได้ ซึ่งเราก็ให้ความสำคัญในการดูแลลูกค้าทุกกลุ่ม และให้ความเข้าใจเรื่องของ Green Economy โดยสนับสนุนให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานโลก และเป็นประโยชน์กับประเทศ”
สำหรับกรณีการจ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืนนั้น นายชาติศิริกล่าวว่า ธนาคารจะมีขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 8.50 บาท โดยมองว่าเป็นระดับเหมาะสม
นายชาติศิริกล่าวเพิ่มเติมในงานเสวนา “The Great Green Transition” ว่า โลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่กำลังยกระดับจาก Global Warming หรือโลกร้อน ขึ้นเป็น Global Boiling หรือโลกเดือด นำมาซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้น แรงขึ้นในทุกทวีป ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งกฎเกณฑ์-สนธิสัญญาเพื่อชะลอปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเจริญแล้ว ในการออกเกณฑ์บังคับใช้การจัดเก็บภาษีการนำเข้าสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอัตราที่สูง อาทิ อะลูมิเนียม, เหล็ก, เหล็กกล้า, ปูนซีเมนต์, ปุ๋ย, ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้โครงสร้างในการนำเข้าตลาดโลกเปลี่ยนไป
ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องตระหนักและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถเข้าสู่ซัพพลายเชนในกลุ่ม Low Carbon ให้ได้ ซึ่งก็ต้องใช้แนวทาง Green Transition เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป
ดังนั้น ธนาคารกรุงเทพเองในฐานะ ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน’ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว และได้มีแนวทางในการช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถเปลี่ยนถ่ายขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างแท้จริง ทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่าง ๆ และทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาธนาคารได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้แก่ผู้ประกอบการในประเด็นเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ‘Green Innovative Solutions Startup Pitching’ โดยเชิญชวนธุรกิจสตาร์ตอัพในไทยที่เชี่ยวชาญและเป็นเจ้าของนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียว มาร่วมกันนำเสนอโซลูชั่นเพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยที่จะเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่โลกการแข่งขันใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีสตาร์ตอัพเข้าร่วมกิจกรรมถึง 44 บริษัท และได้คัดเลือก 10 รายที่มีโครงการพัฒนานวัตกรรมสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่น มาร่วมจัดบูทแสดงผลิตภัณฑ์และบริการ ภายในงานเสวนาดังกล่าว รวมถึงได้คัดเลือก 3 รายที่โดดเด่นที่สุด ร่วมนำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการบนเวทีงานเสวนาอีกด้วย
และเร็ว ๆ นี้ ธนาคารยังเตรียมเปิดโครงการหลักสูตรอบรม ‘Green Transition Academy’ ซึ่งเป็นหลักสูตรนำเสนอความรู้เชิงลึกและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเกี่ยวกับมาตรการและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการจัดทำ Official Fanpage บนแพลตฟอร์ม Facebook ภายใต้ชื่อ ‘The Great Green Transition by Bangkok Bank’ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม แบ่งปันความรู้ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อม
ความคืบหน้าด้านมาตรการกฎระเบียบที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และอัพเดตแนวทางบริหารจัดการองค์กรเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจในโลกยุคใหม่ โดยเน้นที่วิธีการและตัวอย่างที่ถูกนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้จริง