
“จิ๊กซอว์ของการฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยให้กลับมา ถูกต่อเข้ามาอีกชิ้น เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ…ที่เป็นการยกระดับการกำกับดูแลกิจการและมาตรการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มอำนาจการสืบสวนทำสำนวนคดี ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยโฟกัสที่คดี “High Impact” ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เท่านั้น ไม่ได้รวมคดีภายใต้กฎหมายอื่น
ทั้งนี้ การติดดาบให้กับ “สำนักงาน ก.ล.ต.” มีรายละเอียด ดังนี้ (1) สำนักงาน ก.ล.ต. จะมีพนักงานสอบสวนขึ้นมา รวมทั้งคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะมีอำนาจพิจารณาว่า คดีใดเป็นคดี “High Impact” และเลขาธิการ ก.ล.ต. สามารถอนุมัติให้สอบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ด้วย
(2) กำหนดให้เลขาธิการ ก.ล.ต. และพนักงานที่ได้รับมอบหมาย จะมีอำนาจสืบสวนและสอบสวนคดี “High Impact” (3) กำหนดให้คดีที่มีการกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งเป็นคดี “High Impact” ให้พนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีอำนาจสืบสวนสอบสวนสำหรับความผิดบทอื่นด้วย
(4) กำหนดให้กรณีพนักงานสอบสวนตาม ป.วิอาญา ได้ทำการสอบสวนคดีในเรื่องใดไปแล้ว แต่ภายหลังบอร์ด ก.ล.ต. ได้มีมติให้คดีนั้นเป็นคดี “High Impact” ให้พนักงานสอบสวนตามกฎหมายอื่นส่งมอบสำนวนให้พนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อดำเนินการสอบสวนคดีต่อไป
(5) กำหนดให้ รมว.คลัง มีอำนาจในการเสนอให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐ มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นการชั่วคราว ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนคดี
นอกจากนี้ กฎหมายที่แก้ไข ยังมีในส่วนที่เกี่ยวกับการขายชอร์ต เช่น เพิ่มหน้าที่ผู้ลงทุนที่ขายชอร์ตต้องแสดงได้ว่ามีการยืมหลักทรัพย์ก่อนส่งคำสั่ง, เพิ่มหน้าที่ของผู้ให้บริการในต่างประเทศที่ทำหน้าที่รับฝากหลักทรัพย์ ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงต่อ ก.ล.ต., เพิ่มบทยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการเปิดเผย การแลกเปลี่ยน การเข้าถึง ตลอดจนการเก็บ การรวบรวมหรือการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง
ที่สำคัญ ยังมีการกำหนดโทษทางอาญาและการเปรียบเทียบปรับสำหรับผู้ที่ขายชอร์ตโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ หรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยการปกปิดความจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่า ของราคาขายของหลักทรัพย์ทั้งหมด ทั้งนี้ เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รวมทั้งการฝ่าฝืนหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการทางกฎหมายที่เพิ่มเติมเข้ามา จะเป็นเครื่องมือในการยับยั้งความเสียหายและบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง อันจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในตลาดทุนและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุนให้กลับมาได้
ขณะที่ “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า เป็นการปรับปรุงในหลาย ๆ มิติ โดยการออกเป็น พ.ร.ก. ตามที่ ครม.เห็นชอบจะช่วยให้การดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อตลาดทุนได้กรณีมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อีกทั้งการเสริมสร้างตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
สำหรับกรณีการเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่มี “High Impact” ก.ล.ต.มีอำนาจในการทำคดี และเมื่อสรุปสำนวนเสร็จสิ้น จะนำส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง ซึ่งเป็นไปตามหลักการ Check and Balance ตามกระบวนการยุติธรรม
ฟาก “อัสสเดช คงสิริ” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อตลาดทุนโดยรวม เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของการกำกับดูแลการซื้อขายและการตรวจสอบการทำธุรกรรมของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังจะช่วยให้การดำเนินการทางคดีและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดในตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้รวดเร็วมากขึ้น อันจะช่วยป้องปรามให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว
“มาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดเพิ่มเติมในร่างกฎหมายดังกล่าว สามารถจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น (Trust & Confidence) ให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของตลาดทุนไทยในขณะนี้”