จับตานโยบายซื้อหนี้ประชาชน ดึงเอกชนลงทุน สางวิกฤตหนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้าน

Buy debt
คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)

ท่ามกลางกระแสกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง เสียงสะท้อนจากเวทีปราศรัยของอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ที่จังหวัดพิษณุโลก ได้จุดประกายแนวคิด “ซื้อหนี้ประชาชน” ขึ้นมาอีกครั้ง กลายเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ตลาดการเงิน ไปจนถึงผู้กำหนดนโยบาย

สาระสำคัญของแนวคิดนี้คือ การเปิดทางให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการ “ซื้อหนี้” จากสถาบันการเงิน แล้วนำไปปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อช่วยให้ประชาชนที่มีหนี้เสียสามารถกลับมาใช้ชีวิตทางการเงินได้อีกครั้ง โดยไม่พึ่งงบประมาณแผ่นดิน ทั้งยังมีข้อเสนอให้ “ล้างข้อมูลเครดิตบูโร” เพื่อรีเซตสถานะลูกหนี้ และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจผ่านการฟื้นฟูอำนาจซื้อของประชาชน

แม้แนวทางดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยเองเคยมีประสบการณ์มาแล้วกับการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC (Asset Management Company) เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงไทย (KTAMC) หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดการหนี้เสียของระบบธนาคารและช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในยุคนั้น

แต่ในปัจจุบัน โจทย์ของปัญหาหนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนวันวานอีกต่อไป

หนี้ครัวเรือนทะลัก-หนี้เสียพุ่ง

ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ณ ไตรมาส 3 ปี 2567 ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งแตะระดับ 16.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89% ของ GDP ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับสูงลำดับต้น ๆ ของโลก โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มากถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือ 8.8% ของสินเชื่อรวม

เมื่อพิจารณาขนาดและความซับซ้อนของหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน คำถามสำคัญที่ตามมาคือ เอกชนหรือ AMC ที่จะเข้ามารับซื้อหนี้เหล่านี้จะมี “ศักยภาพทางการเงิน” และ “เครื่องมือจัดการ” มีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่

ADVERTISMENT

เนื่องจากการบริหารหนี้ครัวเรือนไม่ได้ง่ายเหมือนกับหนี้ธุรกิจที่มีสินทรัพย์หลักประกันชัดเจน ผู้บริหารหนี้ต้องมีความเข้าใจพฤติกรรมลูกหนี้ พร้อมทั้งกลยุทธ์เจรจาที่สามารถโน้มน้าวใจให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

ความเสี่ยงต้องจับตา : ล้างเครดิตบูโรและ Moral Hazard

ประเด็นที่สร้างความกังวลอย่างมาก คือ ข้อเสนอในการล้างข้อมูลเครดิตบูโรของลูกหนี้ ซึ่งแม้จะมีเจตนาดีในการให้โอกาสเริ่มต้นใหม่ แต่ก็อาจส่งผลกระทบในเชิงระบบ กล่าวคือ หากธนาคารและผู้ให้กู้ไม่มีข้อมูลประวัติสินเชื่อที่ชัดเจน อาจทำให้เกิดการประเมินความเสี่ยงที่ผิดพลาด และนำไปสู่การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่ไม่มีความสามารถชำระหนี้จริงในอนาคต ก่อให้เกิดวงจรหนี้เสียซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

ADVERTISMENT

อีกด้านหนึ่งคือความเสี่ยงเชิงพฤติกรรม หรือที่เรียกว่า “Moral Hazard” ที่ลูกหนี้บางส่วนอาจเข้าใจผิดว่ารัฐหรือเอกชนจะเข้ามาช่วยเหลือทุกครั้งเมื่อมีปัญหา จนเกิดการขาดวินัยทางการเงินในระยะยาว

AMC ในบทบาทตัวกลาง : บริหารความเสี่ยง พร้อมคืนโอกาสให้ลูกหนี้

ทั้งนี้ AMC ต้องดำเนินการภายใต้กรอบของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 9 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในกรณีของหนี้เสียที่ซื้อมา ซึ่งจัดอยู่ในประเภทสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตตั้งแต่แรกเริ่ม (Purchased or Originated Credit Impaired-POCI) สินทรัพย์ประเภทนี้จำเป็นต้องมีการประเมิน “ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น” หรือ Expected Credit Loss (ECL) ตั้งแต่วันแรกที่ถือครอง เพื่อให้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่แท้จริง และป้องกันการประเมินมูลค่าที่สูงเกินจริง ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดพลาดในการบริหารหนี้ระยะยาว

ในอีกมุมหนึ่ง หากพิจารณาจากฝั่งของลูกหนี้ หนี้ที่มีอยู่นั้นอาจเพียงแค่เปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้เดิมมาเป็น AMC เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจเปิดโอกาสให้ลูกหนี้บางรายได้เจรจาเงื่อนไขใหม่ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยืดระยะเวลาชำระ การลดภาระดอกเบี้ย หรือการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนคือฝั่งธนาคาร ที่สามารถลดภาระหนี้เสียออกจากงบดุลได้โดยตรง ขณะที่ประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับราคาที่ AMC ได้ซื้อหนี้มา หากราคาซื้อต่ำมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้ส่วนลดหรือเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้นเท่านั้น

ศักยภาพ VS ความพร้อม

แม้แนวทาง “ซื้อหนี้ประชาชน” จะมีจุดแข็งในแง่การลดภาระหนี้ ฟื้นฟูความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน และเพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ แต่การนำแนวคิดนี้ไปใช้จริงยังต้องอาศัย “ความพร้อมรอบด้าน” ทั้งในด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์การกำกับดูแล ความโปร่งใสในการดำเนินงาน และการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีมาตรการควบคู่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้เครื่องมือนี้แบบผิดทิศ เช่น การจำกัดกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดเงื่อนไขความร่วมมือจากลูกหนี้ และการติดตามผลหลังโครงการ

บทสรุป

“ซื้อหนี้ประชาชน” อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีศักยภาพสูง หากนำไปใช้อย่างถูกจังหวะและเหมาะสม แนวทางนี้อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูฐานเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

คำถามที่ตามมาก็คือ เราจะสามารถออกแบบกลไกนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่สร้างภาระในระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจ ?