ชำแหละไทยสี่ยงสูงเจอภาษีทรัมป์ 2 เม.ย. ศึกหนักเทรดวอร์ลากยาว-GDPโตช้า

Prachachat Forum : NEXT MOVE

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ประธานสภาพัฒน์เชื่อไทยติดบ่วงสหรัฐขึ้นภาษี 2 เม.ย.นี้ เตือนรับมือสงครามการค้าลากยาวถึงปีหน้า ขณะที่โจทย์เก่าไม่ได้รับการแก้ไข เจอโจทย์ใหม่ซ้ำเติม 3 กูรูชื่อดังร่วมชำแหละปัญหา-ความเสี่ยง-อนาคตประเทศไทย ดร.พิพัฒน์ชี้โอกาสเศรษฐกิจไทยกลับมาโตเท่าเดิมยาก เผยผู้ผลิตไทยเจอศึกหนัก ดร.สันติธารวิเคราะห์นโยบายทรัมป์ 2.0 เปลี่ยนเกมเศรษฐกิจโลก เตือนสงคราม AI เปลี่ยนสมดุลเศรษฐกิจ ดร.อาร์ม ชี้ทรัมป์เอาจริงเล่นเกมพิสดาร วิเคราะห์จีนทุ่มสุดตัว “ทุนจีน-สินค้าจีน” ท่วมอาเซียน

ไทยเจอแน่ขึ้นภาษี 2 เม.ย.

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “NEXT MOVE Thailand” ในงานสัมมนา “Prachachat Forum : NEXT MOVE Thailand 2025” จัดโดยประชาชาติธุรกิจว่า ประเทศไทยเผชิญโจทย์ท้าทายอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้า Trump 2.0 คือ เศรษฐกิจเติบโตช้า การสูญเสียความสามารถการแข่งขัน ภาคเกษตรที่ผลผลิตต่ำ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขาดแคลนแรงงานและพลังงาน ตลอดจนความจำเป็นที่ต้องลงทุนเพื่อวัดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

และโจทย์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2568 กรณีรัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” จะประกาศเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) จากประเทศต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในบ่วงนี้

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูงมาก เพราะการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 จะเห็นว่าเฟดยังปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐลงในปี 2568 จากเดิมคาดโต 2.1% เหลือโต 1.7% ลดลงไป 0.4% ขณะที่มีการปรับระดับเงินเฟ้อสหรัฐสูงขึ้นจาก 2.5% เป็น 2.7% และยังปรับลดจีดีพีปี 2569 โตน้อยลงจาก 2.1% เหลือโต 1.8% และปรับระดับเงินเฟ้อสหรัฐเป็น 2.2%

“เห็นได้ว่าสหรัฐเองก็ยังคิดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเขา มีการปรับคาดการณ์ GDP ลงเยอะ ซึ่งเราต้องมาพิจารณาด้วยว่า ถ้าประเทศที่ GDP โตดีสุดในโลกอย่างสหรัฐ ยังต้องปรับลด GDP ดังนั้นผลกระทบมาถึงเราก็ค่อนข้างแน่ แต่ที่สำคัญสุด ผมคิดว่าการคาดการณ์ของเขาดีเกินไป เพราะตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าความไม่แน่นอนที่ทรัมป์กับทีมสร้างขึ้น จะกระทบกับผู้บริโภคและนักลงทุนมากเพียงไหน” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

เทรดวอร์ลากยาวปีหน้า

ประธานสภาพัฒน์อธิบายว่า มาตรการภาษีที่ทรัมป์สัญญาว่าจะประกาศในวันที่ 2 เมษายนนี้ จะมีผลอย่างไรนั้น ถ้าย้อนกลับไปดูช่วงปี 1930 ตอนที่สหรัฐผ่านกฎหมาย Smoot-Hawley และขึ้นภาษีศุลกากรโดยรวม 20% ประเทศคู่ค้าหลัก ๆ ตอบโต้ แต่นโยบายการเงินช่วงนั้นยังไม่ได้ผ่อนคลายเพียงพอ ทำให้ผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าครั้งนั้น กดดันให้มูลค่าการค้าโลกลดลงไปมากถึง 2 ใน 3 หรือลดลง 60% ถามว่าผลกระทบรอบนี้มองคงไม่ถึง 60% เพราะนโยบายการเงินและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ดีกว่าช่วงนั้นมาก

ADVERTISMENT

แต่ต้องยอมรับว่าเป็นบทเรียนจาก 95 ปีที่แล้ว โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงผลกระทบจากนี้จะเป็นสิ่งที่ไทยต้องเผชิญ ซึ่งดีไม่ดีจะมีผลกระทบทั้งปีนี้และปีหน้า ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องพยายาม NEXT MOVE คือการจัดการปัญหาตรงนี้ให้ได้ดีมากที่สุด

สหรัฐจ้องเล่นงานไทย

ประธานสภาพัฒน์กล่าวต่อว่า จากกรอบการขึ้นภาษีที่ทรัมป์ประกาศเมื่อ 20 มกราคม 2568 ระบุว่าประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐถือว่าเป็นประเทศที่เอาเปรียบสหรัฐ และมีคำสั่งต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ว่า ให้เก็บภาษีต่างตอบแทน โดยให้ไปคำนวณว่าประเทศคู่ค้าต่าง ๆ มีการเก็บภาษีจากสหรัฐมากกว่าเท่าไร และควรจะเก็บตอบโต้เท่าไร ซึ่งเป็นแนวคิดของนายปีเตอร์ นาวาร์โร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ได้เขียนบทความลงในเอกสารที่ใช้เป็น Agenda 2025 ซึ่งในเอกสารชิ้นนี้มีความน่าเป็นห่วงอยู่ คือมีชื่อประเทศไทยอยู่ในนั้น ในหลาย ๆ รูปแบบ

ADVERTISMENT

“สาระสำคัญคือสหรัฐได้มีการคำนวณการตอบโต้โดยใช้ข้อมูลและแบบจำลองไว้ก่อนแล้วว่า พูดง่าย ๆ สหรัฐเขาคิดมาเยอะแล้ว อย่านึกว่าเขายังไม่ได้คิด เพียงแต่ว่าทรัมป์จะเคาะอย่างไรเท่านั้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเก็บภาษีประเทศไทยเพิ่มในระดับหนึ่งสำหรับทุกสินค้า และให้ไทยเข้ามาเจรจาว่าจะเอาอย่างไร โดยดูเหมือน ปีเตอร์ นาวาร์โร อยากจะให้สหรัฐเก็บภาษีประเทศไทยเพิ่มขึ้น มากกว่าให้ไทยลดภาษีลงไปเท่ากับสหรัฐ เพราะเขาจะได้เงินมากกว่า เพราะต้องการจะเอาเงินภาษีที่เก็บเพิ่มขึ้น มาลดการขาดดุลงบประมาณ” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

นี่คือความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้าจากนโยบายการค้าของสหรัฐ ซึ่งคงทราบว่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ สัดส่วนเกือบ 20% ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็น 9% ของ GDP ประเทศไทย

โจทย์เก่า…ศก.ไทยโตถดถอย

ดร.ศุภวุฒิกล่าวต่อว่า สำหรับโจทย์เดิมที่ประเทศไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ ปัญหาเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ช้าลงไปเรื่อย ๆ และปัญหาระยะยาวคือเรื่องอุปทาน (ซัพพลาย) พูดง่าย ๆ คือศักยภาพด้านการผลิตของไทยจะขยายได้อย่างไร และปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตอนนี้คนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอยู่ 12.5 ล้านคน และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีงานทำ และกลุ่มนี้ 45% ไม่มีเงินออมเลย ที่เหลือ 55% มีเงินออมเฉลี่ยไม่ถึง 1 แสนบาท คนกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 18 ล้านคน ในอีก 15 ปีข้างหน้า เป็นอีกความกังวลหนึ่งของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยระบุว่าการจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว พบว่ามาจากการขยายตัวของภาคแรงงานประมาณ 15-30% มาจากขยายตัวการลงทุนประมาณ 20-35% ที่น่าสนใจส่วนที่เหลืออีก 40-60% ตรงนี้คือเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศไทยต้องไปมุ่งมั่นเร่งพัฒนาคุณภาพของคนและเทคโนโลยี ในขณะที่จะต้องเผชิญปัญหาความท้าทายอย่างมากจากปริมาณแรงงานที่มีแต่จะลดลง

ทางรอดไทย “อาหาร-เกษตร”

“การขับเคลื่อนประเทศไทย นอกจากการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์แล้ว ในทางเศรษฐกิจต้องลงทุนเทคโนโลยีทางการเกษตรด้วย เพราะผลผลิตเกษตรไทยประมาณ 8.6% ของ GDP ใช้แรงงาน 30% ใช้ที่ดิน 45% ของที่ดินทั้งหมด และใช้น้ำเกือบ 70% ของทรัพยากรน้ำทั้งหมด แต่ได้ผลผลิตแค่ 8.6% เท่านั้น

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่อันดับ 5 ของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน เรามีศักยภาพในด้านอาหารและสินค้าเกษตร ดังนั้นต้องเร่งต่อยอด เพราะถ้าไปแข่งภาคอุตสาหกรรมคงยาก และนอกจากภาคเกษตรแล้วยังสามารถแข่งขันด้านภาคการท่องเที่ยวและสุขภาพได้ (Medical Tourism) จึงต้องมุ่งทำอย่างต่อเนื่อง” ดร.ศุภวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

4 ต้นเหตุป่วนโลก

ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ร่วมเวทีเสวนากล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจโลกที่เกิดความวุ่นวายในปัจจุบันมีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ ประเด็นแรก คือ เรื่องโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเอ็นจอยกับสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ตลอดเวลา การค้าโลกต่อจีดีพีเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

ประเทศพัฒนาแล้วได้ประโยชน์จากประเทศกำลังพัฒนาที่ไปผลิตของราคาถูก ซึ่งประเทศที่ได้ประโยชน์มากอย่างจีน หรือแม้กระทั่งไทยก็เอ็นจอยกับสิ่งนี้ เพราะมีการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

หมายความว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศจีน ไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา แต่คนที่เสียประโยชน์คือคนชั้นกลางหรือคนรายได้น้อยของประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงทำให้ความไม่พอใจในกระแสโลกาภิวัตน์ดังมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐก็อาจเป็นหนึ่งที่ไม่พอใจ

ประเด็นที่ 2.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเห็นผู้ชนะอย่างชัดเจน ตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ฝั่งตะวันตกนำโดยสหรัฐเป็นคนวางระเบียบโลก และในช่วงหลังจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ไปถึงผลจากโลกาภิวัตน์ทำให้มีผู้ท้าชิงเพิ่มมากขึ้น เช่น จีน รัสเซีย ประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ เริ่มมีข้อต่อกรกับสหรัฐเพิ่มมากขึ้น จึงกลายเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามว่า ผู้แข็งแกร่งไม่ได้มีคนเดียว จุดสมรภูมิที่สำคัญจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

ประเด็นที่ 3.ทรัมป์ 2.0 ไม่ได้จะรีพีตทรัมป์ 1.0 แต่มาด้วยการเตรียมพร้อมที่มากขึ้น มีแพลนในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และกล้าทำหลายนโยบายทั้งในปีนี้และปีหน้า ซึ่งเป็นความไม่แน่นอน และที่ทำให้โลกตกใจ คือทรัมป์มาพร้อมคำขู่และเอามีดกีดแขนตัวเอง ตบหัวเพื่อนเพื่อทำให้คำขู่สำเร็จ กล้าทำหลายนโยบายที่แม้จะไม่เป็นประโยชน์กับสหรัฐเอง และ 4.พัฒนาการของเทคโนโลยี ที่มองว่าเป็นจุดเปลี่ยนของโลกด้วยเหมือนกัน

ผู้ผลิตไทยศึกหนักสินค้าจีน

ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อว่า โลกาภิวัตน์ผ่านจุดพีกไปแล้ว สมัยก่อนมีผู้นำโลกฝั่งเดียว แล้วทุกคนพยายามจะเล่นตามเกมผู้นำโลก แต่ปัจจุบันความไม่ไว้ใจกัน หรือต้นทุนต่าง ๆ ได้แบ่งโลกออกมาเป็น 2 ขั้ว หรือมากกว่าแล้ว อย่างไรก็ดี โลกาภิวัตน์คงไม่ได้ถดถอยถึงขนาดดึงทุกอย่างกลับมาหมด แต่ถ้าพูดถึงความเชื่อใจกันจะทำให้โลกาภิวัตน์ที่ Selective มากขึ้น ความกังวลเรื่องเทคโนโลยี หรือต่าง ๆ จะมีความระแวงที่มากขึ้น เพราะ Globalization ได้เข้ามาเล่นกับ Economic ไปเรียบร้อยแล้ว็

“โลกาภิวัตน์คงพีกไปแล้ว ผมเชื่อว่าคงไม่ได้กลับไปแบบเดิม และรูปแบบคงมีกำแพงมากขึ้น สมัยก่อนโลกาภิวัตน์ก็จะไปหาคนที่มีแรงซื้อสูงที่สุด อย่างจีนผลิตเยอะก็ไปขายสหรัฐ วันนี้พอมีการตั้งกำแพงภาษี สินค้าก็ต้องไหลไปที่อื่น และวันนี้ไทยกำลังเป็นจุดรับ และมาด้วยต้นทุนที่ถูกมาก ผู้ผลิตไทยจึงได้รับผลกระทบ ซึ่งกลายเป็นว่าไทยที่มีรายได้น้อย ราคาถูก ควรที่เป็นผู้ผลิตของโลกาภิวัตน์ วันนี้กลับเป็นว่าเราเป็นผู้ซื้อของโลกาภิวัตน์ ในขณะที่ผู้ซื้อรายใหญ่ตั้งกำแพงที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นประเด็นที่อาจมากระทบไทยมากขึ้น”

สหรัฐกำลังถูกโดดเดี่ยว

นอกจากนี้มองว่าสิ่งที่ทรัมป์กำลังทำคือป้องกันไม่ให้เกิด Duopoly โดยมีความระแวงว่าหากจีนและรัสเซียไปอยู่ด้วยกัน ทรัมป์จะสู้ยากมาก อย่างที่บอกทรัมป์พร้อมที่จะกีดแขนตัวเอง แล้วตบหัวเพื่อน เพื่อที่จะไปชิงนางเอกมา และวันนี้นางเอกกลายเป็นรัสเชีย

“โลกกำลังเปลี่ยนไปจากสิ่งที่ทรัมป์กำลังทำ คือสหรัฐกำลังบอกทุกคนว่าเขาไม่อยากรับภาระเป็นผู้จัดหาสินค้าสาธารณะระดับโลกแล้ว เพราะมีการตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นคนจ่าย แต่เพื่อนเขาจะหายไปขนาดไหน ขึ้นอยู่กับจุดสุดท้าย แต่มองว่าสหรัฐกำลังถูกโดดเดี่ยว แม้สิ่งที่เขาพยายามทำมีศัตรูหมายเลขหนึ่งคือ จีน วันนี้เขาพยายามทำทุกวิถีทาง แม้กระทั่งการทำลายเพื่อน เพื่อพยายามสร้างสมรภูมิในการต่อสู้ให้แฟร์สำหรับสหรัฐ”

จี้ลงทุนเพิ่ม-ไม่ใช่กระตุ้น

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยก็กำลังเจอความท้าทายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งการเปลี่ยนของระเบียบโลก แรงกดดันและผลกระทบที่เรากำลังเจอ จึงมองว่าไทยจะทำแบบเดิมไม่ได้ เพราะเจอการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยกำลังมีปัญหา สิ่งที่ทำ 30 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้ผลแบบเดิมแล้ว

“ประกอบกับแรงกดดันจากเทรนด์จีดีพีเริ่มโตช้าลง โอกาสที่ทำให้ไทยกลับไปโต 3-5% ยากมาก แรงกดดันที่หนักสุดการต่อเติบโตเศรษฐกิจ คือโครงสร้างประชากร สิ่งที่เราทำได้คือต้องเพิ่มการลงทุน และเพิ่ม Productivity อย่างภาคการเกษตร ภาคบริการ โจทย์สำคัญที่ทุกคนต้องทำ คือทรัพยากรเท่าเดิมเราจะผลิตของให้เพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะทำไม่ได้เลยถ้าเราไม่มีการลงทุนเพิ่ม”

“ดังนั้นเราต้องมีการลงทุนเพิ่มทั้งในประเทศ และดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา รัฐบาลก็ต้องเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะไม่ใช่ปัญหาดีมานด์แล้วมันเป็นปัญหาซัพพลาย และสุดท้ายการลงทุนเรื่องทุนมนุษย์หรือการศึกษาอยากให้ช่วยหาวิธีการแก้ไข เพราะโจทย์สำคัญเลยคือ การลงทุน การสร้าง Productivity และการศึกษา”

ทรัมป์ 2.0 พลิกเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า นโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ยุค 1.0 และทรัมป์ 2.0 ต่างกันพอสมควร โดยมี 3T ที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าที่คิด (Tariffs-Transactional-Triumph) 1.Tariffs หรือกำแพงภาษี ทรัมป์ไม่ได้มีไว้แค่ขู่หรือต่อรองเท่านั้น แต่เป็นกระสุนเครื่องมือที่ทรัมป์ชอบใช้มาก เพื่อลดการเกินดุลการค้ากับประเทศอื่น ดึงอุตสาหกรรมกลับมาและปกป้องคนบางกลุ่ม มีทั้งการขึ้นภาษีรายประเทศ

รวมถึงภาษีรายอุตสาหกรรมที่คิดว่าสำคัญอย่าง ยา เหล็ก อะลูมิเนียม ยานยนต์ที่จะกระทบไทยอย่างแน่นอน และคนที่สหรัฐไม่ชอบหน้าก็จะโดนบวกภาษีเพิ่มอีก

“และล่าสุด ทรัมป์ตั้งกลุ่มประเทศ Dirty 15 โดยยังไม่รู้ว่าใครบ้าง เป็นประเทศที่สหรัฐจะใช้ภาษี นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ บอกว่าแค่ทรัมป์ทำบางส่วนไม่ได้ทำทั้งหมดที่พูด อัตราภาษีโดยเฉลี่ยจะสูงที่สุดในรอบ 50 ปี”

2.Transactional ผู้ทำข้อตกลงมีอำนาจการต่อรองสูง แม้เป็นเพื่อนกันไม่ได้แปลว่ารอด สมัย โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีคอนเซ็ปต์ว่า Friendshoring เพื่อนกันเรารอด แต่ถ้าเป็นศัตรูกันโดน แต่วันนี้เพื่อนก็ไม่ได้รอดแล้ว

“เปรียบเหมือนหัวหน้าแก๊งมอเตอร์ไซค์ 2 แก๊งขับเข้าหากันตรงกลาง ใครกระโดดออกแพ้ ถามว่าทำยังไงถึงเป็นผู้ชนะ คือต้องทำให้อีกฝั่งคิดว่าเราบ้า สามารถวิ่งเข้าชนทำให้เขากลัวแล้วกระโดดออกเอง เพราะฉะนั้นบางทีเหมือนผู้นําทำอะไรบ้า ๆ ไม่แน่ใจว่าบ้าจริง หรือนี่คือยุทธศาสตร์ แต่ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง สุดท้ายอีกฝั่งโชว์บ้าเหมือนกันก็เลยชนกัน”

อำนาจเศรษฐกิจ VS กินดีอยู่ดี

3.Triumph เป็นสิ่งที่ต้องตีโจทย์กันดี ๆ ว่าภาพความสำเร็จของทรัมป์คืออะไร 4 ปีหลังจากนี้เขาอยากเห็นโลกเป็นอย่างไร จะเป็นการตัดแบ่งอำนาจกันระหว่างผู้นํารัสเซีย จีน อเมริกา คนละส่วนหรือเปล่า โดยทรัมป์ต้องการมีอํานาจทางเศรษฐกิจ แต่การเป็นผู้ชนะอาจจะไม่แปลว่าชีวิตดีขึ้น

“เป็นไปได้หรือไม่ว่าในโลกที่ขนาดเศรษฐกิจเล็กลง แต่อเมริกาได้ส่วนแบ่งใหญ่ขึ้น ทรัมป์จะบอกว่านี่คือชัยชนะ แต่ปรากฏว่าคนในอเมริกาชีวิตแย่ลง เพราะอำนาจทางเศรษฐกิจกับความกินดีอยู่ดีไม่ต้องเป็นเรื่องเดียวกัน อันนี้เราต้องตีโจทย์ให้แตก ขณะที่มีคนถามว่าการมาของนโยบายของทรัมป์จะเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมายิ่งใหญ่ของอเมริกา หรือจะเป็นการเริ่มต้นของจุดจบผู้นำอเมริกาจะถดถอยลงไป”

สงคราม AI ไทยต้องปรับตัว

นอกจากนี้ โจทย์ของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม การมาของ DeepSeek เปลี่ยนโลกค่อนข้างเยอะ เช่น สหรัฐกับจีน เดิมที่สหรัฐนำจีนได้ แต่ปัจจุบันจีนเริ่มนำสหรัฐขึ้นได้ และไม่ใช่แค่ DeepSeek กลุ่มอาลีบาบาสามารถผลิตชิปที่ใช้เทรนด์ AI แบบที่ DeepSeek ทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ เมื่อคนเทคเก่ง ๆ เห็นจีนทำได้ ก็เริ่มมี Tech Talent อยากไปหางานในจีนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้จีนจะยิ่งแซงหน้าขึ้น

และประเด็นเรื่องต้นทุนราคาถูก การเปิดขึ้นของ DeepSeek สิ่งที่ตามมา คือคนจะเข้าถึงเทคโนโลยี AI ง่ายขึ้นและเร็วมากขึ้น และที่คิดว่ามาเร็วแล้วก็จะเร็วมากขึ้น ดังนั้นการเตรียมรับมือของประเทศไทยก็เป็นความเสี่ยง เพราะถ้าเราตามไม่ทันก็ยิ่งตกขบวน แต่ถ้าตามทันบางอย่างก็เป็นโอกาสที่จะสร้าง Productivity ด้านการเกษตร, เฮลท์แคร์, การศึกษา, ท่องเที่ยว หรือเกษตร ที่พูดถึงกัน

โลกาภิวัตน์ “ผลัดใบ”

ดร.สันติธารกล่าวต่อว่า เรื่องโลกาภิวัตน์มองว่าผ่านยุคทองแล้วแต่ยังไม่ได้ตาย กำลังจะเข้าสู่การผลัดใบ ซึ่งแปลว่าจะมีโอกาสใหม่ ๆ ขึ้นมากและทำให้พรมแดนจางลง เมื่อก่อนเรื่องนี้จะเชื่อมกันจากสินค้า แต่ปัจจุบันมีหลายมิติ ทั้งเรื่องภาคบริการ การเดินทาง การท่องเที่ยว ดิจิทัล ดาต้า ซึ่งจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ยังไปได้อยู่

“จะเห็นว่าการท่องเที่ยงฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี ด้านดาต้าที่บอกโลกนี้โลกาภิวัตน์น้อย แต่หมูเด้งของไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก ดังนั้นผมว่าโลกาภิวัตน์จะผลัดใบ และมีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้เหมือนกัน ในดิจิทัลก็เช่นกัน”

ขณะที่อเมริกาจะถูกโดดเดี่ยวหรือไม่ โดยมีแนวคิดหนึ่งที่โลกจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ อเมริกา จีน และประเทศอื่น ๆ คือถ้าจะทำธุรกิจในจีนก็ทำแยกเพื่อตลาดจีน หรือไปสหรัฐก็แยกต่างหาก และกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในโลก และหัวใจคือประเทศอื่น ๆ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง อย่าง อินเดีย อาเซียน แอฟริกา ยุโรป ต้องมองให้กว้างเพื่อเป็นโอกาส

สำหรับเรื่องทุนนิยม มองว่ายังอยู่ แต่จะเปลี่ยนเป็นทุนนิยม แบบคุยเจรจากันเป็นดีล ๆ ไป ซึ่งผลอาจจะเกิดความย้อนแย้งว่า คนที่เลือกทรัมป์หรือรัฐบาลสหรัฐปัจจุบันขึ้นมาเพราะไม่พอใจความเหลื่อมล้ำ แต่ภาพที่เราเห็นในปัจจุบันคือคนที่รวยที่สุดในโลกกำลังไล่คนรายได้น้อยออกจากงาน เพื่อลดต้นทุน

เตือนไทยเจอ 3 ปัญหาใหญ่

ดร.สันติธารกล่าวว่า ทั้งหมดนำมาสู่เมืองไทยที่น่าจับตามาก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น แต่คนไทยต่อไปจะเริ่มเข้าใจว่าทำไมสหรัฐถึงไม่ชอบโลกาภิวัตน์ ซึ่งเมื่อก่อนประเทศไทยอาจเห็นด้านสว่างของโลกาภิวัตน์ เช่น การส่งออกไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่สหรัฐไม่ชอบโลกาภิวัตน์ คือสินค้าราคาถูกทะลักเข้ามาในประเทศเขา, ไม่ชอบ Immigrant คนที่เข้ามาในประเทศเขา และทุนเทาทุนที่ไม่ดีเข้ามาในประเทศเขา

ซึ่งทั้ง 3 อย่างประเทศไทยจะกำลังเจอและต้องเจอมากขึ้น คือ ทุนเทาที่เราไม่ชอบ, สินค้าราคาถูกที่ทะลักเข้ามา และ Immigrant ที่เข้ามาไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราต้องคิดให้ดีว่า จะปกป้องด้านมืดและหาประโยชน์ด้านสว่างของโลกาภิวัตน์อย่างไร

เทรดวอร์คือสงครามของเรา

ดร.สันติธารกล่าวต่อว่า หากพูดถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ก็คือเป็นความไม่แน่นอน แต่มองในเชิงธุรกิจสิ่งที่ต้องเข้าใจคือภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น แปลว่า “การแข่งขันก็เข้มข้นขึ้น” สงครามการค้าของโลกคือสงครามของเรา การแข่งขันเข้มข้นขึ้นในทุกวงการ สิ่งที่ไทยต้องแก้ไขมี 4 คำ คือคำว่า ็ยืน สร้าง กว้าง ไกลิ อธิบายได้ว่า

1.“ยืน” เราต้องหาจุดยืนให้ถูกที่ แม้ว่าเราเคยเป็นที่ 1 ของวงการ ปัจจุบันเราอาจจะไม่รอด ถ้ายืนผิดที่ อยู่ผิดอุตสาหกรรม ก็แพ้ได้เสมอ และต้องถามเลยว่า จีนทำได้มั้ย 2.“สร้าง” เราสร้างมูลค่าได้หรือไม่ หรือเป็นแค่ทางผ่าน เช่น อุตฯแผงโซลาร์ ที่แทบไม่ได้มูลค่าเพิ่ม ซึ่งเราต้องเป็นห่วงโซ่สำคัญในการผลิตนั้น ๆ ด้วย

3.“กว้าง” ต้องมองให้กว้างขึ้น หากโลกแบ่งเป็น 3 ส่วน สหรัฐกับจีน ได้นึกถึงประเทศอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจในอนาคตภายในปี 2050 ที่ใหญ่ที่สุด หลายคนบอกว่า Top 5 ของโลก 3ประเทศจะอยู่ในเอเชีย คือ อินเดีย อินโดนีเซีย จีน เราหาโอกาสจากตลาดพวกนี้หรือยัง อย่าดูแค่ประเทศใหญ่ ๆ

4.“ไกล” ต้องมองให้ไกล ทำไมสิงคโปร์เป็นเจ้าการเงิน Sustainability เพราะเขามา 6-7 คิดมานานแล้วว่าโลกต้องมาทางนี้ ดังนั้นไทยก็ต้องคิดเกมข้างหน้าด้วย ซึ่งผมมองว่า Care Economy, ด้านบริการ, ท่องเที่ยว, Wellness ของไทยมีจุดแข็งมากมาย ขณะที่โลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย อันนี้ควรจะเป็นเกมในอนาคตอย่างหนึ่งของไทยที่เราควรปักธงไว้

ทรัมป์เขย่าโลก

ขณะที่ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีด้านงานวิชาการ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันแท้จริงแล้ว เป็นการแข่งขันกันระหว่างจีนและสหรัฐ และการพลิกกลับของโลกาภิวัตน์ เพราะสหรัฐคิดว่าหากทำตามกระแสหลักแบบเดิมต่อไป เศรษฐกิจสหรัฐก็จะแพ้จีน ดังนั้นเพื่อขัดขวางจีน ทรัมป์จึงใช้ท่าพิสดารเขย่าโลก ผ่านมาตรการกีดกันทางการค้า เพราะทรัมป์เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะจีนได้ด้วยวิธีนี้ แม้การค้าโลกจะหดตัวลง และทุกประเทศจะจนลงเหมือนกันหมด แต่ทรัมป์เชื่อว่าสหรัฐจะเจ็บน้อยสุด และประเทศที่เจ็บหนักที่สุดคือ จีน

นอกจากทำให้จีนเจ็บหนักแล้ว ทรัมป์ยังต้องการ “เปลี่ยนโลก” ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงนิด ๆ หน่อย ๆ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการค้าโลก ตามที่แสดงในเอกสาร “คู่มือการปฏิรูประบบการค้าโลก” ซึ่ง “ตีเฟน มิแรน” ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทรัมป์ เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 ที่ต้องการทรานส์ฟอร์มการค้าโลก และระบบเศรษฐกิจโลก และแก้ปัญหาพื้นฐานอเมริกา

“ในเอกสารดังกล่าวเต็มไปด้วยไอเดียพิสดารมากมาย นอกจากมาตรการภาษี ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตรถาวรไม่มีดอกเบี้ย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าในระยะยาว ซึ่งทรัมป์มีกลยุทธ์ให้ประเทศต่าง ๆ ชินชากับความผันผวนและความตื่นตระหนก”

เดิมพันสหรัฐ

โดยเป้าหมายใหญ่ของสหรัฐก็คือรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจผ่าน “นโยบาย 3-3-3” ได้แก่ เพิ่ม GDP 3% ต่อปี, ลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือ 3% ของจีดีพี และขุดน้ำมันเพิ่ม 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ดี มีข้อสงสัยว่าทรัมป์จะทำได้จริงหรือไม่ ดร.อาร์มสำทับว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ทำตลาดหุ้นสหรัฐตกมากสุดในประวัติศาสตร์ แต่เขาก็ยังอยู่ได้ ปัจจุบันชาวอเมริกันจะต้องเผชิญกับช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทรัมป์บอกว่าจะชดเชยผลกระทบผ่านมาตรการลดภาษีในประเทศ, ลดราคาพลังงาน ด้วยการเพิ่มซัพพลายขุดเจาะน้ำมัน และบริหารเศรษฐกิจให้อ่อนตัวลงเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสถดถอยสูงถึง 40%

ทุนจีนทะลักท่วมตลาดเอเซีย

ดร.อาร์มกล่าวว่า ในระเบียบโลกแบบเดิม สหรัฐเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก ส่วนจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก แต่เมื่อสหรัฐต้องการพึ่งพาจีนให้ “น้อยลง” ต้องการผลิตเอง คำถามที่ตามมาคือ จีนจะขายสินค้าให้ใคร เมื่อจีนก็ตั้งเป้าการเติบโต

ขณะที่สหรัฐต้องการแก้ปัญหาด้านอุปทาน (ซัพพลาย) จีนแก้ปัญหาการบริโภคในประเทศ หากดูการประชุมสองสภาที่ผ่านมาของจีน จีนตั้งเป้าการเติบโต 5% และตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณใหม่เป็น 4% ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี และบอกชัดเจนว่า เป้าหมายหลักของปีนี้คือการกระตุ้นการบริโภค

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ในจีน และมีนัยสำคัญมหาศาลต่อก้าวต่อไปของประเทศไทย คือ จีนกำลังทุ่มสุดตัวให้กับ 2 สิ่ง หนึ่ง คือด้านเทคโนโลยี ได้แก่ โซลาร์เซลล์, แบตเตอรี่ และรถยนต์อีวี (EV) ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่แล้ว มากกว่านั้น ดร.อาร์มชี้ว่าเทคโนโลยีใหม่ชิ้นต่อไปของจีน คือ Humanoid Robot ที่กำลังมา และภายใน 2 ปีนี้จะเป็นการปฏิวัติวงการหุ่นยนต์ ซึ่งของจีนจะเป็นเรื่องฮาร์ดแวร์

และอีกประเด็นคือ สินค้าจีนไปไหน จะต้องทุ่มสุดตัวให้ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และซีกโลกใต้ (Global South) ซึ่งทุนจีนและสินค้าจีนจะไหลทะลักท่วมตลาดที่รุนแรงขึ้นในยุคทรัมป์ 2.0

ประสานเสียงทรัมป์เอาจริง

ดร.อาร์มกล่าวว่า หลายคนอาจยังไม่เชื่อว่าคราวนี้ทรัมป์เอาจริง ไม่ใช่แค่ขู่ ชี้ว่าให้ตั้งตารอมาตรการภาษีใหม่ในวันที่ 2 เมษายนนี้ ซึ่งทรัมป์เรียกว่าเป็นวัน “ประกาศอิสรภาพ” (Liberation Day) อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยตามมาอีกว่า สหรัฐจะทำร้ายตัวเองด้วยมาตรการภาษีทำไม ไม่กลัวนานาชาติเลิกคบหรือ

ดร.อาร์มอธิบายว่า มาตรการภาษีไม่ได้เป็นเรื่องหายนะสำหรับสหรัฐ แถมยังช่วยให้ตลาดหุ้นสหรัฐมีการปรับฐาน ซึ่งทรัมป์รู้จังหวะเร่ง จังหวะผ่อนให้ตลาดหุ้นได้ปรับตัว ไหนจะแผนกดต้นทุนพลังงาน รวมถึงมาตรการลดภาษีคนในประเทศ สหรัฐจึงไม่ได้รับผลกระทบเงินเฟ้อมากนัก

นอกจากจะไม่เสียหายแล้ว สหรัฐยังมองว่าตัวเองในฐานะประเทศผู้ซื้อรายใหญ่สุดของโลก ถึงอย่างไรประเทศอื่น ๆ จะต้องยอมโอนอ่อนอยู่แล้ว ตามวลีลูกค้าถูกเสมอ

ทั้งนี้ ดร.อาร์มมองว่า สหรัฐจะยังคงเป็นลูกค้าที่ยินดีซื้อสินค้าในระดับราคาที่เห็นว่าเหมาะสม เพียงแต่จะเลิกทำตัวเป็นนักบุญ หรือนักวิชาการที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ และคอยรักษาระเบียบโลกอีกต่อไป

ปลดล็อกโจทย์ประเทศไทย

ดร.อาร์มมองว่า 3 ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ 1.ปัญหาในด้าน “อิมพลีเมนเตชั่น” ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง เรื่องธรรมาภิบาล การขับเคลื่อน ไม่ใช่ไม่มีนโยบาย หรือไม่รู้ทิศทาง ไม่ใช่เรารู้ว่า NEXT MOVE อยู่ตรงไหน เพียงแต่มันไม่ MOVE เป็นโจทย์เรื่องการปฏิบัติ เนื่องจากไทยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายมากมาย แต่กลับไม่สามารถนำไปปฏิบัติและส่งผลให้เกิดเป็นรูปธรรม ตรงนี้เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ โดยเฉพาะในยุคที่การแข่งขันแบบนี้เราต้องทำให้สปีดเราดีขึ้น

ประเด็นที่สอง ไทยต้องเปลี่ยนชุดความคิดจาก “เชิงรับ” มาเป็น “เชิงรุก” จากที่เอาแต่รับมือว่าจะจัดการกับคลื่นการไหลของสินค้าจีนอย่างไร ก็เปลี่ยนเป็นมองว่าไทยจะหาโอกาสในตลาดใหม่ได้อย่างไร หาโอกาสในจุดเติบโตใหม่

การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีนมีแต่จะเร่งการเปลี่ยนแปลง ไทยจะทำอย่างไรให้สามารถเกาะห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ไปได้ ขณะที่การจัดขบวนโลกใหม่กำลังเกิดขึ้น กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) ต้องเชื่อมถึงกันมากขึ้น ท่ามกลางโลกาภิวัตน์ที่ไร้สหรัฐและจีน ไทยจะต้องหากลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้นกว่าเดิม

และประการสุดท้าย ดร.อาร์มมองว่า ไทยจำเป็นต้องมีนักคิดที่แหวกขนบ เหมือนอย่างที่สหรัฐมี อีลอน มัสก์ เพราะโลกทุกวันนี้ ไม่ใช่โลกใบเดิมอีกต่อไป หลักคิดเดิมหรือทฤฤษฎีเดิมใช้ไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องหาทางออกใหม่ ๆ ไทยไม่ควรหวังพึ่งแค่การส่งออกหรือการท่องเที่ยวอีกแล้ว แต่ไทยต้องหาจุดเติบโตใหม่ หรือแนวคิดใหม่ ๆ