
เลขาธิการ คปภ. ยืนยันธุรกิจประกันมีความพร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากเหตุแผ่นดินไหว พร้อมตั้งศูนย์ช่วยเหลือให้คำแนะนำด้านประกันภัย หากตกลงค่าสินไหมได้ พร้อมจ่ายภายใน 15 วัน
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับนายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และนางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ร่วมแถลง เปิดเผยถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุแผ่นดินไหว ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเหตุการณ์ในครั้งนี่
นายชูฉัตร เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 แมกนิจูด ความลึก 10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 13.20 น. โดยประมาณ ตามเวลาประเทศไทย ส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและภาคเหนือ รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนอย่างชัดเจน มีรายงานว่าอาคารสูงบางแห่งเกิดการสั่นไหว ส่งผลให้ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในเขตจตุจักร ถล่มลงมา เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้บาดเจ็บ สูญหาย และเสียชีวิตหลายราย
ทางสำนักงาน คปภ. ยืนยันว่าธุรกิจประกันภัยมีความพร้อมในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในเหตุการณ์แผ่นดินไหว และได้ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและจากการตรวจสอบพบว่า โครงการดังกล่าวมีการทำประกันภัย Construction All Risk (CAR) ไว้กับ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ขณะเดียวกันได้ประสานข้อมูลรายชื่อและเอกสารของผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้สูญหายจากเหตุอาคารถล่ม และจะตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านประกันภัย ณ จุดเกิดเหตุ และที่สำนักงาน คปภ. เพื่อให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้รวดเร็ว
ด้าน นายสมพร นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า กรณีตึก สตง. แห่งใหม่ที่ถล่ม ได้ทำประกันภัยไว้กับ 4 บริษัทคือ วงเงินคุ้มครอง 2.2 พันล้านบาท และมีการทำประกันต่อในต่างประเทศเพื่อบริหารความเสี่ยง
ในเรื่องของข้อกังวลว่า หากมีการตรวจสอบพบว่าการก่อสร้างไม่ถูกต้อง หรือใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน จะมีผลต่อความรับผิดชอบของบริษัทประกันหรือไม่นั้น ซึ่งภาคธุรกิจประกันภัย ต้องยึดตามเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์เป็นหลัก โดยต้องรอการสอบสวนสาเหตุจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ กรณีได้รับบาดเจ็บหรือมีบุคคลที่ทำประกันเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ทุกบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมพร้อมจ่ายค่าสินไหมตามกรมธรรม์ สำหรับอาคารหรือที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว และมีการทำประกันอัคคีภัย รวมถึงประกันภัยอาคารชุด ยังครอบคลุมถึงภัยแผ่นดินไหว ได้ประสานไปยังนิติบุคคล เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายของผู้อยู่อาศัย พบว่ามีการทำประกันอัคคีภัยทั่วประเทศกว่า 5.4 ล้านฉบับ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งกรณีไฟไหม้และแผ่นดินไหว ได้รับความคุ้มครอง 20,000 บาทต่อกรมธรรม์ หากผู้เอาประกันตกลงค่าสินไหมตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนดได้ จะต้องจ่ายภายใน 15 วัน
ส่วนประชาชนที่ที่พักเสียหายและเสี่ยงเกิดอันตราย สามารถดำเนินการซ่อมแซมเพื่อความปลอดภัยได้ก่อน โดยไม่ต้องรอการประเมินจากประกัน แต่ต้องมีการบันทึกภาพความเสียหาย ไว้ประกอบการขอชดเชย