
ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ชี้นักท่องเที่ยว-รายรับชะลอตัวลงจากความกังวลทางด้านความปลอดภัย และเร่งตัวไปก่อนหน้า ชี้ต้องเกาะติดสถานการณ์แผ่นดินไหวใกล้ชิดจะมีผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยว ด้านใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ย้ำแม้ส่งออกขยายตัวดี 4.9% แต่ยังไม่ส่งผ่านไปยังภาคผลิต เหตุการแข่งขันรุนแรง-ปัญหาเชิงโครงสร้าง ย้ำติดตาม 4 ประเด็นหลัก ด้านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” มียอดลงทะเบียนรวม 1.1 ล้านราย เข้าเกณฑ์ 4.5 แสนราย มูลหนี้ 3.4 แสนล้านบาท
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยจะมีดัชนีที่ปรับดีขึ้นและปรับลดลง ซึ่งดัชนีที่ชะลอลงจะเกี่ยวกับภาคบริการ และภาคผลิตที่ลดลง แม้ว่าอุปสงค์ปรับดีขึ้น แต่การส่งผ่านไปยังภาคผลิตยังไม่ดีขึ้น เป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงและปัญหาเชิงโครงสร้าง

“เหตุการณ์แผ่นดินไหวอาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมิน โดยเรายังต้องติดตามพัฒนาการต่อเนื่อง โดย ธปท.ได้มีการคุยกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ อาจจะต้องเรียกความเชื่อมั่น รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่อาจจะชะลอจากความกังวล และการจับจ่ายที่ชะลอ ซึ่งต้องติดตามและประเมินผลต่อไป แต่ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการออกหนังสือให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนแล้ว”
โดยภาคการท่องเที่ยว ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายรับปรับลดลง ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 14% จากนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียปรับลดลง หลังจากเร่งตัวไปก่อนหน้า รวมถึงความกังวลทางด้านความปลอดภัย อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวอินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่นยังเพิ่มขึ้น ขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวปรับลดลง 9% ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวต่อไป
ขณะที่ภาคการส่งออก ปรับดีขึ้นหลายหมวดสินค้า โดยไม่รวมทองคำขยายตัว 4.9% จากเดือนก่อน และเติบโต 13.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ตามหมวดยานยนต์ที่ส่งออกไปออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการเร่งการส่งออกก่อนจะมีมาตรการทางภาษีสหรัฐ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และอุปกรณ์สื่อสารปรับดีขึ้นตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ไม่ได้แปลงไปสู่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น จะเห็นว่ามีการปรับลดลง 1% จากเดือนก่อน
ส่วนการบริโภคเอกชน ปรับเพิ่มขึ้น 0.9% จากเดือนก่อน โดยการบริโภคที่เพิ่มขึ้นมาจากทางด้านสื่อสารและการเงิน อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงเล็กน้อยจากความกังวลนโยบายการค้า และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ลดลง -1.9% หมวดก่อสร้างลดลงตามที่อยู่อาศัยปรับลดลงตามพื้นที่ขอก่อสร้าง ส่วนคอนโดมิเนียมยังคงต้องติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว
การใช้จ่ายภาครัฐ ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งรัฐบาลกลางปรับดีขึ้น ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ซึ่งมาจากการเบิกนำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ส่วนลงทุนเป็นการเบิกงบฯเหลื่อมเดือนของกรมชลประทานและกรมทางหลวง ทางด้านรัฐวิสหกิจ แม้จะหดตัว -3.5% แต่มาจากปัจจัยฐานที่สูง
ด้านตลาดแรงงาน หากดูจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ปรับดีขึ้น 0.2% จากเดือนก่อน มาจากการจ้างงานภาคบริการเป็นสำคัญ แต่ผู้ประกันตนภาคผลิตลดลง ส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ปรับลดลง สะท้อนสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง ทั้งภาครถยนต์และขนส่ง แต่จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อผู้ประกันตนยังปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนการหางานทำยังยาก
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.08% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 1.32% จากหมวดพลังงานที่ปรับลดลงตามราคาเบนซินที่ราคาลดลงตามราคาตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.99% จาก 0.83% มาจากหมวดอาหารสำเร็จรูป ราคาขนส่งเพิ่มขึ้นหลังหมดมาตรการ
ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.5 พันล้านดอลลาร์ จากเดือนก่อน 2.2 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากดุลการค้าปรับเพิ่มขึ้น 4.4 พันล้านดอลลาร์ และดุลบริการและเงินโอน 1.1 พันล้านดอลลาร์ จาก 2.7 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวและรายรับที่ลดลง
ส่วนค่าเงินบาทในเดือนกุมภาพันธ์เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น หลังจากนโยบายการค้าของสหรัฐกับจีนที่คาดว่าจะรุนแรง แต่ไม่รุนแรงเท่าที่คาด ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ค่าเงินบาทในเดือนมีนาคมจนถึงวันที่ 25 มี.ค.นี้ ค่าเงินบาทยังทรงตัวลักษณะคล้ายกับเดือน ก.พ. ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ย และนโยบายภาษีของสหรัฐยังไม่ได้ปรับลดลง
“เศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ชะลอตัวลง จากภาคบริการและท่องเที่ยวเป็นสำคัญ จากนักท่องเที่ยวและรายรับที่ปรับลดลง ขณะที่การผลิตและการลงทุนเอกชนปรับลดลง โดยแนวโน้มระยะต่อไปแรงขับเคลื่อนยังมาจากภาคท่องเที่ยว และการบริการ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตาม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ผลกระทบต่อแผ่นดินไหว 2.อุปสงค์จะปรับดีขึ้นหรือไม่ 3.นโยบายการค้าของประเทศหลัก และ 4.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ”
นางสาวพีรจิต ปัทมสูต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พบว่าตั้งแต่เปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567-28 มีนาคม 2568 มีจำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 1.1 ล้านราย โดยมีจำนวนลูกหนี้ลงทะเบียนที่มีสิทธิรับเลือก (eligible) ณ 15 มีนาคม 2568 อยู่ที่ 4.5 แสนราย คิดเป็น 23% และคิดเป็นยอดหนี้ลงทะเบียนอยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 38%

“ปัจจุบันธนาคารได้มีการติดต่อลูกค้าทุกราย ซึ่งพบว่ามีลูกค้าที่ติดต่อกลับธนาคารส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่วนสินเชื่อรถยนต์และอื่น ๆ จะต่ำกว่าเล็กน้อย”