หนุน บจ.เปิดเผยด้านยั่งยืนทัดเทียมสากล

คอลัมน์ : เล่าให้รู้กับ ก.ล.ต.
ผู้เขียน : อาชินี ปัทมะสุคนธ์
สำนักงาน ก.ล.ต.

ทราบหรือไม่ว่า นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ตลาดทุนทั่วโลกได้เริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวสู่กติกาสากลใหม่ด้านการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ได้ยกระดับขึ้นให้สอดรับตามมาตรฐานที่ออกโดย International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดย The IFRS Foundation

โดยปัจจุบัน ISSB ได้ออกมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนมาแล้วทั้งสิ้น จำนวน 2 ฉบับ คือ “IFRS S1” General Requirements for Disclosure of Sustainability-related Financial Information และ “IFRS S2” Climate-related Disclosures รวมเรียกว่า “มาตรฐาน ISSB”

“มาตรฐาน ISSB” จัดทำขึ้นเพื่อสร้างบรรทัดฐานสากล (Global Baseline) ให้กิจการซึ่งรวมถึงบริษัทจดทะเบียน นำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำรายงานการเงินที่ครอบคลุมเรื่องความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นสาระสำคัญ (Materiality) ต่อกิจการ เช่น สถานะทางการเงินของบริษัท หรือความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น

ปัจจุบัน องค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (International Organization of Securities Commissions : IOSCO) ก็ได้ให้การยอมรับ (Endorsement) “มาตรฐาน ISSB” แล้ว ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศในภาพรวม

โดยจะช่วยลดภาระให้แก่กิจการที่อาจต้องรายงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่หลากหลายในปัจจุบัน ที่ช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างชัดเจน และครบถ้วน เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบข้อมูลด้านความยั่งยืนและประกอบการตัดสินใจลงทุนได้

จะเห็นได้ว่า หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในหลาย ๆ ประเทศได้ขานรับการนำมาตรฐาน ISSB มาใช้ และทยอยออกแนวทางหรือมาตรการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISSB เช่น การจัดทำนโยบายผลักดันด้านการเงินยั่งยืน การกำหนดนโยบายที่มีความรับผิดชอบต่อ ESG เป็นต้น

ADVERTISMENT

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหนึ่งในสมาชิกของ IOSCO ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานใหม่นี้ รวมถึงความต้องการอุปสงค์ของผู้ลงทุนทั่วโลกที่ให้ความสนใจในการลงทุนในกิจการที่มีความยั่งยืนมากขึ้น และการนำข้อมูลด้าน ESG ของกิจการมาใช้เป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาลงทุนด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน จะเป็นกลไกสร้างความเชื่อมั่น (Trust and Confidence) ให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และในท้ายที่สุดแล้วภาคเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย

ADVERTISMENT

ก.ล.ต.จึงได้กำหนดแนวทางในการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เช่น การปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (เช่น แบบ 56-1 One Report) ให้ครอบคลุมตามที่มาตรฐาน ISSB กำหนด และการส่งเสริมให้ บจ.รายงานข้อมูลด้าน ESG ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลดังกล่าวด้วย

ปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นจากที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนไปแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2567 เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมถึงการส่งเสริมการทวนสอบข้อมูลอย่างมีมาตรฐานและน่าเชื่อถือ เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของไทยมีมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

ขณะเดียวกันก็ได้จัดให้มีการอบรมเพื่อการสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) ของ บจ. และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อช่วยเสริมความพร้อมและสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน ISSB รวมถึงจะได้ติดตามแนวโน้มการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับสากลอย่างต่อเนื่องด้วย

สำหรับแนวทางการนำไปใช้นั้น ยังคงคำนึงถึงบริบทและความพร้อมของบริษัทเพื่อไม่ก่อให้เกิดภาระหรือการดำเนินการที่เกินจำเป็น โดยตามแผนคาดว่าเริ่มบังคับใช้ครั้งแรกในรอบปีบัญชี 2569 ซึ่งจะรายงานข้อมูลในปี 2570 สำหรับบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่อยู่ใน SET50 เนื่องจากมีศักยภาพ ความพร้อม และแนวโน้มการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มอื่น ๆ จะทยอยใช้ตามลำดับ และคาดว่าจะสามารถให้ บจ.เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนได้ครบถ้วนในปี 2573

มาถึงตรงนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านน่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นบ้างแล้ว ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับแผนงานและภารกิจของ ก.ล.ต. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายในการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทย ก้าวสู่มาตรฐานสากลในการเปิดเผยข้อมูลด้านยั่งยืน เพื่อให้สร้างความมั่นคงและมั่งคั่งในระยะยาวให้กับตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป