EIC คาดแผ่นดินไหวความเสียหาย 3 หมื่นล้าน นักท่องเที่ยวหาย 4 แสนคน  

SCB EIC อีไอซี ก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ อีไอซี ประเมินเหตุการณ์แผ่นดินไหวคาดสร้างความเสียหายมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท กระทบผ่าน 3 ช่องทาง ชี้ภาคท่องเที่ยวฉุดนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 4 แสนคน ครัวเรือนชะลอการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม กระทบภาคอสังหาริมทรัพย์-ภาคก่อสร้าง หลังความเชื่อมั่นสะดุด หวั่นระบายสต๊อกคงค้าง 7.4 หมื่นยูนิตใช้เวลานาน แนะภาครัฐเร่งออกมาตรฐานและบังคับใช้การก่อสร้างอาคารสูง เพื่อสร้างความปลอดภัย-น่าเชื่อถือ ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า อีไอซีได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีความเสียหายราว 3 หมื่นล้านบาท โดยมองว่าช่องทางผลกระทบจะมีอยู่ 3 ช่องทาง ได้แก่

1.การท่องเที่ยว จะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จำนวนจะลดลงในช่วงเดือนเมษายนนี้ และค่อย ๆ ปรับตัวในช่วง 3 เดือนข้างหน้า และกลับเข้าสู่การฟื้นตัวที่อยู่ระดับคาดการณ์ไว้ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่อีไอซีประเมินไว้ในกรณีพื้นฐาน (Based Case) จะลดลงไปประมาณ 4 แสนคนในปีนี้ อย่างไรก็ดี จำนวนอาจจะน้อยกว่าหรือสูงกว่าที่ประเมินไว้ จะขึ้นอยู่กับมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากภาครัฐให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

โดยมาตรการหลัก ๆ เช่น การตรวจสอบอาคารสูงในเมืองไทยจากผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือ และมีการสื่อสารเชิงรุกเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการเข้ามาเที่ยวเมืองไทยในระยะข้างหน้าจะมีความปลอดภัย รวมถึงระบบการเตือนภัยต่าง ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจ มองว่าผลกระทบอาจจะน้อยกว่าที่ประเมินไว้ได้ ซึ่งขึ้นกับมาตรการที่จะออกมาด้วย

2.ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้าง คาดการณ์ในระยะสั้นว่า ภาคครัวเรือนที่มีแผนจะมีการโอนและการซื้อคอนโดมิเนียมอาจจะมีการชะลอออกไประยะหนึ่ง จนกว่าจะมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาคารที่ตัวเองสนใจอยู่ ซึ่งอาจจะกดดันการระบายสต๊อก โดยปัจจุบันมีสต๊อกคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลค้างอยู่ 7.4 หมื่นยูนิต อาจจะต้องใช้เวลามากขึ้นในการระบาย โดยอีไอซีมีการประเมินยอดการโอนคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีนี้อาจจะเป็นปีหนึ่งที่อาจจะติดลบ

นอกจากนี้ การสร้างคอนโดมิเนียมหรือโครงการใหม่ ๆ อาจจะชะลอออกไป ซึ่งอาจจะกระทบไปถึงภาคการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบอยู่ด้วย

ADVERTISMENT

และ 3.ความเชื่อมั่น คาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาพการใช้จ่าย เพราะว่าจะต้องมีการนำเงินมาใช้จ่ายในการซ่อมแซม ทำให้การใช้จ่ายอื่น ๆ อาจจะลดลง และการลงทุนต่าง ๆ อาจจะชะลอเพื่อรอดูความชัดเจนในเรื่องของผลกระทบและมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมา

อย่างไรก็ดี เชิงบวกอาจจะมีความต้องการในการซ่อมแซม และเชื่อว่ามาตรการภาครัฐและระบบการเงิน ทั้งของธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เข้ามาช่วยประคับประคอง เพื่อให้ผู้มีหนี้สินให้มีการปรับโครงสร้างหนี้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ หรือสินเชื่อที่จะเข้ามาช่วยซ่อมแซมอาคารและบ้านอาจจะเป็นผลบวก

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ส่วนผลกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ มองว่าทุกภาคส่วนจะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูง และอาคารแนวราบ เพราะถ้าไทยยังอยู่ในโลกที่จะเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวในระยะข้างหน้า ดังนั้น การให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานการสร้างอาคารเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญ จึงไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของการร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ หรือบริษัทไทย แต่จะต้องมีมาตรฐานออกมาและบังคับใช้มาตรฐานเหล่านั้นอย่างเข้มงวด และมีการตรวจสอบเป็นระยะ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับอาคารที่มีอยู่แล้วและอาคารที่กำลังจะสร้างใหม่

ทั้งนี้ ในระยะสั้นคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ แต่ผลกระทบในระยะปานกลาง สิ่งที่จะช่วยกันปรับตัว เช่น อาคารปัจจุบันที่มีผลกระทบและมีการเข้าไปตรวจสอบจากมืออาชีพ และมีใบรับรองจากภาครัฐ จะช่วยให้ประชาชนมีความมั่นใจ ส่วนโครงการใหม่ ๆ ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับมาตรฐานการก่อสร้าง และจะเป็นจุดแข่งขันของผู้ประกอบการที่จะต้องใช้มาตรฐานที่ดี และเป็นจุดขายที่มีเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน และเป็นวิธีการสื่อสารมาร์เก็ตติ้ง หากในระยะปานกลางและระยะยาวสามารถปรับตัวได้ผลกระทบจะค่อย ๆ น้อยลง

“โดยภาพรวมมองว่าจะเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะเป็นความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่า และอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของนโยบายภาษีของทรัมป์ที่จะมีการประกาศในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งจะต้องติดตามใกล้ชิดว่าประเทศไทยจะอยู่ในข่ายได้รับผลกระทบมากหรือน้อยแค่ไหน”

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจ มองว่าเศรษฐกิจปี 2568 จะขยายตัว 2.4% โดยตัวเลขเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ไตรมาสต่อไตรมาส (QOQ) และเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ตัวเลขเศรษฐกิจจะเติบโตเร็วสุด จะเป็นช่วงไตรมาสที่ 1/2568 และจะค่อย ๆ ชะลอลงเมื่อเทียบช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากมีเรื่องของฐานปีก่อน ทั้งเรื่องการส่งออกและการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในช่วงครึ่งหลังปีก่อนค่อนข้างสูง และเรื่องของการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปีจะยังได้อานิสงส์ของการเร่งส่งออกเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายภาษี และทั้ง 2 ปัจจัยทำให้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปี

โดยในส่วนของนโยบายการเงิน อีไอซียังคงคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปีนี้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ลงอีก 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะปรับในช่วงไตรมาสที่ 2/68 และอีกครั้งจะปรับในช่วงไตรมาสที่ 4/68 ลงมาสู่ระดับ 1.50% อย่างไรก็ดี ส่วนจะมีการปรับนโยบายการเงินเร็วขึ้นหรือไม่ อีไอซียังคงคาดการณ์ว่าจะปรับดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ซึ่งอาจจะต้องรอดูนโยบายของสหรัฐด้วย ซึ่งในวันที่ 2 เม.ย.นี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น

“ในไตรมาสที่ 2/68 มีการประชุม 2 ครั้ง คือเดือน เม.ย. และ มิ.ย. ซึ่งเราต้องรอดูนโยบายทรัมป์และการส่งซิกของ ธปท. แต่มองว่าในภาพรวมนโยบายการเงินยังคงตรึงตัว ซึ่งยังมีรูมที่จะผ่อนคลายนโยบายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ”